1 กรกฎาคม 2518 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์การต่างประเทศของไทย เพราะเป็นวันที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชในขณะนั้น ตัดสินใจเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และลดระดับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งนำไปสู่การก่อเกิดจุดเริ่มต้นทางความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไทย
.
ตลอดเกือบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและกรุงเทพฯ มีพลวัตรสูงในทุกมิติ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีคนไทยเชื้อสายจีนเป็นโซ่ใจสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศเจริญรุดหน้ามาอย่างต่อเนื่อง
.
โดยเฉพาะภายหลังจีนเปลี่ยนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจในยุคสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง เพื่อเปิดรับการลงทุนจากภายนอกประเทศ ก่อเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบจีนขึ้น ซึ่งกลุ่มทุนข้ามชาติแรก ๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีนในห้วงเวลานั้นก็คือบรรดาคนจีนโพ้นทะเลที่อยู่ทั่วทุกมุมโลก และนั่นก็รวมถึงกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนด้วย
.
รากฐานทางด้านความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมทั้งมิติระดับประชาชนกับประชาชน ไปจนถึงระดับรัฐบาลกับรัฐบาลช่วยส่งเสริมให้ไทยและจีนมีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแนวนโยบายต่างประเทศของไทยที่ส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น
.
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญมาจากการที่มูลค่าการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง จีนถือเป็นประเทศสำคัญที่ไทยนำเข้าสินค้าเข้ามาใช้เพื่อผลิตสินค้าภายในประเทศเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ
.
เช่นเดียวกันจีนกลายเป็นตลาดสำคัญของสินค้าเกษตรของประเทศไทย โดยเฉพาะผลไม้ขึ้นชื่ออย่างทุเรียนที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีความต้องการอย่างมากภายในประเทศจีน
.
นอกจากนี้การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทยเองก็มีเป้าหมายสำคัญในการดึงกลุ่มทุนและอุตสาหกรรมจีนให้เข้ามาลงทุนภายในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นภาคการลงทุนและตลาดการจ้างงาน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศไทย
.
ในทางเดียวกันจีนเองก็ให้ความสำคัญต่อสถานะของประเทศไทยในแนวนโยบายต่างประเทศของตนเองเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้นักเรียนและนักศึกษาชาวไทยเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน เป็นชาติแรกของโลกในห่วงเวลาที่จีนยังคงนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ (ยกเว้นเกาหลีใต้ที่มีข้อตกลงระหว่างกัน)
.
และในช่วง10ปีที่ผ่านมานี้ จีนได้ส่งผู้นำระดับสูงหลากหลายตำแหน่งเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการอย่างสม่ำเสมอ หรือการเฉลิมฉลอง 70 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็รับทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญมิตรภาพจากประธานาธิบดีจีน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
.
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลปักกิ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของตัวเอง ยิ่งในสภาพที่โลกกำลังแข่งขันกันเข้มข้นมากยิ่งขึ้นด้วยแล้ว ไทยในสายตาจีนยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะในเชิงภูมิรัฐศาสตร์
.
47 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน จึงถือเป็นการเดินทาง ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ยาวไกลนัก เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติอื่น ๆ อีกหลายชาติ แต่ถ้าเทียบในเชิงความก้าวหน้าและการเจริญเติบโต การเดินทางนี้ก็ถือได้ว่ามีความน่าตื่นเต้น ในหลายแง่มุมเช่นเดียวกัน
.
แน่นอนว่าการเดินทางร่วมกันของทั้งสองประเทศคงยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะยังคงมีอีกหลากหลายความร่วมมือที่ไทยและจีนสามารถทำงานร่วมกันได้ ทั้งด้านการคมนาคมที่วันนี้มีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง หรือการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลที่วันนี้จีนเองก็ถือเป็นชาติแนวหน้าสำคัญที่ไทยสามารถรับถ่ายทอดองค์ความรู้มาได้
.
ผู้เขียน
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
กำลังศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และทำงานเป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน