ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรปจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เราเห็นประเทศยุโรปผนึกกำลังกันอย่างชัดเจนมากในการต่อต้านการกระทำของรัสเซีย ประเทศที่มีนโยบายเป็นกลางมาอย่างยาวนานอย่างสวีเดนและฟินแลนด์ก็ได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมนาโต้อย่างเป็นทางการแล้ว อีกประเทศหนึ่งที่สมควรจับตามองไม่แพ้กันว่าจะดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไรคือสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเป็นกลางใจกลางยุโรป
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลง เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายจะเจรจาหาข้อยุติเมื่อใด และทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้กันและกันอย่างเข้มข้น ทั้งในด้านการสู้รบทางทหารซึ่งยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยชาติพันธมิตรนาโต้หลายประเทศได้ส่งอาวุธให้ยูเครน อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยูเครนสามารถต้านทานการรุกคืบของรัสเซียได้
อีกด้านหนึ่ง เราเห็นการผนึกกำลังในชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ผ่านกลุ่มนาโต้และกลุ่มอียู ในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินต่อรัสเซียอย่างหนักหน่วง อีกทั้งยังประณามการกระทำของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง และโน้มน้าวให้ประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ แสดงจุดยืนเชิงนโยบายที่ต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย
จากสภาวะสงครามข้างต้น สวีเดนและฟินแลนด์เริ่มมองเห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงจุดยืนเชิงนโยบายที่เคยมีมาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศประกาศถึงความจำเป็นในการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรนาโต้ เพื่อรับประกันความมั่นคง เนื่องจากทั้งสองประเทศมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟินแลนด์มีพรมแดนทางบกติดกับรัสเซียกว่า 1,340 กิโลเมตร
มองกลับมาที่สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางยุโรป ซึ่งภาคภูมิใจในสถานะความเป็นกลางที่เริ่มตั้งแต่ปี 1815 โดยในช่วงเวลาความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์นั้น สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางทางทหารมาโดยตลอดไม่มีเปลี่ยนแปลง ทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง และสงครามเย็น
ท่ามกลางสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน เริ่มมีข้อถกเถียงในแวดวงนโยบายถึงมาตรการที่สวิตเซอร์แลนด์สามารถจะดำเนินการได้โดยที่สามารถคงสถานะความเป็นกลางไว้ได้ ทั้งนี้ สิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ดำเนินการไปแล้วคือ การประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย การโหวตสนับสนุนขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตกทำ แต่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้ทำคือ การขับไล่นักการทูตรัสเซียออกจากประเทศ และการส่งยุทโธปกรณ์ไปยูเครน โดยกรณีล่าสุดคือ สวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธคำขอของเยอรมนีที่ต้องการส่งมอบยุทโธปกรณ์ที่เยอรมนีนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อไปมอบให้ยูเครน ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์มองว่าขัดกับการดำรงสถานะความเป็นกลาง
อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์กำลังจัดทำรายงานข้อเสนอนโยบายความมั่นคง ซึ่งทางเลือกที่จัดทำเป็นข้อเสนอ เช่น เข้าร่วมการฝึกทางทหารกับประเทศสมาชิกนาโต้ และมาตรการ backfilling ซึ่งเป็นแนวทางที่สวิตเซอร์แลนด์จะส่งยุทโธปกรณ์ทดแทนให้กับการที่ประเทศนั้น ๆ จะส่งยุทโธปกรณ์ให้ยูเครน รวมถึงการจัดให้มีเวทีการประชุมระดับสูงระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับนาโต้ที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น
แม้จะมีการอภิปรายกันเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้อย่างเต็มรูปแบบ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์มองว่าประเด็นดังกล่าวไม่น่าจะถูกรวมเข้ามาในข้อเสนอนโยบายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีฯ เห็นด้วยว่าสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีกรอบความร่วมมือกับนาโต้อย่างหลวม ๆ อยู่แล้วนั้น ควรมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวมากขึ้น อีกทั้ง การตีความสถานะความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์อาจต้องทบทวนใหม่
สำหรับโพลสำรวจความคิดเห็นของชาวสวิตเซอร์แลนด์นั้น กลุ่มที่ได้รับการสำรวจ 56% สนับสนุนการเพิ่มความร่วมมือกับนาโต้ เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 37% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับท่าทีของผู้กำหนดนโยบายประเทศ
แม้สวิตเซอร์แลนด์จะยึดมั่นสถานะความเป็นกลางอย่างหนักแน่น แต่สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสวิตเซอร์แลนด์ยืนอยู่ข้างตะวันตกในเชิงของหลักบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่อนุญาตให้รัฐใช้กำลังได้เฉพาะเพื่อการป้องกันประเทศเท่านั้น และมองว่าสิ่งที่รัฐควรทำให้เกิดขึ้นคือสันติภาพ
ทั้งนี้ รายงานข้อเสนอนโยบายความมั่นคงจะเสร็จสมบูรณ์ช่วงปลายเดือนกันยายนปีนี้ และจะส่งให้สภาพิจารณาต่อไป แต่กว่าจะถึงเวลานั้น จะมีปัจจัยใดอุบัติขึ้นใหม่หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป
———————————————