ทันทีที่รถโดยสารระหว่างประเทศเส้นทางนครพนม-ท่าแขกวิ่งผ่านจุดกึ่งกลางของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 มนุษย์ทั้งคันรถก็หลุดพ้นจากเขตอธิปไตยของไทยเข้าสู่ดินแดนลาว ฟังดูเหมือนว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ เพียงแค่ล้อรถเคลื่อน แต่เปล่าเลย นอกจากเราจะประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่าเส้นเขตแดนมาแบ่งกั้นฝักฝ่าย ยังมีพิธีกรรมอีกมากมายเพื่อเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับประดิษฐกรรมนี้
การจะข้ามเขตแดนไทย-ลาวผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 เราต้องผ่านกรรมวิธี ดังนี้
1) ซื้อตั๋วรถโดยสารที่เชิงสะพานฝั่งไทย ค่าใช้จ่าย 70 บาท ค่าล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ 5 บาท
2) เข้าคิวประทับตราหนังสือเดินทางขาออกจากไทย
3) รถโดยสารจากสถานีขนส่งนครพนมเข้าเทียบ ผู้โดยสารรอเจ้าหน้าที่เดินตรวจตราความเรียบร้อยบนรถโดยสาร ก่อนที่เจ้าหน้าที่คนนั้นจะลงมาตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารทีละคน
4) ขึ้นรถ เดินทางข้ามสะพาน
5) ลงรถที่เชิงสะพานฝั่งลาว เพื่อตรวจหลักฐานการฉัดวัคซีน COVID-19 จ่ายค่าล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ลาว 40 บาท แล้วขึ้นรถอีกรอบ
6) ลงรถเพื่อตรวจหนังสือเดินทางขาเข้าลาว จ่ายค่าบริการ 60 บาท แล้วกลับไปขึ้นรถ
7) เดินทางต่อจากสะพานไปสถานีโดยสารเมืองท่าแขก
สิริรวมการข้ามแดนระยะทางสั้น ๆ ใช้เวลารวมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ขึ้นลงรถคันเดิม 3 รอบ ค่าใช้จ่ายรวม 175 บาท
เส้นเขตแดนและกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวด มีเหตุผลรองรับที่หนักแน่นในเรื่องการรักษาความปลอดภัย ทำไมเราจึงกลัวเหลือเกินกับที่สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกหลุดเข้ามาปะปน? จนต้องออกแบบอุปสรรคมากมายเพื่อกักขังตัวเองจากสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ความ”ปลอด”ภัยน่าจะเป็นคำตอบของคำถามนี้
จริงอยู่ที่ว่าคนข้างในก็ลุกมาทำร้ายกันและเป็นภัยต่อกันเองได้ และถ้าเรามั่นใจในกลไกรักษาความปลอดภัยของเราว่าจะรับมือกับพฤติกรรมของคนข้างในที่เป็นภัยต่อคนข้างในด้วยกันเอง กลไกนั้นก็ควรจะรับมือกับภัยจากภายนอกได้ไม่ต่างกัน แต่ความแตกต่างที่ทำให้เราต้องกีดกันคนนอก ก็คือการที่คนข้างในเป็นส่วนหนึ่งของสภาพปกติที่เราคุ้นเคยอยู่ทุก ๆ วัน เรารู้เงื่อนไขว่าหากเกิดสิ่งใดขึ้น จะนำไปสู่สิ่งใดต่อไป และรู้ว่าจะทำตัวยังไงเพื่อเอาตัวรอดจากภัยที่จะเกิดขึ้น
ต่างจากสิ่งแปลกปลอมจากต่างแดนที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าจะนำมาสู่อะไรต่อไป รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดปัญหาในสังคมจากการที่สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเป็นมนุษย์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ด้วยชุดความคิดความเชื่อคนละโปรแกรมกับคนข้างใน ตลอดจนกระบวนการทางจิตวิทยาสังคมที่มนุษย์มักสร้างสหสัมพันธ์ลวง (illusory correlation) ขึ้นมาในหัว เพื่อเชื่อมโยงมนุษย์นอกกลุ่มเข้ากับอคติทางลบ ซึ่งสร้างความชอบธรรมให้กับการยกตัวเองให้เหนือกว่า นำไปสู่การกีดกัน กดขี่ ขูดรีด ไปจนถึงเข่นฆ่า
การที่สะพานข้ามแม่น้ำมีลักษณะทางกายภาพที่พาดผ่านและเชื่อมโยงแผ่นดินสองฝั่งไว้ด้วยกัน และทำให้การข้ามพรมแดนทางน้ำง่ายขึ้น ชื่อ “สะพานมิตรภาพ” จึงเป็นชื่อยอดนิยมที่นานาประเทศหยิบเอามาตั้งชื่อสะพานที่เชื่อมระหว่างสองประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่ง กระบวนการที่ซับซ้อนของการข้ามแดนด้วย “สะพานมิตรภาพ” แห่งนี้ ก็ยิ่งขับเน้นการที่รัฐให้ความสำคัญกับเส้นแบ่งแดนและการสร้างความเป็นอื่น
เมื่อคิดเช่นนี้ สะพานที่มีกรรมวิธีข้ามเข้มงวด จึงไม่ค่อยต่างจากกำแพง กำแพงก็มีความหมายของสันติภาพทาบทับอยู่เหมือนกัน หากเพียงว่าเป็นสันติภาพที่มาจากกรรมวิธีของการกีดกัน ไม่ใช่การเชื่อมโยงดังเช่นสะพาน กำแพงคือเทคโนโลยีที่มนุษย์คิดค้นมาเพื่อจัดการความขัดแย้ง และสร้างสภาวะของสันติภาพด้วยการกีดกันเอาสิ่งที่เป็นภัยคุกคามไว้นอกกำแพง ภาพโฆษณาของหมู่บ้านสุดหรูที่มีจุดขายเรื่องความปลอดภัย จึงต้องเป็นภาพของชุมชนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงสูง (gated community หรือ walled community) มีคุณ รปภ. ยิ้มยกมือทำความเคารพลูกบ้าน และสอดส่องไม่ให้ “สิ่งแปลกปลอม” หลุดรอดเข้าไปได้ ซึ่งก็เป็นแนวคิดเดียวกันกับแนวคิดที่ว่าสันติภาพและความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีเส้นเขตแดนที่เข้มงวด (hard border) ที่นำไปสู่กระบวนการข้ามแดนที่เข้มงวดบนสะพาน
———————————————