สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ได้รับความสนใจและวิเคราะห์ออกมาหลากหลายรูปแบบ ในบทความนี้อยากจะชวนทุกคนมามองสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ผ่านแว่นตาของทฤษฎีทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “ทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกราน (Offensive Realism)” ของ John J. Mearsheimer ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มองระบบโลกแบบอนาธิปไตย (anarchy) คือ สภาวะที่ปราศจากศูนย์กลางอำนาจในการปกครองดูแลระบบโลกทำให้สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งหรือความร่วมมือกันระหว่างประเทศได้ ในระบบโลกแบบนี้ รัฐต่าง ๆ ต้องแสวงหาอำนาจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แสนยานุภาพทางทหาร” เพื่อที่จะป้องกันการรุกรานและการโจมตีจากรัฐอื่นและเชื่อในระบบสองขั้วอำนาจ
ร้อยวันผ่านไป หากมองสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ผ่านแว่นตาของทฤษฎีนี้ จะเห็นได้ว่าการที่รัสเซีย
บุกยูเครนและยังคงใช้กำลังทหารรุกรานอย่างต่อเนื่อง สื่อให้เห็นถึงระบบโลกแบบอนาธิปไตย ที่แม้แต่องค์การสหประชาชาติ (United Nations – UN) ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ยังไม่สามารถเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหานี้ได้ และเมื่อเมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC รายงานว่า เลขาธิการ UN ยอมรับว่า UN ไร้ความสามารถในการป้องกันและยุติสงครามในยูเครน ถือเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) รวมทั้งบทบาทของหน่วยงานยุติธรรมระหว่างประเทศก็เผชิญความท้าทายในการยับยั้งการรุกรานของรัสเซีย เช่น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ) มีหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐ และยูเครนก็ได้เข้าฟ้องร้องกรณีรัสเซียรุกรานประเทศ หากศาลตัดสินว่ารัสเซียมีความผิดก็จะเป็นหน้าที่ของ UNSC ในการบังคับใช้บทลงโทษ แต่รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกถาวรของ UNSC ทำให้สามารถใช้สิทธิยับยั้งหรือวีโต้ข้อเสนอลงโทษได้ นอกจากนี้จีนก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้สิทธิยับยั้งด้วยเช่นกัน
การมีองค์การระหว่างประเทศที่มีข้อจำกัดนี้ เปรียบเสมือน “การมีปืนแต่ไม่มีกระสุน พอถึงเวลาจริง
ก็ไม่สามารถใช้ยิงได้” ฉะนั้นการใช้กลไกของ UN ในการยุติสถานการณ์ครั้งนี้จึงยังเป็นไปได้ยาก
การที่ UN ไม่มีบทบาทสำคัญและยังไม่มีกลไกระหว่างประเทศใดที่จะยุติการใช้กำลังทหารนี้ได้ สอดคล้องกับคำอธิบายในทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกรานที่ชี้ให้เห็นว่า ในระบบโลกที่ไม่มีใครหรือองค์กรใดสามารถรับประกันความปลอดภัยของรัฐหรือป้องกันไม่ให้รัฐอื่นรุกรานเราได้ รัฐต่าง ๆ จึงต้องแสวงหาอำนาจทางทหารให้ได้มากที่สุดเพื่อเอาตัวรอดจากการโดนโจมตี ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับชุดความเชื่อแบบเสรีนิยมที่มองว่าในศตวรรษที่ 21 การทหารไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุดในการดำเนินการระหว่างประเทศ แต่เป็นระบบโลกแบบประชาธิปไตย สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน และองค์การระหว่างประเทศจะทำหน้าที่ในการควบคุมความประพฤติของรัฐสมาชิกเพื่อให้รัฐต่าง ๆ เคารพในอธิปไตยของรัฐอื่น ๆ
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แม้แต่สหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำของโลกเสรี ก็เลือกที่จะใช้เครื่องมือทางทหารในการ
ยุติความขัดแย้งในกรณีรัสเซีย-ยูเครน เช่น เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนเพิ่มอีกประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าแทรกแซงทหารเพื่อช่วยเหลือยูเครนอย่างชัดเจน แต่การให้เงินสนับสนุนก็เปรียบเสมือนการที่สหรัฐฯ “ยืมมือ” ยูเครนในการใช้ความรุนแรงยุติความขัดแย้ง
อีกหนึ่งนัยที่สำคัญ ที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่ลงมาเล่นในสงครามครั้งนี้ด้วยตนเอง อาจจะมาจากการที่สหรัฐฯ “กลัว” ประชาชนในประเทศคัดค้านจนทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เพราะประชาชนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและยึดถือหลักเสรีนิยมจะไม่ส่งเสริมความรุนแรงและมองว่าสงคราม
ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดี มีราคาแพงและอันตราย ควรหลีกเลี่ยงไปใช้วิธีอื่น เช่น การเจรจาทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีผ่านองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น
สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ “ชุดความเชื่อแบบเสรีนิยมจางลง” เห็นได้จากความล้มเหลวในการเจรจาผ่านองค์การระหว่างประเทศ และการที่หลายประเทศหันกลับมาให้ความสนใจกับการเร่งเพิ่มขีดความสามารถทางทหาร และเมื่อพฤษภาคม 2565 ฟินแลนด์และสวีเดน ก็ได้ทลายกำแพงและเปลี่ยนจุดยืนในการเป็นกลางของประเทศมากว่า 200 ปี และตัดสินใจเข้าร่วมกับเนโต หรือเยอรมนีก็ได้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมมูลค่ากว่า 100,000 ล้านยูโร เพื่อจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่แก่กองทัพและพัฒนายุทโธปกรณ์ที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยขึ้น
ขณะที่ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็ยังให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธและการทหารแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งสัญญาณว่าสถานการณ์สู้รบจะยังไม่จบลงในระยะเวลาอันใกล้และ “เครื่องมือทางการทหาร” ยังมีความจำเป็นที่สามารถทำให้ประเทศอยู่รอดได้ และประเทศที่มีขีดความสามารถทางทหารน้อยกว่าก็จะโดนประเทศที่มีมากกว่ารุกราน เหมือนอย่างที่รัสเซียบุกยูเครน
นอกจากเรื่องระบบโลกแบบอนาธิปไตยและการใช้เครื่องมือทางทหารเพื่อแสวงหาความอยู่รอด ทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกรานเชื่อว่า “ระบบสองขั้วอำนาจ” เป็นระบบที่จะเกิดสงครามน้อยที่สุด กล่าวคือ โลกที่มีสองประเทศมหาอำนาจมีอำนาจเทียบเท่ากันหรือสภาวะที่ทั้งสองประเทศไม่คิดว่าอีกประเทศหนึ่งมีอำนาจมากกว่าตนเอง เป็นระบบที่มีเสถียรภาพ ซึ่งหากเชื่อมโยงสถานการณ์ปัจจุบันตามทฤษฎี จะเห็นได้ว่าการที่สหรัฐฯ เชื่อว่าตัวเองเป็นประเทศมหาอำนาจเดียวในโลกหรือ Hegemon และพยายามขยายเนโต ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อำนาจทางการทหารของสหรัฐฯ และยุโรป มายังเขตอิทธิพลของรัสเซียนั้น เป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์สู้รบครั้งนี้ เนื่องจากว่ารัสเซียไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแค่มหาอำนาจในภูมิภาค แต่มองว่าตัวเองเป็นมหาอำนาจระดับโลกด้วยเช่นกัน และรัสเซียมักจะย้ำว่ารัสเซียเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของสมาชิกถาวรใน UN (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย) และมีศักยภาพทางนิวเคลียร์เทียบเท่ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ผู้นำของรัสเซียยังต่อต้านการกระทำของสหรัฐฯ อยู่บ่อยครั้ง เช่น ใช้สิทธิยับยั้งในมิติที่เกี่ยวกับเมียนมาทุกครั้ง เมื่อปี 2564 เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ เพื่อสื่อให้เห็นว่า “รัสเซียไม่ได้ยอมรับในระบบโลกหรือกฎกติกาที่วางโดยสหรัฐฯ”
สำหรับการยุติความขัดแย้งตามทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกรานอาจจะต้องเริ่มจากการที่สหรัฐฯ ต้อง “ยอมรับ” ว่ารัสเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจในโลกที่มีอำนาจทางการทหารและสถานะที่เทียบเท่ากับสหรัฐฯ และ “เคารพ” ความเป็นมหาอำนาจซึ่งกันและกัน รวมทั้งยอมรับระบบสองขั้วอำนาจ และหยุดให้การสนับสนุนอะไรก็ตามที่จะส่งผลให้อีกประเทศมหาอำนาจหนึ่งรู้สึกว่าจะเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ก็อาจจะสามารถลดระดับความรุนแรงของความขัดแย้งลงได้
หากมองสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ตามทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกราน ดูเหมือนว่า บทบาทของสหรัฐฯ
และปฏิบัติการทางทหารจะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อมากขึ้น ดังนั้น เพื่อยุติความขัดแย้ง ดูเหมือนว่า สหรัฐฯ จะต้อง “ยอมรับ” และ “เคารพ” ความเป็นมหาอำนาจของรัสเซีย และหยุดรุกรานซึ่งกันและกัน เพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งสหรัฐฯ และรัสเซียจะทำได้หรือไม่ ในเมื่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศอาจจะต้องนึกถึงปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากการทหารและการแสวงหาอำนาจ เพราะพันธมิตรของสหรัฐฯ อาจมองว่า การยอมรับรัสเซียเป็นสิ่งที่อันตรายและคัดค้านสหรัฐฯ ก็เป็นได้…
———————————-
ศิริจรรยา รักษายศ
เรียบเรียงจาก
นรุตม์ เจริญศรี. (2563). ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พิมพ์ครั้งที่ 3). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
หน้า 104-110
https://www.nia.go.th/news/page/1283/