สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของหลาย ๆ ประเทศ หนึ่งในนั้น คือ “อินโดนีเซีย” ที่เผชิญแรงกดดันในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G-20 หรือกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศและสหภาพยุโรป เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการให้อินโดนีเซียคว่ำบาตรผู้แทนรัสเซียในการประชุม G-20 ทุกระดับ โดยระบุว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วม หากมีรัสเซียเข้าร่วมการประชุมด้วย!!
สำหรับการประชุมในกรอบ G-20 เร็ว ๆ นี้ คือ การประชุมในระดับรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รวมทั้งสถาบันการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศใน 20 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นการประชุมทั้งแบบ online และ onsite ที่วอชิงตัน ดี.ซี.
นี่คืออีกหนึ่งความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะกีดกันรัสเซียออกจากความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนนั้นส่งผลกระทบต่อทั่วโลกทั้งในมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงเชื่อว่า รัสเซียไม่สมควรได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ …
ความพยายามดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายจับตามองท่าทีของอินโดนีเซีย ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนที่มีค่านิยมประชาธิปไตยร่วมกันและมีความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายที่ใกล้ชิด ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียกับรัสเซียก็ใกล้ชิดในฐานะคู่ค้าและตลาดอาวุธที่สำคัญ ดังนั้น อินโดนีเซียจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศ (reputation) ในห้วงที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง
อินโดนีเซียรับมือกับแรงกดดันดังกล่าวด้วยการประกาศจุดยืนที่น่าสนใจ และอาจเป็นรูปแบบที่หลาย ๆ ประเทศที่ต้องการรักษาดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ โดยนาย Wempi Saputra รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซียระบุเมื่อ 13 เมษายน 2565 ว่า “รัสเซียมีสิทธิที่จะได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม G-20 และอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพหรือประธานจัดการประชุมครั้งนี้ต้องทำตามหน้าที่ในการเชิญสมาชิกเข้าร่วมการประชุม ขณะเดียวกันก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะห้ามประเทศใดไม่ให้เข้าร่วมการประชุม โดยไม่ได้รับฉันทามติ (concensus) จากสมาชิกทั้งหมด” แปลว่า อินโดนีเซียไม่ดำเนินการตามแรงกดดันของสหรัฐฯ โดยใช้หลักการของการประชุมระหว่างประเทศมาเป็นเหตุผลในการอธิบายท่าทีของอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเสนอทางเลือกเพิ่มเติมที่น่าจะทำให้สหรัฐฯ และสมาชิก G-20 ที่เป็นประเทศตะวันตกพอใจ โดยกำลัง “หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเชิญผู้แทนจากยูเครนเข้าร่วมการประชุม G-20 เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์ในปัจจุบัน” ซึ่งถือว่าเป็นการดึงเอาทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุม G-20 โดยที่อินโดนีเซียยังสามารถดำเนินหน้าที่ในฐานะประธานที่จัดการประชุมได้ โดยไม่มีประเด็นขัดแย้งทวิภาคีกับประเทศสมาชิก รวมทั้งอาจได้แสดงบทบาทในการเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศนี้ได้
การที่อินโดนีเซียนำหลักการของการเป็นประธานการประชุมที่ต้องทำตามหน้าที่ และข้อจำกัดในอำนาจหน้าที่ของประธานดังกล่าวมาเป็นเหตุผลสนับสนุนการดำเนินนโยบายของอินโดนีเซีย รวมทั้งเอาแนวคิดเรื่อง “การมีส่วนร่วม” โดยดึงเอายูเครนเข้ามาในการประชุม เพื่อให้สอดคล้องกับความพยายามอีกด้านหนึ่งของสหรัฐฯ ที่จะยกเรื่องยูเครนเป็นวาระสำคัญในการประชุม G-20 ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่อินโดนีเซียใช้รับมือกับแรงกดดันจากนานาชาติได้อย่างมีเหตุมีผล และเป็นการแสดงออกว่าอินโดนีเซียเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นยูเครนไม่น้อยไปกว่าประเทศตะวันตก แม้ว่าก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียจะกำหนดวาระสำคัญของ G-20 ให้เป็นเรื่องการส่งเสริมความสามารถของภาคสาธารณสุขในการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤต (resilience) และการพัฒนาระบบสาธารณสุขโลก แต่อินโดนีเซียก็พร้อมปรับเปลี่ยนวาระการประชุมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทของอินโดนีเซียในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ในฐานะประเทศที่มีนโยบายต่างประเทศแบบ “free and active” และมีบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้