ขณะที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง แสงแดดที่แผดเผาหน้าดินแห้งผากแตกระแหง น้ำในคลองในหนองแห้งลงจนเกษตรกรในหลายพื้นที่มีความกังวลว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งนี้ไหม โดยเฉพาะการทำนาที่กำลังจะต้องเร่งทำในช่วงเดือนพฤษภาคม (นาปี) แม้จะมีระบบชลประทาน แต่พื้นที่เกษตรอีก 80% ที่อยู่นอกระบบชลประทาน ยังคงต้องพึ่งน้ำฝนหรือน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติอยู่ดี
จากปลายฝนเดือนตุลาคม ถือเป็นแหล่งน้ำมวลสุดท้ายก่อนที่จะกลับเข้าสู่ฤดูหนาวและต่อด้วยฤดูร้อนอันยาวนาน 6 -8 เดือน การเก็บน้ำจากแหล่งน้ำฝนนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่เกษตรกรจะกลัวการเสียพื้นที่เพาะปลูกเพื่อขุดบ่อเก็บน้ำ เพราะทำผลผลิตลดลงตามไปด้วย รายได้ก็ลดลง ต้นทุนในการขุดหนองน้ำก็เป็นถือเป็นปัจจัยสำคัญ รวมถึงสภาพดินและตำแหน่งที่ตั้งบ่อน้ำที่ต้องเอื้อต่อการเก็บน้ำด้วย มิฉะนั้นบ่อน้ำที่ขุดไปก็อาจจะกลายเป็นบ่อลม เสมือนภาชนะว่างเปล่าที่ไม่มีน้ำมาเติมเต็ม
เมื่อการเติมเต็มน้ำในบ่อไม่สามารถอาศัยแค่น้ำฝนเพียงอย่างเดียว เกษตรกรจึงต้องใช้วิธีการรวบรวมน้ำจากที่ราบทั้งหมดมาลงหนองน้ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมทิศทางการไหลของน้ำได้ ดังนั้น เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ฝนตกลงเป็นที่ราบหรือผืนดินที่ไม่สามารถกักน้ำไว้ได้เหมือนหนองน้ำ เราจึงต้องเก็บน้ำเหล่านั้นให้ได้ ด้วยการ “ซับน้ำไว้ในดิน”
ดินมีศักยภาพในการดูดซับน้ำไว้ในดินอยู่แล้ว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพของดิน คือ ดินเหนียว ดินร่วม และดินทราย มีความสามารถในการซับน้ำมาก-น้อยตามลำดับ แต่เกษตรกรสามารถเสริมความสามารถในการซับด้วยการปลูกต้นไม้ เราทราบดีกันอยู่แล้วว่า “พื้นที่ป่า” สามารถซับน้ำได้เยอะกว่าพื้นที่โล่งกว้าง โดยเฉพาะป่าที่มีต้นไม้ใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ จนเป็นแหล่งต้นน้ำที่มีน้ำผุดออกจากตาน้ำอย่างสม่ำเสมอ นั่นเพราะระบบรากไม้ที่แทรกอยู่ในดินที่ทำให้น้ำสามารถไหลลงไปใต้ดินตามระบบรากไม้เหล่านี้ ก็จะเก็บน้ำได้มากขึ้น
กล่าวคือ เมื่อต้นไม้สูงเท่าไหร่ รากจะลึกลงไปในดินเท่านั้น น้ำก็จะลงไปใต้ดินมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีระบบรากไม้หลายชั้น มีต้นไม้ตั้งแต่ระดับเตี้ยจนไปถึงสูงซ้อนกัน ก็จะมีรากที่ซับน้ำตั้งแต่ผิวดินส่งต่อไปถึงระดับดินที่ลึกลงไปได้ และต้นไม้ก็จะนำน้ำใต้ดินนั้นมาใช้ได้ตลอดทั้งปี ในลักษณะของป่าไม้ไม่ผลัดใบ (Evergreen) ได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา และป่าสน ที่มีความเขียวตลอดทั้งปี
แม้จะมีการซับน้ำไว้ในดินแล้ว แต่น้ำในดินยังสูญเสียไปจากการระเหยออกของน้ำในดินอีกด้วย นั่นคือ เมื่อแสงแดดเผาหน้าดิน น้ำในดินจะค่อยๆ ระเหยออกไปจนหมด แต่หากมี “พืชคลุมดิน” หรือ “ต้นไม้คลุมดิน” ช่วยป้องกันแสงแดดไว้ก็จะช่วยตรึงความชื้นในดินไว้ได้ นอกจากนั้น การห่มดินด้วยวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น เศษใบไม้ ฟาง ก็จะช่วยให้น้ำที่ระเหยออกในดินถูกการควบแน่นที่วัสดุคลุมแล้วหยดกลับไปเป็นน้ำอีก ดินก็จะยังคงชุ่มชื้นอยู่เสมอ การห่มดินจะช่วยรักษาความชื้นไว้ในดินได้มากถึง 30-60%
นั่นคือความอัศจรรย์ของระบบนิเวศที่ธรรมชาติได้มอบไว้ ก่อนที่จะค่อย ๆ เสื่อมสลายลง เราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรเพื่อรักษาแหล่งน้ำต่าง ๆ และเพื่อส่งเสริมธรรมชาติให้สามารถ “ฝ่าแล้ง” ได้ด้วยหลายวิธี เช่น แบ่งพื้นที่เพื่อขุดบ่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ในพื้นที่เกษตร เพิ่มพื้นที่หย่อมป่าหรือต้นไม้ยืนต้นในแปลงเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการซับน้ำลงดินให้มีระบบนิเวศใกล้เคียงกับป่าหรือการทำสวนผสมผสาน และลดการเผาเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษในอากาศที่จะปนเปื้อนน้ำฝน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงแนวทางในการจัดสรรพื้นที่เกษตรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาระบบนิเวศน้ำ เพราะในความเป็นจริงแหล่งน้ำต่างๆ ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการเกษตรเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หรือครัวเรือนเอง ก็มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาแหล่งน้ำเหล่านี้ได้เช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วก็ต้องยอมรับว่า “น้ำคือชีวิต” และเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการรักษ์น้ำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันเพียงวันละนิด