ในตอนที่ 2 จะชวนทุกคนมามองสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ผ่านแว่นตาของทฤษฎีกระแสหลักทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างทฤษฎีเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เป็นที่มักนำมาอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 โดยมีคำอธิบายของตัวบททฤษฎีที่เป็น “ขั้วตรงข้าม”
กับทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกรานในบทความตอนที่ 1 อย่างสิ้นเชิง และทฤษฎีเสรีนิยมมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำทางความคิด การปฏิบัติ และเผยแพร่แนวความคิดไปสู่ประชาคมโลก
ทฤษฎีเสรีนิยม ให้ความสำคัญกับหลักการพึ่งพาระหว่างรัฐ (interdependence) โดยเชื่อว่า “รัฐ” ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวในโลกได้ จำเป็นที่จะต้องมี “ความร่วมมือ” ระหว่างรัฐเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าแต่ละรัฐจะมีผลประโยชน์แห่งชาติที่ต่างกัน แต่ก็สามารถมาร่วมมือกันได้ด้วยหลักการผลประโยชน์ร่วม (harmony of interests) และแต่ละรัฐจะเห็นความสำคัญของความมั่นคงร่วมกัน ทำให้เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งมีท่าทีว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง เข้าทำนองที่ว่า “มีศัตรูร่วมกัน” รัฐต่าง ๆ ก็จะร่วมมือกันตอบโต้รัฐที่เป็นภัยคุกคามนั้นทันที และรัฐที่เป็นประชาธิปไตยมักใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเป็น “อาวุธ” จัดการกับรัฐที่เป็นเผด็จการหรือรัฐที่เป็นภัยคุกคาม
ความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงจะมีเครื่องมือทางการทูตเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือ
และอาศัยองค์การระหว่างประเทศเป็นเวทีกลางในการปรึกษาหารือ ทำให้องค์การระหว่างประเทศมีความสำคัญและเป็นพื้นที่ที่คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของรัฐต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกันอย่างเคร่งครัด
สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เป็นหนึ่งสถานการณ์ที่ทำให้เราเห็น “ตัวแบบ” ของชุดความเชื่อแบบ
“เสรีนิยม” ที่มีสหรัฐฯ เป็นกัปตันนำความคิด ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การที่สหรัฐฯ ร่วมมือกับประเทศในยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โดยการห้ามนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซีย เฉพาะอย่างยิ่ง สหภาพยุโรป (European Union – EU) คว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 6 เมื่อมิถุนายน 2565 ทั้งห้ามนำเข้าน้ำมันที่ขนส่งทางเรือจากรัสเซียเข้าสู่ EU เป็นเวลา 6 เดือน ยกเว้นบางประเทศของ EU ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อาทิ ฮังการี เป็นต้น หรือถอดถอนธนาคาร Sberbank และธนาคารอื่น ๆ ของรัสเซียและเบลารุส จำนวน 3 บริษัทออกจากระบบธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication – SWIFT) ทั้งนาย Liz Truss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรยังกล่าวว่า รัสเซียพยายามเรียกร้องให้ตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยใช้ความหิวโหยและการขาดแคลนอาหาร เฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกธัญพืชไปสู่ตลาดโลก มาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง และก็ได้ย้ำว่าจะไม่มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเด็ดขาด เพราะมองว่าจะทำให้รัสเซียแข็งแกร่งในระยะยาว
การใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นเพื่อกดดันฝ่ายตรงข้ามสอดคล้องกับคำอธิบายของทฤษฎี
เสรีนิยมที่ว่า “เครื่องมือทางเศรษฐกิจสามารถทำให้ฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอและพ่ายแพ้ไปได้ในที่สุด”
ซึ่งเครื่องมือทางเศรษฐกิจจะสามารถทำให้รัสเซียอ่อนแอตามทฤษฎีเสรีนิยมได้อย่างไร…หากพิจารณาดูแล้วนั้น การที่สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อภาคธุรกิจและบุคคลที่มีส่วนช่วยเหลือรัสเซียให้หลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร รวมถึงเครือข่ายผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในรัสเซีย ทั้งนาย Konstantin Malofeyev นักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำรัสเซีย ซึ่งการกระทำนี้ของสหรัฐฯ อาจมีนัยสำคัญในการที่จะพยายามใช้มาตรการคว่ำบาตรกดดันผู้ที่มีอิทธิพลในรัสเซียเพื่อ “คาดหวัง” ให้บุคคลเหล่านี้ “ออกมาเรียกร้อง” และ “กดดันให้ผู้นำประเทศแก้ไขปัญหานี้” หรือพยายามทำให้รัสเซีย “เกิดความขัดแย้งภายในประเทศ” เพราะสหรัฐฯ อาจเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่รัสเซียเกิดความขัดแย้งกันภายในประเทศ เมื่อนั้นก็จะสามารถทำให้รัสเซียอ่อนแอและพ่ายแพ้ในสถานการณ์ครั้งนี้ได้ เพราะรัสเซียจะไม่มีแรงเหลือพอที่จะสู้กับประเทศอื่นได้อีก…
จากที่กล่าวไปข้างต้นอาจจะเป็นเพียงแค่ “ความหวัง” และ “ความฝัน” หนึ่งของสหรัฐฯ
เพราะความเป็นจริงในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเครื่องมือทางเศรษฐกิจยังใช้ “ทำลาย” รัสเซียไม่ได้ เพราะยิ่งสหรัฐฯ และ EU คว่ำบาตรรัสเซียมากเท่าไหร่ เหมือนยิ่งเป็น “แรงผลักดัน” ให้รัสเซียแข็งแกร่งและแข็งกร้าวมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา รัสเซียได้ออกมาตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกอย่างเต็มที่ เช่น การประกาศคว่ำบาตรบริษัทพลังงานของสหรัฐฯ EU และสิงคโปร์ จำนวน 31 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มบริษัท Gazprom Germania ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เยอรมนี รวมถึงบริษัทร่วมทุนรัสเซีย-โปแลนด์ EuRoPol GAZ SA ในโครงการท่อส่งก๊าซ Yamal-Europe และการตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติไปยังโปแลนด์และบัลแกเรีย นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎรและสภาสหพันธ์ (สภาสูง) ของรัสเซีย กล่าวว่า อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อหารือเกี่ยวกับการถอนตัวจากองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) และจะทบทวนการปฏิบัติตามพันธกรณีและสนธิสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และอาจสร้างความเสียหายโดยตรงต่อประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้สหรัฐฯ และพันธมิตรที่ได้คว่ำบาตรต่อรัสเซีย ทั้งนี้ ผู้นำของรัสเซีย ยังเชื่อว่า การคว่ำบาตรต่อรัสเซียจะสะท้อนกลับไปหาตะวันตกเช่นกัน
การที่รัสเซียตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรและจะถอนตัวออกจากองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งทบทวนการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึง “ความล้มเหลว” ของคำอธิบาย
ตามทฤษฎีเสรีนิยมที่ว่า องค์การระหว่างประเทศจะเป็นพื้นที่ที่คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของรัฐต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกันอย่างเคร่งครัด แต่ในความเป็นจริงแล้ว องค์การระหว่างประเทศ เปรียบเสมือน “ช่องทาง” หนึ่ง ที่รัสเซียเข้าร่วมตาม “กระแสโลก” และใช้เป็นเวที “แสวงหาผลประโยชน์” และเมื่อตอนนี้องค์การระหว่างประเทศอาจทำให้รัสเซียเสียผลประโยชน์แห่งชาติ รัสเซียก็พร้อมที่จะเดินออกมาโดยทันที โดยที่องค์การระหว่างประเทศก็ไม่ได้มีกลไกใดที่จะสามารถหยุดรัสเซียได้ และเครื่องมือทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถทำให้รัสเซียอ่อนแอตามทฤษฎีได้
การกระทำของสหรัฐฯ ในการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจกดดันรัสเซียตามทฤษฎีเสรีนิยม เปรียบเสมือนการที่สหรัฐฯ “ใช้ระเบิดเวลา” รอเวลาที่ระเบิดจะทำลายล้าง ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าระเบิดลูกนี้ไม่ได้ทำลายล้างแค่รัสเซียเท่านั้น เพราะที่ผ่านมายิ่งสหรัฐฯ พยายามใช้ทำลายรัสเซียมากเท่าไหร่ ดูเหมือนว่า ประเทศต่าง ๆ ในโลกก็จะยิ่งโดน “รังสีการทำลายล้างแผดเผา” ไปมากเท่านั้น เฉพาะอย่างยิ่ง รังสีทำลายล้าง “ด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน” ที่จะทำให้ทั่วโลกอาจจะเผชิญกับความอดอยาก เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าวสาลี และปุ๋ย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้การส่งออกสินค้าหยุดชะงักและส่งผลให้ราคาอาหารแพงขึ้น ทั้งเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations – UN) ออกมากล่าวว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน จะทำร้ายโลกอย่างไม่มีขีดจำกัด และพยายามหารือในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อที่จะนำผลผลิตทางการเกษตรของยูเครน และอาหารและผลิตภัณฑ์ปุ๋ยจากรัสเซียกับเบลารุส กลับเข้าสู่ตลาดโลก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติ ว่า ราคาข้าวสาลีในยุโรปเพิ่มสูงที่สุดในประวัติการณ์ และต้องหาแหล่งอื่นมาทดแทนความขาดแคลน เช่น อินเดีย เป็นต้น
จากที่กล่าวไปข้างต้น สื่อให้เห็นได้ว่า การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้แค่รัสเซียอ่อนแอ
แต่ส่งผลให้ “ทุกประเทศทั่วโลกอ่อนแอ” และการใช้เครื่องมือทางการทูตยุติความขัดแย้งตามทฤษฎีเสรีนิยมก็ยังดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากว่า สหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำทางโลกเสรี ก็ยังไม่ได้พยายามที่จะใช้เครื่องมือทางการทูตยุติความขัดแย้ง แต่กลับหันมาใช้เครื่องมือทางทหารมากกว่า เช่น การที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ขั้นสูงให้แก่ยูเครน เมื่อต้นมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะระบบขีปนาวุธที่ทันสมัยและมีพิสัยไกลกว่าอาวุธที่ยูเครนใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้ง จรวดต่อต้านรถถัง เฮลิคอปเตอร์ รวมถึงเครื่องกระสุน เพื่อให้กองทัพยูเครนมีเพิ่มประสิทธิภาพการโจมตีรัสเซีย ทำให้รัสเซียตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีกรุงเคียฟ เพื่อทำลายรถถังและรถหุ้มเกราะที่ชาติยุโรปตะวันออกส่งให้ยูเครน สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นถึงสภาวะที่ประเทศมหาอำนาจใช้ “การแข่งขันด้านอาวุธ” ซึ่งกระตุ้นให้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่สามารถจบด้วย “การเจรจา” เหมือนอย่างในทฤษฎีเสรีนิยมได้ หากต่างฝ่ายต่างยังแข่งขันด้าน “แสนยานุภาพทางทหาร” กันอยู่เหมือนอย่างในตอนนี้
หากว่าสหรัฐฯ อยากจะยุติความขัดแย้งตามทฤษฎีเสรีนิยม ดูเหมือนว่า สหรัฐฯ ต้องยุติการใช้เครื่องมือทางทหารที่เป็นการขัดต่อชุดความเชื่อแบบเสรีนิยม และหันกลับมาใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจกดดันรัสเซีย และรอวันที่รัสเซียอ่อนแอและยอมพ่ายแพ้ไปในที่สุด แต่หากสหรัฐฯ ทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ อ่อนแอไปด้วยเช่นกัน เฉพาะอย่างยิ่งพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่าง EU…
ฉะนั้นดูเหมือนว่าเครื่องมือทางการทูตน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และการทูตจะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการที่ประเทศมหาอำนาจอื่น เช่น จีน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ควรหันมา “ร่วมมือกัน” ผลักดันให้รัสเซียและยูเครนเข้าสู่โต๊ะเจรจาหาทางออกระหว่างกันให้เร็วที่สุด โดยใช้องค์การระหว่างประเทศ อย่าง UN เป็นเวทีกลางในการเจรจา เฉพาะอย่างยิ่งจีน ที่เป็นพันธมิตรและเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถ “ดึงดูด” ให้รัสเซียเข้าสู่โต๊ะเจรจาได้ดีที่สุด แต่จีนจะยอมร่วมมือกับสหรัฐฯ และเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือไม่ ในเมื่อสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสให้จีนสามารถขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นลู่ทางการขยายอำนาจไปสู่ประเทศอื่นในโลกได้…และแนวคิดแบบทฤษฎีเสรีนิยมจะตอบโจทย์และใช้มาเป็นแนวทางในการยุติสถานการณ์ครั้งนี้ หรือสามารถพิสูจน์ตัวทฤษฎีเองว่าจะนำไปสู่สันติภาพได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป…
—————————————-
ศิริจรรยา รักษายศ
เรียบเรียงจาก
นรุตม์ เจริญศรี. (2563). ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พิมพ์ครั้งที่ 3). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 114-138
จุฑาทิพ คล้ายทับทิม. (2561). หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หน้า 45-47
https://www.nia.go.th/news/page/1289/