บนถนนที่วิ่งตรงสู่แม่น้ำโขง รูปปั้นพญาศรีสัตนาคราชปรากฏให้เห็นตั้งแต่ไกล และเมื่อฝ่าแผงจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและบรรดาผู้มีจิตศรัทธาที่กำลังกราบไว้และถ่ายรูป เข้าไปยืนที่ลานริมแม่น้ำโขงกลางเมืองนครพนม ก็จะเห็นชัดเจนว่าพญานาคพ่นน้ำเป็นสายไหลลงแม่น้ำโขง ในลักษณะเดียวกับที่เมอร์ไลออนพ่นน้ำลงอ่าวมารีนาที่สิงคโปร์
“พญานาค” เป็นความศรัทธาแต่โบราณที่ชาวอีสานรับเอาตำนานพญานาคของพุทธและพราหมณ์มาเป็นความเชื่อท้องถิ่น ความเชื่อเรื่องพญานาค ก่อให้เกิดเป็นอำนาจของพญานาค ที่มนุษย์แอบอิงเอาอำนาจนั้นไปใช้กำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางสังคมที่พึงประสงค์
งานวิจัยเรื่อง “พญานาค: จากอุดมการณ์ที่เมืองคำชะโนด สู่กระบวนการทำให้เป็นสินค้า” ของพลธรรม์ จันทร์คำ จัดแบ่งประวัติศาสตร์อีสานสมัยใหม่ออกเป็น 3 ยุค ยุคแรกคือยุคเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน ช่วงปี 2472-2519 ที่วิถีชีวิตของชาวอีสานยังผูกพันพึ่งพาธรรมชาติ “ความอุดมสมบูรณ์” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการมีชีวิตอยู่รอด อำนาจของพญานาคจึงเป็นเรื่องของความลึกลับ ความน่าเกรงขาม จากการที่พญานาคสามารถอำนวยความอุดมสมบูรณ์ และให้บทลงโทษแก่บุคคลที่ไม่ประพฤติตนตามกฎเกณฑ์ของสังคม
แต่เมื่อสังคมอีสานสมัยใหม่เข้าสู่ยุคที่ 2 คือยุคเฮ็ดอยู่เฮ็ดขาย ช่วงปี 2520-2536 โครงสร้างสังคมของอีสานเริ่มเปลี่ยนไปจากการเข้ามาของแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยม ที่รัฐบาลต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วยการพยายามสร้างความเจริญและการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับอีสาน เช่น การพัฒนาถนนหนทาง และส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์ การเข้ามาของคนต่างถิ่น เมื่อผสมเข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของคนในพื้นที่ ทำให้บทบาทของพญานาคเริ่มเพิ่มจากการเป็นผู้ให้คุณให้โทษที่น่าเกรงขาม เป็นผู้อำนวยโชคลาภให้กับผู้บนบาน ที่เป็นคนที่เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่เพื่อทำมาหากิน
คำชะโนดเป็นเกาะเล็ก ๆ มีสะพานรูปพญานาคที่เชื่อว่าเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และโลกบาดาลที่อาศัยของพญานาค การจะข้ามสะพานแห่งนี้ต้องถอดรองเท้าและเดินเท้าเปล่า เข้าไปเหยียบดินเย็นและอาบเอาบรรยากาศเงียบสงบบนเกาะ แต่ก่อนจะข้ามไปเจอความสงบบนเกาะนั้น บนถนนที่วิ่งตรงสู่เกาะคำชะโนด จ.อุดรธานี สองข้างทางเรียงรายด้วยพานบายศรีพญานาค ที่ชาวบ้านตั้งแผงขายยาวตลอดถนนเพื่อบริการผู้มีจิตศรัทธาสำหรับนำไปถวายพญานาคราชเพื่อแก้บน พร้อมด้วยป้ายคนละครึ่งเพื่อบอกว่าจะสแกนแอปเป๋าตังเพื่อแก้บนในราคาครึ่งเดียวก็ยังได้ และบริเวณรอบเกาะก็เป็นตลาดขนาดย่อมจำหน่ายสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสินค้านานาชนิด
ภาพนั้นที่คำชะโนด คือภาพอีสานในยุคปัจจุบัน คือยุคเฮ็ดอยู่ เฮ็ดขาย ใช้เงิน และใช้หนี้ (ปี 2537 เป็นต้นมา) เป็นช่วงเวลาที่วิวัฒนาการมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคที่ 2 และความทันสมัยที่เป็นผลพวงจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามาครอบคลุมทุกด้าน พญานาคในยุคนี้ถูกพลิกบทบาทจากผู้กระทำ กลายเป็นผู้ถูกกระทำ กล่าวคือโดนกระทำการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
พญานาคในยุคนี้เป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรม หรือเรียกให้ดูดีว่าเปลี่ยนทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนเศรษฐกิจ เป็นยุคที่ความเชื่อเรื่องพญานาคเป็น soft power ของอีสานที่สร้างเสน่ห์และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่มากมาย
เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในตอนที่ผู้ว่าราชการคนใหม่ย้ายไปรับตำแหน่งที่ จ.อำนาจเจริญ ได้มีดำริให้จัดงานประเพณี “สงกรานต์พญานาคราช” และสั่งการให้ตำบลต่าง ๆ ทำขบวนแห่พญานาคจำลองเพื่อแห่ประกวดแข่งขันกันรอบตัวเมือง ความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นความเชื่อท้องถิ่น แต่ประเพณีและกิจกรรมที่ว่าไม่เคยมีมาก่อน ความพยายามประดิษฐ์วัฒนธรรมครั้งนั้นจึงจบลงด้วยการมีใบปลิวโจมตีผู้ว่าฯ แจกว่อนตัวเมืองในข้อกล่าวหาว่าออกคำสั่งที่ทำให้ชาวบ้านต้องเรี่ยไรเงินกันมาทำขบวนแห่ในประเพณีที่ชาวบ้านไม่เคยได้ยินมาก่อน น่าสนใจเหมือนกันว่าการทำพญานาคให้เป็นสินค้าเช่นนั้นหากเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้จะมีจุดจบที่ดีกว่านั้นหรือไม่
——————————————————-