นักวิจัยของ Xanadu Quantum Technologies ในแคนาดาประสบความสำเร็จในการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่มีความได้เปรียบเชิงควอนตัม และได้เปิดให้ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ควอนตัมคอมพิวเตอร์เครื่องนี้สามารถเข้ารหัสข้อมูลด้วยพลังงานแสงสามารถจัดการงานของคอมพิวเตอร์ (Task) ด้วยความเร็ว 36 ไมโครวินาที (36 ในล้านของวินาที) ซึ่งถ้าใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Super Computer) แก้ไขปัญหาเดียวกันจะใช้เวลาในการประมวลผลอย่างน้อย 9,000 ปี และนักวิจัยได้นำเครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ใช้งาน
คอมพิวเตอร์ควอนตัมเป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้คุณสมบัติกลศาสตร์ควอนตัมในการคำนวนเพื่อให้มีความเร็วมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป โดยบริษัท Google เป็นรายแรกที่เริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเมื่อ ปี 2562 ด้วยการพัฒนาหน่วยประมวลผลกลางชื่อ Sycamore ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการสุ่มตัวอย่างตัวเลขที่เครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่สามารถทำได้
นาย Jonathan Lavoie และทีมงาน จาก Xanadu Quantum Technologies เมืองโตรอนโต แคนาดา ได้สร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่เรียกว่า Borealis ด้วยการใช้อนุภาคของแสง หรือโฟตอนเดินทางผ่านชุดใยแก้วนำแสงเพื่อแก้ปัญหาที่เรียกว่าการสุ่มตัวอย่างโบซอน (แบบจำลองที่จำกัดของการคำนวณควอนตัม) การสุ่มตัวอย่างโบซอนเป็นงานที่ยากสำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วไป เนื่องจากความซับซ้อนของการคำนวณเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อจำนวนโฟตอนเพิ่มขึ้น สามารถคำนวณคำตอบโดยการวัดพฤติกรรมโดยตรงของโฟตอนที่พัวพันกันมากถึง 216 ตัว (entangled photons)
ก่อนหน้านั้นเมื่อ ปี 2563 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (Science and Technology of China: USTC) ได้พัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่เรียกว่า Jiuzhang ที่แสดงความได้เปรียบทางโฟตอนจำนวน 76 ตัว และมีการปรับปรุงเมื่อปี 2564 โดยเพิ่มจำนวนโฟตอนเป็น 113 ตัว เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง Borealis กับ Jiuzhang ใช้ตัวแยกลำแสงจำนวนมากเพื่อส่งโฟตอนไปในทิศทางที่แตกต่างกัน แต่ Borealis ใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป โดยใช้ลูปของใยแก้วนำแสงเพื่อชะลอการเคลื่อนตัวของโฟตอนบางตัวเมื่อเทียบกับโฟตอนอื่นๆ
การออกแบบ Borealis ใช้เทคนิคที่เรียก Striped-Back ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถควบคุมได้ง่าย สามารถติดตั้งโปรแกรมใหม่จากการควบคุมระยะไกลเพื่อให้ผู้ใช้เรียกใช้ด้วยการตั้งค่าของตนเอง และในอนาคตจะมีการนำไปใช้ในการแก้สมการที่ยากขึ้นกว่าเดิม
นาย Raj Patel จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของอังกฤษระบุว่า Borealis ถือว่ามีความก้าวหน้ากว่า Jiuzhang แต่ก็ยังไม่สามารถทำงานเป็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่สามารถตั้งโปรแกรมได้อย่างสมบูรณ์เช่น Sycamore หรือ Zuchongzhi ของจีน เนื่องจากส่วนประกอบที่เรียกว่าอินเทอร์เฟอโรมิเตอร์ยังไม่สมบูรณ์
ที่มา : https://www.newscientist.com/article/2322807-advanced-quantum-computer-made-available-to-the-public-for-first-time/