ขณะนี้ World Economic Forum ( WEF) กำลังพัฒนาแผนที่ระบบนิเวศอาชญากรรมทางไซเบอร์ภายใต้โครงการ ATLAS โดยความร่วมมือจากบริษัท Fortinet, Microsoft และบริษัทอื่น ๆ นำข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวเปิดมาจัดทำแผนที่แสดงแผนผังกลุ่มอาชญากรรมและรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่กลุ่มอาชญากรรมทางไซเบอร์ใช้ในการปฏิบัติการ เพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐในการสกัดกั้นและยับยั้งระบบนิเวศของกลุ่มอาชญากรรม ซึ่งแผนที่ดังกล่าวจะช่วยให้นักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สามารถระบุช่องโหว่ของเทคโนโลยีที่กลุ่มอาชญากรรมใช้งาน และสามารถนำไปพัฒนากลยุทธ์ในการบรรเทาผลกระทบความเสียหายที่เกิดจากกลุ่มอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าได้
นาย Derek Manky ผู้บริหารด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยของ FortiGuardLab เปิดเผยในงาน RSA Conference เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวว่าข้อมูลหลักฐานสมัยใหม่ อาทิ ที่อยู่สกุลเงินดิจิทัลและบัญชีธนาคาร อีเมล และสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยในการสร้างแผนที่และจะช่วยตำรวจและรัฐบาลออกหมายจับ จับกุม สั่งฟ้องกลุ่มอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้
ส่วนนาย Michael Danie ผู้บริหารของกลุ่มความร่วมมือ Cyber Threat Alliance จำกัด ระบุว่าการจัดทำแผนที่ระบบนิเวศของอาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันประเภทของมัลแวร์ต่าง ๆ หลากหลายและแตกต่างไปจากชื่อของกลุ่มอาชญากรรม และกลุ่มอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อาศัยการจ้างบุคคลภายนอกปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ในแต่ละขั้นตอน เช่น แยกการจ้างพัฒนามัลแวร์ออกจากจ้างยึดระบบ
โครงการ ATLAS จะริเริ่มจัดการข้อมูลกลุ่มอาชญากรรมทางไซเบอร์ จำนวน 13 กลุ่ม ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นกลุ่มใดบ้าง อย่างไรก็ดีในห้วงการประชุม RSA Conference ได้มีการระบุถึง กลุ่ม TrickBot, Cosmic Lynx, Conti, Evil Corp, Lazarus Group, Darkside, LockBit, Ragnar และ Clop ทั้งนี้ โครงการ ATLAS จะเปิดให้ภาครัฐและเอกชนใช้งานภายใน ม.ค. 66 ในงานประชุมWEFประจำปี 2566 ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์
ที่มา : https://www.theregister.com/2022/06/10/atlas_wef_rsa/