หลักจากถูกเลื่อนฉายเพราะวิกฤต Covid-19 มาเกือบ 1 ปี “Jurassic World Dominion” ที่เป็นภาพยนตร์ปิดท้ายของไตรภาค “Jurassic World” ก็ได้เข้าฉายเมื่อ 8 มิถุนายน 2565 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจักรวาลไดโนเสาร์ที่ถูกสานต่อจาก “Jurassic Park” ไตรภาคแรกที่เริ่มต้นโดยฝีมือของ Steven Spielberg ถือว่าเป็นแฟรนไชส์ระดับตำนานอีกเรื่องของ Hollywood ที่อยู่คู่กับโลกภาพยนตร์มาช้านาน เต็มไปด้วยซีนที่น่าจดจำและน่าประทับใจมากมาย อาทิเช่น ฉากที่ตัวเอกอย่าง Dr. Alan Grant (รับบทโดย Sam Neill) ได้พบกับไดโนเสาร์ตัวเป็น ๆ ครั้งแรก ฉากการใช้พลุไฟล่อเจ้าไดโนเสาร์ “T-Rex” ที่คุ้นตา หรือการต่อสู้ระหว่างไดโนเสาร์ด้วยกันเองอย่างดุเดือดที่ถือเป็นอีกลายเซ็นหนึ่งของแฟรนไชส์ Jurassic
แต่เมื่อแฟรนไชส์ภาพยนตร์ชุดนี้ได้ถูกปลุกชีพขึ้นมาใหม่อีกครั้งในยุคแห่งสื่อโซเชียลมีเดีย กับ ” Jurassic World ” ในปี 2558 และ “Jurassic World : Fallen Kingdom” ในปี 2561 หลังห่างหายจากภาคก่อนหน้าอย่าง “Jurassic Park 3” (ปี 2544) ถึง 14 ปี สิ่งที่ตามมาพร้อมกับรายได้อันถล่มทลายหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐก็คือ ฉากเด็ดฉากเด่นของหนังภาคนี้กลับกลายเป็น “มีม” (Meme) ที่ถูกนำไปเล่นกันทั่วในโซเชียลมีเดีย กับฉากการโชว์หยุด “Velociraptor” ทั้ง 3 ตัว โดยฝีมือของตัวเอกในไตรภาคใหม่ คือ Owen Grady (รับบทโดย Chris Pratt)
ท่านที่เล่นโซเชียลมีเดียคงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเวลาเห็นการโพสต์ภาพล้อเลียนตลกขบขัน นำฉากจากภาพยนตร์ รายการ การ์ตูน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นมุก มีการตัดต่อสร้างสรรค์ให้เกิดความฮาอย่างไม่จำกัด นั่นคือสิ่งที่เรียกกันว่า “มีม”
คำว่า “มีม” หรือ “Meme” (ไม่ได้อ่านว่าเมเม่หรือมีมี่) ถูกบัญญัติศัพท์ไว้โดย Richard Dawkins นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษตั้งแต่ปี 2519 ในหนังสือ “The Selfish Gene” มีความหมายว่า การแพร่กระจายของไอเดีย หรือวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ซึ่งไม่ใช่การส่งผ่านทางพันธุกรรมด้วยการเลียนแบบ และมีมก็สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด หรือแม้กระทั่งเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติได้อีกด้วย (รากศัพท์ของคำว่า Meme มาจากภาษากรีกว่า Mimema ที่แปลว่าลอกเลียน)
บริบทในปัจจุบันของมีมกำลังเป็นไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างหนึ่ง และเผยแพร่กันไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ อย่างที่ Dawkins เคยให้คำนิยามไว้ ซึ่งจุดสำคัญที่ทำให้คนนิยมเล่นมีมกันก็คือความตลก บางภาพหรือวิดีโอคลิปที่ตัดมาใช้เป็นมีมนั้นไม่ได้มีความตลกอยู่แต่เดิม ทว่าเมื่อนำมาใส่ข้อความ ใส่เพลง หรือตัดต่อกับภาพอื่นเข้าไปกลับเกิดเป็นการเรียกเสียงหัวเราะขึ้นมาได้
ภาพการออกคำสั่งหยุดฝูง Velociraptor ที่ยกตัวอย่างมาจาก Jurassic World ก็ไม่ได้มีความตลกตามเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ แต่เมื่อมีคนนำไปตัดต่อรวมกับภาพล้อเลียนที่แสดงการหยุดฝูงแพะด้วยท่าเดียวกันบ้าง การตัดเอาตัวละคร Owen Grady ไปทำท่าหยุดรถไฟแทนไดโนเสาร์บ้าง ความฮาจึงบังเกิด กลายเป็นไวรัลที่ใครก็นำไปตัดต่อล้อเลียนกัน และเมื่อย้อนกลับไปยังไตรภาค Jurassic Park ดั้งเดิม ท่านอนโชว์เสื้อแหวกอกของตัวละคร Ian Malcolm (รับบทโดย Jeff Goldblum) ก็ยังถูกขุดขึ้นมาทำเป็นมีม เนื่องจากความที่มันดูเซ็กซี่และดูตลกได้ในเวลาเดียวกัน
เฉพาะในส่วนของภาพยนตร์นั้นยังมีฉากดัง ๆ ที่กลายเป็นมีมอยู่อีกหลายเรื่อง เช่นมีม “One does not simply walk into Mordor” หรือ “มันไม่ง่ายเลยที่จะเดินเข้าไปในมอร์ดอร์” ของตัวละคร Boromir (รับบทโดย Sean Bean) จากแฟรนไชน์ “The Lord of the Rings” ที่มาในลักษณะของ Template หรือมีมที่มีรูปแบบของมุก นั่นคือไม่ว่าจะเอาภาพนี้ไปขยำทำมุกอะไรก็แล้วแต่ จะต้องขึ้นต้นปูมุกด้วย “One does not simply….” แล้วจึงตบมุกด้วยเนื้อหาที่ต้องการจิกกัด อย่างเช่น “One does not simply understand Math” (มันไม่ง่ายเลยที่จะเข้าใจคณิตศาสตร์)
หรือในส่วนของมีมจากไตรภาค “Spider-Man” ของ Sam Raimi ที่นำแสดงโดย Tobey Maguire ก็โด่งดังจากการนำไปตัดต่อในคลิปของช่อง Youtube ที่ใช้ชื่อว่า “Aldo Jones” ด้วยการหยิบคาแรคเตอร์ที่เปลี่ยนไปของตัวละคร Peter Parker จากการถูกสิงสู่โดยปรสิต “Symbiote” ในภาคที่ 3 ทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าว มาตัดต่อให้ Peter Parker ไปกลั่นแกล้งซูเปอร์ฮีโร่ในฉากของภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ จึงเกิดเป็นมีม “Bully Maguire” อันมีภาพจำคือท่าเต้นสุดกวนในมาดแบดบอย
ท่าเต้นของ “Tobey Maguire” ที่กลายมาเป็นมีม “Bully Maguire”
จาก https://www.reddit.com/r/FortNiteBR/comments/r9qvx7/bully_maguires_dance_should_be_added_as_a_item/
หากจะลองพิจารณาดูแล้ว การเล่นมีมในวงการภาพยนตร์อาจจะเกิดขึ้นมาก่อนที่สื่อโซเชียลมีเดียจะแพร่หลาย ซึ่งมาในรูปของการล้อเลียน (Parody) ที่นำเอาฉากดัง ๆ หรือวลีเด็ดจากภาพยนตร์อีกเรื่องมาใส่เอาไว้ในอีกเรื่อง เช่นการนำวลี “I’m your Father” ของตัวละคร Darth Vader จาก “Star Wars” มาใส่เป็นบทพูดของตัวละครอื่น แต่เมื่อแสดงออกมาก็จะทำให้นึกถึง Darth Vader ที่เป็นต้นฉบับ
การที่วัฒนธรรมมีมสามารถเป็นที่นิยมในระดับสากลได้ นั่นคงเป็นเพราะมันมีความอิสระในการใช้ไอเดียสูง ที่จะสามารถนำรูปภาพหรือวิดีโอมาสร้างสรรค์ให้เป็นมุกที่หลากหลาย สามารถนำสีหน้าของตัวละครมาใช้แทนอารมณ์ความรู้สึกในชีวิตประจำวันได้ กระทั่งการส่งภาพสวัสดีวันจันทร์-ศุกร์ในแอปพลิเคชั่น Line ของผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านก็อาจจจะนับเป็นมีมรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน
มีมยังสามารถประยุกต์ข้ามเชื้อชาติจากระหว่าง 2 วัฒนธรรม ตัวอย่างเช่นมีมของดารา Chuck Norris ดาวบู๊รุ่นใหญ่ของ Hollywood ที่ถูกชาวเน็ตสร้างตัวตนให้เป็นระดับพระเจ้า จนกลายเป็นมุกตลกที่ส่งต่อโพสต์กันมาอย่างยาวนาน สร้างความยิ่งใหญ่กันถึงขนาดที่กล่าวเป็นตำนานว่า Neil Armstrong คือมนุษย์คนแรกที่เดินบนดวงจันทร์ แต่ Chuck Norris คือมนุษย์คนแรกที่เดินบนดวงอาทิตย์ และอีกมากมายในสรรพคุณยอดมนุษย์ที่ชาวเน็ตมอบให้
ทว่าเมื่อมีม Chuck Norris เปลี่ยนมาอยู่ในความคิดหรือมุมมองของชาวเน็ตไทย คนที่มารับบทนี้ก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนล่าสุด “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ถูกต่อยอดมาจากมีมเดินถือถุงแกงเข้าวัดของเขา กลายเป็น “ชัชชาติคือมนุษย์คนแรกที่เดินบนดวงอาทิตย์” นำมาสู่ฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” เมื่อครั้งที่เขายังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
และเช่นเดียวกับ Soft Power ในรูปแบบอื่น ๆ จุดเด่นด้านความตลกของมีมนั้นยังสามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมหรือการเมืองให้ดูกลายเป็นเรื่องที่เบาลงได้ หรือบางครั้งก็อาจสามารถใช้ความตลกในการทำลายความน่าเชื่อถือหรือความศักดิ์สิทธิ์ของ Propaganda ทางการเมือง หรือกระทั่งสร้างการเชิดชูตัวบุคคลโดยผ่านเรื่องตลกของการเป็นมีมแบบที่ไม่มีใครทันสังเกตได้อีกด้วย
นอกจากการเป็น Pop Culture ของโลกในยุคสมัยใหม่ มีมคือสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี มันคือการหามุมมองในภาพยนตร์หรือสื่อที่แตกต่างกับที่สาระของสื่อนั้นต้องการนำเสนอเรื่องราวที่กำลังเป็นกระแส จากนั้นจึงนำมาทำเป็นมุกตลก และหากยิ่งประยุกต์ให้เข้ากับเรื่องในชีวิตประจำวันที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ในสังคม นั่นก็ยิ่งจะทำให้มีมนั้น ๆ เป็นที่นิยมเล่นกันมากขึ้น มีการต่อยอดสร้างสรรค์กันอย่างไม่รู้จบ ความสนุกในจุดนี้ของมีมจึงน่าจะทำให้วัฒนธรรมนี้คงอยู่กับมนุษย์ในโลกยุคโซเชียลมีเดียไปอีกนาน และคงจะพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด
อ้างอิง
https://jediyuth.com/2020/10/07/jurassic-world-dominion-moved-to-2022/
https://www.mangozero.com/what-is-a-meme/
https://thematter.co/social/when-meme-is-political-weapon/128340
https://www.facebook.com/adaybulletin/photos/a.267853132346/10157785484507347/
https://www.youtube.com/watch?v=xqx2WXRicmY
ขอบคุณภาพประกอบหลักจาก
ภาพยนตร์ Jurassic Park และ Jurassic World ของ Universal Pictures
ภาพยนตร์ The Lord of the Rings ของ New Line Cinema
ภาพยนตร์ Spider-Man 3 ของ Sony Pictures