“Thor: Love and Thunder” ที่เข้าฉายไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นับว่าเป็นการกลับมาในภาพยนตร์เดี่ยวของตัวเองเป็นภาคที่ 4 สำหรับตัวละครเทพเจ้า Thor ของ Chris Hemsworth ซึ่งน่าจะเป็นการดีที่เราจะได้กลับไปทบทวนว่าเทพเจ้าสายฟ้าคนนี้ผ่านการเดินทางอะไรมาบ้างในจักรวาลภาพยนตร์ Marvel Cinematic Universe (MCU) โดยเฉพาะหลังจากที่ผ่านสภาพหุ่นถังเบียร์สุดโทรมจาก “Avengers: Endgame” (ปี 2562)
“การสูญเสีย” มักจะเป็นบททดสอบสำคัญที่ทีมงานผู้สร้างเขียนบทส่งให้กับตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ เพื่อให้เห็นการเติบโตของตัวละครที่ต้องก้าวผ่านจุดโศกเศร้าในชีวิตมา แต่สำหรับ Thor นั้น หากพิจารณาไล่เรียงมาในภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ปรากฏตัว เขาได้เจอกับบททดสอบนี้หลายครั้ง และน่าจะสูญเสียสิ่งที่รักไปมากกว่าผองเพื่อน Avengers คนอื่น ๆ เสียอีก
สิ่งแรกที่ Thor รักมากและสูญเสียไปก็คือแม่ของเขาเอง ราชินี Frigga แห่ง Asgard (รับบทโดย Rene Russo) ระหว่างศึกกับพวกวายร้าย Dark Elves ใน “Thor: The Dark World” (ปี 2556) ต่อมาในภาพยนตร์เดี่ยวภาคที่ 3 “Thor: Ragnarok” (ปี 2560) คราวนี้เขาสูญเสีย Odin (รับบทโดย Anthony Hopkins) ผู้เป็นพ่อไปตั้งแต่ต้นเรื่อง และในช่วงท้ายของภาพยนตร์ Thor กับพรรคพวกจำต้องปล่อยให้ยักษ์เพลิง Surtur ทำลายดาว Asgard ที่เป็นบ้านเกิด มิเช่นนั้นจะไม่สามารถฆ่า Hela (รับบทโดย Cate Blanchett) ที่มีพลังอมตะหาก Asgard ยังคงอยู่ได้
ถ้าคิดว่าสูญเสียพ่อแม่กับบ้านเกิดน่าจะพอแล้ว ทางทีมผู้สร้างยังใจร้ายกว่านั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวาล MCU ใน “Avengers: Infinity War” (ปี 2561) เขายังสูญเสีย Loki (รับบทโดย Tom Hiddleston) น้องบุญธรรมผู้เป็นศัตรูคู่กัดจากฝีมือของ Thanos (รับบทโดย Josh Brolin) รวมทั้งชาว Asgard ส่วนหนึ่ง ความแค้นที่มีต่อ Thanos ทำให้ Thor ตามกลับมาล้างแค้นที่สมรภูมิ Wakanda ในท้ายเรื่อง และในโอกาสที่เกือบจะฆ่า Thanos ได้ หากว่าเขาเล็งขวาน Stormbreaker ไปที่หัวของ Thanos ทุกอย่างก็คงจบ แต่สุดท้ายมันกลับกลายเป็นโอกาสให้ Thanos “ดีดนิ้ว” เพื่อฆ่าล้างสิ่งมีชีวิตครึ่งจักรวาล
หลังจากที่ผ่านความสูญเสียอันหนักหน่วงมาไม่หยุด Thor ที่ปกติจะเป็นคนอุปนิสัยเฮฮาก็กลับกลายเป็นคนเก็บตัวที่เอาแต่ดื่มเบียร์ ติดสุราอย่างหนักจนอ้วนลงพุง ดังเช่นที่เห็นในภาค Endgame เสมือนว่าอาการซึมเศร้าที่เก็บไว้มานานระเบิดออกมา โดยเฉพาะการที่เขาโทษความไม่เด็ดขาดของตัวเองในการจัดการกับ Thanos จนเป็นเหตุให้ผู้คนครึ่งจักรวาลต้องสูญเสีย Thor จึงเลือกที่จะไม่สนอะไรเลย แม้แต่หน้าที่กษัตริย์ที่ต้องดูแลประชาชนชาว Asgard กลุ่มสุดท้ายที่มาตั้งรกรากบนโลก
อาการที่ Thor เป็นนั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นอาการของ “โรค PTSD” ซึ่งย่อมาจาก Post-Traumatic Stress Disorder เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่งที่สภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์เลวร้าย เช่น ภัยพิบัติ สงคราม การก่อการร้าย การถูกข่มขืน หรืออุบัติเหตุ เป็นต้น ไม่ว่าจะประสบกับเหตุการณ์เหล่านั้นโดยทางตรงหรือทางอ้อม
โรค PTSD นี้อาจจะไม่เกิดขึ้นในทันที แต่เมื่อผ่านไปซักระยะหนึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง โดยอาการคือจะมองเห็นเหตุการณ์เลวร้ายซ้ำ ๆ แบบ Flash Back รู้สึกว่าตัวเองยังติดอยู่ในเหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดอาการตื่นกลัว ฝันร้าย วิตกกังวลอย่างมาก เกิดการมองโลกในแง่ลบ ไม่มีความสุข รู้สึกแปลกแยกจากสังคม และพยายามทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ฝังใจ อีกทั้ง PTSD ยังมีอาการแทรกซ้อนที่น่ากังวลไม่แพ้กันเช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า การหันมาใช้สารเสพติด หรืออาการทางร่างกายทั่ว ๆ ไปที่เป็นได้บ่อย ๆ เช่น อาการปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น
ในกรณีของ Thor จะเห็นได้ว่าเขาฝังใจกับ Thanos มาก ถึงขนาดกล่าวกับ Hulk (รับบทโดย Mark Ruffalo) ว่า “อย่าเอ่ยชื่อนั้นอีก” นั่นคือเขาไม่อยากกลับไปเผชิญกับเหตุการณ์แบบในช่วงภาค Infinity War อีกแล้ว และแสดงออกซึ่งท่าทีไม่อยากเข้าร่วมกับ Avengers ในทีแรก จนกระทั่งย้อนเวลาไปตามหามณีในอดีต ช่วงเวลาในวันเดียวกับที่แม่ของเขาต้องตาย Thor ยังมีอาการคล้ายกับเป็นโรคบุคลิกแปรปรวน (Bipolar Disorder) คือใจหนึ่งอยากจะตามหามณีไปช่วยกู้จักรวาล แต่สักพักกลับร้องไห้ออกมาและคิดว่าตัวเองทำหน้าที่นี้ไม่ได้ นั่นเพราะไม่ต้องการกลับมาเจอภาพของแม่ที่ถูกฆ่าซ้ำอีก รวมถึงเรื่องติดสุราจนถูกล้อว่าหุ่นเป็นถังเบียร์ นั่นก็คือพฤติกรรมที่ต้องการดื่มเพื่อลืมความเจ็บปวด
แต่หากจะพิจารณาจากในแง่ของความเป็นนักรบของ Thor ที่สู้ศึกมายาวนาน มันจึงไม่น่าแปลกที่สักวันเขาจะต้องเจอเข้ากับโรค PTSD นี่จนได้ ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับจ่าสิบเอก Robert Bales ทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน (เคยร่วมรบในอิรัก) โดยเหตุการณ์นั้นรุนแรงถึงขนาดทำให้เขากราดยิงในกันดาฮาร์ จนทำให้ผู้บริสุทธิ์ชาวอัฟกันเสียชีวิตไปถึง 16 รายในปี 2555 หลังจากนั้นถึงถูกตรวจพบว่าเขามีอาการของ PTSD และโรคนี้ถือเป็นสาเหตุที่ถูกพบว่าเป็นชนวนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในกองทัพสหรัฐฯมากที่สุดอีกด้วย ทหารจึงนับว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค PTSD ได้มากที่สุด เพราะชีวิตที่ต้องอยู่ในสมรภูมิ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายตลอดเวลานั่นเอง
กระทั่งในปัจจุบัน ผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 ยังทำให้อาการ PTSD นี้พบได้ในเหล่าบุคลากรด่านหน้าหรือแพทย์-พยาบาลมากขึ้น จากการที่ต้องทำงานดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งนอกจากอาการทางกายที่พบได้อย่างใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็วแล้ว พยาบาลบางคนยังเกิดอาการฝันร้ายถึงผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย วิกฤตินี้ทำให้สมาคมการแพทย์อเมริกัน หรือ AMA (American Medical Association) ได้นำเอานักจิตวิทยากองทัพ และจากศูนย์ PTSD แห่งชาติสหรัฐฯ ในสังกัดกระทรวงทหารผ่านศึกสหรัฐฯ มาช่วยประเมินผลกระทบของ Covid-19 ต่อบุคลากรทางการแพทย์ของพวกเขา ซึ่งผลสำรวจจาก Dr. Huseyin Bayazit จิตแพทย์ประจำ Texus Tech University Health Science Center ระบุว่าจากการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ 1,833 คน พบว่ามีอัตราการเกิดโรค PTSD ถึง 49.5% ในกลุ่มผู้ทำงานที่ไม่ใช่แพทย์ เช่นพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ และในกลุ่มแพทย์โดยตรงถึง 36% ส่วนความคิดที่จะฆ่าตัวตายนั้นเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนที่ทำงานในแผนกเกี่ยวกับ Covid-19
ขณะที่เทพเจ้าผู้มีพลังสุดอภินิหารอย่าง Thor ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงโรคทางจิตนี้ได้ คนธรรมดาอย่างเราที่ไม่สามารถย้อนเวลาไปปรับทุกข์กับแม่ในอดีตได้จะทำเช่นไร?
สิ่งสำคัญในการรักษาหรืออยู่กับภาวะ PTSD นี้จนหายขาดต้องเริ่มจากเรียนรู้ที่จะเข้าใจมัน ต้องเรียนรู้ในการจัดการกับภาวะความเครียดและวิตกกังวลต่าง ๆ หากิจกรรมเพื่อสันทนาการหรือผ่อนคลาย (และแน่นอนว่าไม่ใช่การสันทนาการด้วยสารเสพติด) พยายามออกไปพบปะผู้คนให้เหมือนปกติ ที่สำคัญคือการใส่ใจจากครอบครัว นับเป็นกำลังใจที่สำคัญที่สุด ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมกับคนที่คุณรัก เพิ่มเวลาในการพักผ่อนให้มากขึ้น การรับยาจากแพทย์อย่างไม่ขาดเพื่อบรรเทาความเครียดหรือซึมเศร้า โดยต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และการเข้าบำบัดด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อให้สามารถค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความคิด จนสามารถเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรากลัวได้ นอกจากนี้การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่ผ่านเหตุการณ์คล้าย ๆ กันก็สามารถทำได้เช่นกัน
ด้วยสภาวะความโกลาหลของโลกในปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยโรค PTSD นี้จึงมีมากขึ้นไม่น้อยกว่าโรคทางจิตเวชอื่น ๆ และสำคัญมากที่คนทั่วไปจะต้องรับรู้ถึงคนที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางใจที่หนักอึ้งเหล่านี้ และการที่ Thor คือ 1 ในตัวละครที่ถูกนำเสนอมุมนี้ออกมาให้ได้เห็น นั่นน่าจะเป็นสาส์นจากทางผู้สร้างของ Marvel Studios ที่ต้องการแฝงมาว่า “ซูเปอร์ฮีโร่ก็คือคนธรรมดาที่จิตใจอ่อนแอได้” ไม่มีใครที่เข้มแข็งไปได้ตลอด เมื่อวันหนึ่งที่คุณต้องเจอเหตุการณ์รุนแรงเข้ากับตัว คุณก็อาจต้องพบกับฝันร้ายที่ไม่ต่างกัน การก้าวข้ามผ่านมันด้วยบทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นแบบ Thor คุณอาจทำไม่ได้ แต่เลือกที่จะหยิบบางแง่มุมมาประยุกต์ใช้ได้ นั่นคือใช้มันเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจในการต่อสู้กับโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งสังคมควรจะเข้าใจและให้ความช่วยเหลือดูแลพวกเขา เพราะมันเกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับคนที่เรารักหรือกระทั่งกับตัวเราเอง
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1011507
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/PTSD
https://www.voicetv.co.th/read/101917
http://medicaldevices.oie.go.th/Article.aspx?aid=10367