โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการสื่อสารทางเดียวด้วยจดหมาย…..พัฒนาไปเป็นการตอบโต้กันอย่างรวดเร็ว (real time) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จนในที่สุด….เรากำลังจะก้าวเข้าสู่โลกเสมือน (metaverse) ราวกับว่าเรื่องราวในนวนิยายวิทยาศาสตร์กำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นทุกที!! การเปลี่ยนแปลงที่กระทบทุกวงการไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารไร้พรมแดนผ่านอินเทอร์เน็ต คริปโตเคอเรนซีที่เขย่าความมั่นคงของวงการการเงิน หรือแม้กระทั้งปฎิกิริยาฟิวชันกับพลังงาน และในอนาคต สิ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ “การเปลี่ยนแปลงทางด้านคมนาคม”
“คมนาคม” คือ การขนส่งวัตถุดิบ สินค้าและทรัพยากรจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งที่มีความต้องการ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการมาเนิ่นนานตั้งแต่อดีต ตั้งแต่การอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหาถิ่นที่อยู่ การเดินทางสำรวจทวีปใหม่ ๆ ด้วยเรือสำเภา และการส่งสินค้าผ่านเครื่องบิน ส่วนในโลกไร้พรมแดนปัจจุบัน ธุรกิจการขนส่งสินค้าเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มูลค่าจากการขนส่งเพิ่มขึ้นกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง
รูปแบบการคมนาคมจึงได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงในปัจจุบันที่ “ไฮเปอร์ลูป” สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 1,235 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ก็ยังเป็นการขนส่งด้วยพาหนะด้วยความเร็วสูงขึ้นเท่านั้น ไม่แตกต่างไปจากการส่งจดหมายหรือข้อความในอดีต แต่สิ่งที่จะพลิกหน้าการคมนาคมขนส่งในอนาคตได้มากที่สุด นั่นคือ “การเคลื่อนย้ายอนุภาค”
เมื่อข้อมูลในจดหมายถูกแปลงเป็นรหัส และส่งผ่านคลื่นไปยังคอมพิวเตอร์แสดงผลบนหน้าจอมือถือให้ผู้รับอ่านอย่างง่ายดาย นั่นทำให้เกิดข้อมูลถูกคัดลอกจากที่หนึ่งไปสร้างไว้อีกที่หนึ่ง เป็นการสร้างไฟล์ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ …แนวคิดการสื่อสารดังกล่าวอาจนำมาใช้พัฒนาการขนส่งสินค้าได้เช่นกัน !!
โดยปกติ สินค้าขนาดใหญ่จะขนส่งง่ายขึ้นเมื่อถูกแยกส่วนประกอบเป็นชิ้นเล็ก ๆ หลายชิ้น …ดังนั้น ถ้าเราสามารถย่อยวัตถุให้กลายเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กในระดับอนุภาคที่เป็นประจุไฟฟ้า และส่งผ่านไปในลักษณะของข้อมูลผ่านสายเคเบิ้ลหรือระบบบอินเทอร์เน็ตไร้สายได้ด้วยความเร็วแสง และแปรสภาพกลับเป็นวัตถุด้วยคุณสมบัติการพัวพันทางควอนตัม หรือการบิดเวลาเพื่อสร้างรูหนอนและเดินทางผ่านรูหนอนไปอีกที่โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวัตถุ ทฤษฎีทางวิทยากศาสตร์เหล่านี้จะช่วยผลักดันให้ส่งวัตถุได้โดยไม่ต้องพึ่งยานพาหนะ
แม้ในปัจจุบันจะยังทำไม่ได้ แต่การกระทำที่ใกล้เคียงมากที่สุด คือ การสแกนข้อมูลวัตถุหรือสินค้าและส่งข้อมูลไปสร้างขึ้นใหม่ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D printing) แต่กระบวนการแบบนี้ยังเป็นการสร้างวัตถุชิ้นใหม่จากข้อมูลที่ถ่ายโอนมา ด้วยวัสดุ (material) ที่จำกัด ไม่ใช่เป็นการส่งวัตถุของจริงนั้นไปยังที่อื่น ๆ ได้ ตามแนวคิด “การสร้างประตูมิติ” แต่เสมือนการคัดลอก (copy) วัตถุและผลิตเพิ่มยังอีกพื้นที่หนึ่ง
และเพื่อไม่ให้การเคลื่อนย้ายอนุภาคกลายเป็นการ copy วัตถุในระยะทางไกล นั่นหมายความว่า ข้อมูลอนุภาคที่ทำการส่งผ่านจะต้องมีความเฉพาะตัวและมีความปลอดภัยในการส่งผ่านข้อมูลเหล่านั้น การส่งวัตถุที่มีอนุภาคจำนวนมหาศาลจำเป็นต้องมีเครื่องประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้วิทยาการ “ควอนตั้มคอมพิวเตอร์” กลายเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จะรับหน้าที่ในการรับส่งข้อมูลลักษณะเฉพาะตัวของอนุภาค ในขณะเดียวกัน การยืนยันชุดข้อมูลดิจิทัลในปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยระบบบล็อกเชนที่จะช่วยระบุตัวตนที่ถูกต้องของข้อมูล ลดการแทรกแซงเปลี่ยนแปลงข้อมูลระหว่างการส่งด้วยความเร็วแสงได้ ระยะทางจะไม่เป็นปัญหากับการขนส่งต่อไป และในที่สุด “ประตูมิติ” ที่จะไปยังที่ใดก็ได้ก็จะไม่ได้อยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป
ลองคิดดูว่า หากสามารถสร้างประตูมิติที่ส่งสินค้าในรูปแบบดังกล่าวทำได้ การพัฒนาของโลกจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หากเราประสบความสำเร็จในการขนส่งสินค้าแล้ว ก็อาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ไปสู่การขนส่งคนไปยังที่ต่าง ๆ ถ้านิยายวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นเรื่องจริงขนาดนั้น การคมนาคมจะหายไป ยานพาหนะจะหายไป ถนนจะถูกแทนที่ด้วยอาคารหรือพื้นที่สีเขียว จากบานประตูที่เปิดไปได้เพียงแค่ห้องข้าง ๆ จะสามารถนำพาเราไปได้ทุก ๆ ที่ ซึ่งอาจไม่ได้จำกัดแค่บนโลก แต่รวมถึงหลาย ๆ ที่ในอวกาศ ส่งผลต่อการรับรู้เดิมของมนุษย์เมื่อทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย โลกจะหมุนเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม และสิ่งต่างๆ ที่เรารู้จักจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…