ไม่น่าจะช้าไป หากจะขอเล่าสู่กันฟังว่าทำไม ผู้นำสหรัฐอเมริกาสนใจมากมายเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) ในห้วงที่เยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 – 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งที่เป้าหมายสำคัญของการเยือนครั้งนี้ คือ การกระชับความร่วมมือในภูมิภาคและเตรียมรับมือกับจีน พร้อมทั้งเปิดตัวกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework – IPEF) ว่าด้วยเรื่องของการค้า ห่วงโซ่อุปทาน โครงสร้างพื้นฐาน มาตรการด้านภาษีและต่อต้านทุจริต เป็นต้น
“เซมิคอนดักเตอร์” หรือที่ตามศัพท์บัญญัติราชบัณทิตยสถาน 2549 กำหนดไว้ในภาษาไทยว่า “สารกึ่งตัวนำ” ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิป หรือแผงวงจร นั้น ทำให้เอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่อยู่ในใจของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เพราะการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ทั่วโลกเผชิญปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะบริษัทของสหรัฐอเมริกาและบริษัทที่ลงทุนในสหรัฐอเมริกา เช่น บริษัท Apple และ บริษัท Sony ที่เผชิญปัญหากับการมีเซมิคอนดักเตอร์ไม่เพียงพอในการผลิตคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์
บริษัท General Motors Company (GM) ผู้ผลิตรถยนต์ที่ตั้งอยู่ในอเมริกาเหนือเคยต้องสั่งปิดบริษัทชั่วคราวกว่า 6 แห่ง ทำให้บริษัทลูกที่ตั้งอยู่ในรัฐอินเดียนา รัฐมิสซูรี รัฐเทนเนสซี และรัฐมิชิแกน ก็ต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่นด้วยเช่นกัน หรือ บริษัท Ford Motor (Ford) ก็เคยปิดบริษัทกว่า 2 สัปดาห์และลดการผลิตรถยนต์กว่าครึ่งหนึ่งในรัฐมิชิแกน เนื่องจากมีเซมิคอนดักเตอร์ไม่เพียงพอในการผลิต
และนอกจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เหตุการณ์สงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรค ที่ทำให้จีนกักตุนเซมิคอนดักเตอร์ไว้ใช้เองภายในประเทศ
บทเรียนของสหรัฐอเมริกาในช่วง COVID-19 และสงครามการค้า ทำให้การเยือนเอเชียของผู้นำสหรัฐอเมริกาครั้งนี้เน้นไปที่การหาแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้คิดเพียงแค่ผลประโยชน์ของตนภายในประเทศเท่านั้น ยังมีความเชื่อมโยงกับจีนที่เป็นคู่แข่งที่ท้าทายสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นทุกวันด้วย โดยสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association – SIA) ของสหรัฐอเมริกา เห็นว่า จีนมียอดขายและมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ด้วยตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลจีนมีนโยบายในการพึ่งพาตัวเองและผลักดันการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในทุกมิติ ทั้งให้เงินอุดหนุน กำหนดนโยบาย จัดซื้อ จัดจ้าง และสิทธิพิเศษ เพื่อดึงดูดบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำทั่วโลกให้มาร่วมลงทุนกับจีน
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเชิงสถิติ หรือตัวเลขที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องวิตกกับจีน คือ ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์จีนเมื่อปี 2563 มีมูลค่ารวมสูงถึง 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.6% จากเมื่อปี 2560 และจีนสามารถเพิ่มสัดส่วนในตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกจาก 3.8% ขึ้นเป็น 9% ได้ และ SIA ยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2566 หากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% อย่างต่อเนื่อง จะทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเพิ่มสัดส่วนได้สูงถึง 17.4% ในตลาดโลก และสามารถขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ โดยบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group – BCG) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่าจีนจะเป็นผู้นำในการผลิตภายในปี 2573
การที่จีนเติบโตทั้งการขายและผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่อง จนอาจขึ้นมาเทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ และมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าทั้งสองประเทศนี้ เป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาวิตก และเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้นำสหรัฐอเมริกา ต้องไปเยือนโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ที่เกาหลีใต้สักหน่อย เพื่อแสดงออกว่าให้ความสำคัญ และต้องการร่วมมือกับเกาหลีใต้อย่างจริงจังในการเตรียมพร้อมรับมือกับการเติบโตของจีนในอนาคต สำหรับบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ไปเยือนครั้งนี้ ก็คือ บริษัท Samsung ซึ่งเป็น 1 ใน 2 บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของเอเชีย สำหรับแห่งที่ 2 คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ของไต้หวัน
นอกจากการร่วมมือกับเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีไบเดน ได้กระชับความร่วมมือกับญี่ปุ่น ด้วยการส่งเสริมการวิจัยด้านเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีเป้าหมายพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ขนาดเล็กกว่า 2 นาโนเมตร เพื่อให้ญี่ปุ่นมีศักยภาพในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขนาดดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เหมือนที่บริษัท International Business Machines (IBM) ของสหรัฐอเมริกา พัฒนาต้นแบบเซมิคอนดักเตอร์ขนาด 2 นาโนเมตรได้แล้ว
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังมุ่งยกระดับมาตรการความปลอดภัยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงกำหนดกลไกการหารือกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ อย่าง Japan – U.S. Economic Policy Consultative Committee (EPCC) ซึ่งมีแผนจัดการประชุมใน กรกฎาคม 2565 ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ญี่ปุ่นมีขีดความสามารถแข่งขันในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งยังทำให้ลดการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากต่างประเทศได้ เฉพาะยิ่งจากจีนและไต้หวัน
สรุปได้ว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ผู้นำสหรัฐอเมริกาต้องไปกระชับความร่วมมือกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเรื่องเซมิคอนดักเตอร์นั้น ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน รวมทั้งเตรียมรับมือกับการที่จีนเติบโตในอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง …นอกจากนี้ แม้ตัวประธานาธิบดีไบเดนจะอยู่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้ลืมไต้หวันไปซะทีเดียว เพราะบริษัท TSMC ของไต้หวันคือผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก ดังนั้น การที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาตอบคำถามผู้สื่อข่าวในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นว่าจะปกป้องไต้หวันจากจีนอย่างเต็มที่ อาจจะเป็นอีกนัยหนึ่งที่สำคัญที่สื่อให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาต้องการปกป้องแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวัน
แม้เหตุผลของสหรัฐอเมริกาจะค่อนข้างชัดเจน แต่เราก็ต้องรอดูท่าทีของทั้ง 3 ประเทศว่าจะตอบรับและจับมือกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่หรือไม่ … หรือจะมีตัวเล่นใหม่ๆ มาเสริมให้การแข่งขันเพื่อช่วงชิงเซมิคอนดักเตอร์ให้ยิ่งเข้มข้นขึ้นหรือเปล่า !? และไทยควรจะวางตัว หรือแสวงโอกาสอย่างไร เมื่อไทยเองก็ต้องการอยู่ท่ามกลาง “ห่วงโซ่อุปทาน” เซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน
—————————————————————-
ศิริจรรยา รักษายศ
เรียบเรียงจาก
https://www.theverge.com/2021/9/2/22654357/gm-factory-shutdown-chip-shortage-truck-suv
https://japantoday.com/category/tech/japan-u.s.-to-deepen-semiconductor-alliance-amid-supply-crunch