การปลูกพืชในอาคาร หรือการปลูกพืชในห้องแลป กำลังเป็นที่สนใจและถือว่าเป็นทางรอดของแหล่งอาหารในอนาคต ในขณะที่สภาพแวดล้อมทั่วโลกเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ ทั้งการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำมีสารปนเปื้อน ดินเสื่อมโทรมปราศจากความอุดมสมบูรณ์ อากาศเต็มไปด้วยฝุ่นเจือปน ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชโดยธรรมชาติ
โดยปกติเกษตรกรจะต้องหาพื้นที่ใหม่ๆ ในการเปิดหน้าดินเพื่อทำการเพาะปลูก แต่เมื่อพื้นที่กำลังลดลงไปเหลือแต่พื้นที่เสื่อมโทรม นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นการปลูกพืชในสภาพแวดล้อมปิดที่สามารถควบคุมแร่ธาตุอาหาร แสง และน้ำได้อย่างเหมาะสม เป็นการปลูกพืชในอาคารแบบซ้อนชั้น ที่จะช่วยลดปัญหาการขยายพื้นที่เพาะปลูกในแนวราบได้อีกด้วย
การเพาะปลูกทั่วไป จะใช้น้ำในปริมาณมากกว่าที่ต้นไม้ต้องการ และสูญเสียไประหว่างการเพาะปลูก 10-50% เกษตรกรจึงต้องการใส่ปุ๋ยบำรุงดินในปริมาณมาก รวมถึงการหว่านเมล็ดพันธุ์เผื่อ เพื่อหวังผลเมล็ดที่จะโตและแข็งแรงพอที่จะให้ผลผลิตในปริมาณที่เพียงพอต่อไป แต่การเพาะปลูกในอาคาร จะมีขั้นตอนที่แตกต่างออกไป โดยมีการคัดแยกเมล็ดก่อนการเพาะปลูก ให้แร่ธาตุอาหารผ่านน้ำที่นำไปเลี้ยงพืช ด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ ตลอดจนให้แสงเฉพาะสีที่พืชต้องการ ได้แก่ แสงสีแดง แสงสีเขียว และแสงสีน้ำเงิน ต่างจากแสงอาทิตย์ที่เป็นแสงขาวรวมทุกสี นอกจากนี้ยังสามารถให้แสงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไร้กลางคืนทำให้พืชมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าการปลูกพืชแบบทั่วไป
และเมื่อภูมิอากาศหรือภูมิประเทศไม่ได้มีปัจจัยต่อการเพาะปลูก นั่นหมายความว่า… เกษตรกรจะสามารถปลูกพืชชนิดใดก็ได้ทั่วโลก เพิ่มความหลากหลายของอาหาร ลดการนำเข้า และสร้างโอกาสให้กับการเข้าถึงพืชผักที่มีประโยชน์สูง เช่น ผักเคล (Kale) แอปเปิ้ล ผักคะน้าฝรั่ง (Collard Greens) ผักแรดิชชิโอ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพืชจากห้องทดลองยังมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าพื้นที่ปลูกโดยพื้นที่ทั่วไป พืชที่เพาะปลูกในอาคารหรือในห้องทดลอง (Lab) จะจำกัดข้อจำกัดของการเพาะปลูกลงไปได้ แต่ “ความต้องการของตลาด” หรือ Demand ยังคงมีอำนาจและเป็นปัจจัยกำหนดการผลิต เพราะในแต่ละภูมิภาคและแต่ละวัฒนธรรมมีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้เป็นอาหารจะแตกต่างกันไป รวมถึงกลุ่มคนที่ต้องการอาหารที่มาจากธรรมชาติ ไม่แตกต่างไปจากการเลือกบริโภคพืชผักอินทรีย์ เพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และไม่ต้องการให้มีสารเคมีที่ตกค้างจากการะบวนการเพาะปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์
ดังนั้น “ผักจากอาคาร” จะไม่ได้มาแทนที่การเพาะปลูกตามปกติบนดิน แต่จะมาช่วยให้เกิดแหล่งอาหารที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะการปลูกผักจากอาคารสามารถทำได้ตามขั้นตอนการเพาะปลูกพืชพื้นฐาน เช่น ข้าวชนิดต่างๆ สมุนไพร เครื่องเทศ ของวัตถุดิบประจำท้องถิ่นด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีขั้นสูงและเงินมาก ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระดับครัวเรือน และยังคงเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทั่วไปได้อีกต่อไป ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น ได้รับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย หรือแม้ในพื้นที่ทุรกันดาร ก็ยังมีแหล่งอาหารที่มีประโยชน์เพาะปลูกโดยใช้ทรัพยากรน้อยกว่าลงได้
ในอนาคต เราจะได้บริโภคผลผลิตจากพืชที่เพาะปลูกในอาคารมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีพลังงานที่มั่นคง เสถียร และมากพอ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ หรือพลังงานฟิวชั่น แหล่งพลังงานสะอาดเหล่านี้จะเป็นตัวเสริมให้การเพาะปลูกพืชในอาคารมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และการปลูกพืชบนดินที่มีมากตั้งแต่ยุคหินใหม่ (4,500-2,000 BC.) ซึ่งสะท้อนรากเง้าวัฒนธรรมภูมิปัญญาของแต่ละภูมิภาคอาจกลายเป็นกิจกรรมที่ถูกอนุรักษ์ไว้ ไม่ใช่เกษตรกรรมกระแสหลักอีกต่อไป
แต่จะเป็นรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่คอยย้ำเตือนไว้ว่า มนุษย์กับธรรมชาติเคยอยู่ใกล้ชิดกันมากขนาดไหน การเพาะปลูกบนดินหรือการเกษตรแบบธรรมชาติจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นจิตสำนึกที่จะรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ต่อไป….
————————————————