ประเด็นร้อนแรงแซงทุกข่าวสำหรับปี 2565 ตอนนี้ ยังต้องยกให้กับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน หรือนัยความขัดแย้งรัสเซียกับตะวันตก ที่กลบพื้นที่ประเด็นสำคัญของโลกไปไม่น้อย รวมถึงการแข่งขันเทคโนโลยีการผลิต Chip ซึ่งอาจทำให้หลายคนอาจลืมไปว่า เดือนกรกฎาคมปีนี้ ครบรอบหนึ่งปีที่ประธานาธิบดี Tsai Ing-wen แห่งสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อ กรกฎาคม 2564 ว่า ไต้หวันบรรลุข้อตกลงกับลิทัวเนีย เพื่อเปิดสำนักงานผู้แทนไต้หวันในลิทัวเนีย ขณะที่ ลิทัวเนียก็จะเปิดสำนักงานผู้แทนในไต้หวันเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการเปิดสำนักงานผู้แทนครั้งแรกในรอบ 18 ปี ที่ไต้หวันเปิดสำนักงานผู้แทนในยุโรปต่อจากสโลวาเกียเมื่อปี 2546
และผลต่อเนื่องจากทวิตเตอร์ในวันนั้น ก็นำไปสู่การเกิดดีลใหญ่ในศักยภาพการพัฒนา Chip ของโลก ในเดือนมกราคม 2565 แม้น้อยคนจะจำได้ หรือให้ความสนใจ เพราะปีนี้คนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่พื้นที่สื่อทั้งโลก ต่างพุ่งประเด็นไปที่เดือนกุมภาพันธ์มากกว่า เพราะเป็นเดือนที่รัสเซียบุกยูเครน ทำให้ความสนใจหันเหออกจากกรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย ไปยังกรุงเคียฟ ยูเครน ที่อยู่ห่างกันประมาณ 600 กิโลเมตรในระยะกระจัด (ประมาณกรุงเทพฯ – เชียงใหม่)
ดีลใหญ่ที่ว่านั้นคือการที่ไต้หวันตั้งกองทุนการลงทุนในลิทัวเนีย โดยนาย Eric Huang หัวหน้าสำนักงานผู้แทนไต้หวันในลิทัวเนีย ระบุเมื่อ 5 มกราคม 2565 ว่า รัฐบาลไต้หวันจะลงทุนใน “ภาคอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของลิทัวเนีย” โดยตั้งกองทุนอย่างน้อยมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ค้ำประกันโดยกองทุนพัฒนาแห่งชาติและธนาคารกลางของไต้หวัน (ซึ่งก็มีนัยว่าเป็นการค้ำประกันโดยรัฐบาลไต้หวันนั่นแหละ) เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างไต้หวันกับลิทัวเนีย
ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีนที่มีต่อลิทัวเนีย ภายหลังลิทัวเนียอนุญาตให้สำนักงานผู้แทนไต้หวันในลิทัวเนีย เปิดทำการ เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564 พร้อมประโยคเรียบ ๆ แต่เพียบพร้อมด้วยเจตจำนงอันแรงกล้าและชัดเจน บนป้ายน้อยขนาดประมาณ A4 Hello world! Sveiki! ซึ่งมีนัยถึงการเปิดหน้าใหม่แห่งประวัติศาสตร์ด้านนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยี ตอกย้ำการมีจุดร่วมของทั้งลิทัวเนียกับไต้หวันได้เป็นอย่างดี ถึงการเป็นประเทศที่ส่งเสริม Startup และแพลตฟอร์มจากการพัฒนาโปรแกรม
ความใหญ่ของดีลนี้ คือการจับคู่กันของไต้หวันกับลิทัวเนียซึ่งต่างเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มจะเสริมแรงกันได้มากอีกในอนาคตซึ่ง “อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์” ที่ว่า ก็อาจมีนัยถึงการผลิต Chip นั่นเอง
สำหรับไต้หวันก็มีความโด่งดังเรื่องการผลิต Chip โดยเฉพาะชื่อเสียงของ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC) ก็เป็นผลงานชิ้นโบแดงแรงต่อเนื่อง ในการยืนยันความสำเร็จของการดำเนินนโยบายยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไต้หวัน แม้เมื่อมิถุนายน 2565 นาย Mark Liu ประธาน TSMC ของไต้หวัน ออกมายืนยันว่ายังไม่มีแผนสร้างโรงงานในยุโรปก็ตาม ซึ่งก็อาจรวมถึงในลิทัวเนียด้วย
แต่หากยิ่งการผลิต Chip เล็กลงเท่าไร ก็ยิ่งต้องการความแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีเลเซอร์นี่แหละที่จะตอบโจทย์ ซึ่งลิทัวเนียก็จัดอยู่ในประเทศที่ครอบครองเทคโนโลยีเลเซอร์ระดับโลก เจ๋งถึงขนาดที่ว่าสามารถประดิษฐ์เลเซอร์ได้ในปี 2509 (ค.ศ.1966) ซึ่งเป็นการใช้เวลาเพียง 6 ปี ในการไล่กวดสหรัฐฯที่เป็นเจ้าแรกของโลกที่สามารถประดิษฐ์และยิงเลเซอร์ได้ครั้งแรก เมื่อปี 2503 (ค.ศ.1960) โดย Theodore Maiman นักฟิสิกส์ชาวสหรัฐฯ ที่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีของนาย Charles H. Townes บิดาแห่งเลเซอร์ ที่เสนอไว้ตั้งแต่ปี 2497 (ค.ศ.1954)
แม้ตอนนั้นลิทัวเนียจะยังอยู่กับสหภาพโซเวียตก็ตาม แต่ก็ทำให้เห็นว่าหัวกระทิของสหภาพโซเวียตด้านนวัตกรรม ก็กระจุกอยู่ในฝั่งกลุ่มประเทศบอลติกในปัจจุบันไม่น้อย (เอสโตเนีย ลิทัวเนียและลัตเวีย) อีกทั้งเป้าหมายของลิทัวเนียก็ชัดเจนมากในอุตสาหกรรมเลเซอร์นี้ โดยตั้งเป้าหมายขั้นต่ำว่าภายในปี 2568 อุตสาหกรรมเลเซอร์จะสร้างมูลค่าให้กับลิทัวเนียไม่น้อยกว่า 1% ของ GDP ประเทศ สะท้อนความคงเส้นคงวาของลิทัวเนียในการพัฒนาอุตสาหกรรมเลเซอร์ นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ลิทัวเนีย แม้มีขนาดประเทศเล็กทั้งพื้นที่และประชากร แต่ศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีสวนทางมาก คือการที่มีรัฐบาลส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งก็เป็นอีกจุดร่วมสำคัญของทั้งไต้หวันกับลิทัวเนีย
สำหรับลิทัวเนียผลงานล่าสุดยืนยันได้จากการที่บริษัท Nord Security ผู้ประกอบการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของลิทัวเนียสามารถเป็น Unicorn (ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตัวที่สองของลิทัวเนีย เมื่อเมษายน 2565 และขึ้นมาอยู่ในบริษัทชั้นนำของโลก สวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ตอนนี้จากผลกระทบวิกฤตโรคระบาดและสงครามในยูเครน
ศึกการต่อสู้เพื่อครอบครองความเป็นหนึ่งในสมรภูมิการผลิต Chip ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง ไม่ต่างจากศึกระหว่างรัสเซียกับ NATO ที่ปะทุขึ้นในยูเครน อีกทั้งกลายเป็นว่าการเกิดสงครามในยูเครนที่มาพร้อมกับการโจมตีทางไซเบอร์กลับยิ่งทำให้บริษัทผู้ประกอบการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ยิ่งเติบโต อย่างกรณีบริษัท Nord Security ยิ่งทำให้เห็นแรงกระเพื่อมของการศึก
ศึกการแข่งขันด้านการผลิต Chip หรือแม้แต่การพัฒนาเลเซอร์ยังคงดำเนินอยู่ (แต่ถูกบดบังด้วยสงครามในยูเครน) กระนั้นศึกการผลิต Chip นี่แหละ อาจนำไปสู่ความหายนะของการศึกสู้รบได้ หากเทคโนโลยีการผลิตอาวุธสมัยใหม่ที่มีการใช้ Chip ที่ขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆ โดยยิ่งเล็ก ยิ่งใช้พลังงานน้อยและยิ่งเพิ่มความซับซ้อนได้มากในการผลิต Chip ถูกนำมาใช้กับอาวุธต่าง ๆ แม้เราเห็นอาวุธใหม่ ๆ เรื่อย ๆ แต่ยังไม่เห็นการใช้อาวุธนั้นในสงครามจริง อีกทั้งการพัฒนาอาวุธล้ำ ๆ ก็มักจะมีการแอบซุ่มทำอยู่ทั้งนั้น
และในปี 2565 นี้ เริ่มปรากฏให้เห็นการใช้อาวุธเลเซอร์สมัยใหม่ โดยเมื่อ 18 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าว Reuter รายงานว่ารัสเซียใช้อาวุธเลเซอร์เป็นครั้งแรกในยูเครน ซึ่งก็น่าสนใจว่าการงัดอาวุธใหม่ของรัสเซียมาใช้นี้ เกิดขึ้นห่างเพียง 1 เดือน หลังจากที่กระทรวงกลาโหมของอิสราเอล ประกาศเมื่อ 14 เมษายน 2565 ถึงความสำเร็จในการพัฒนาระบบป้องกันด้วยเลเซอร์ หรือ Iron Beam
อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าเทคโนโลยีเฉพาะทางต่าง ๆ ผสมปนเปกันจนแยกไม่ออกว่าเหมือนไก่กับไข่ที่ยากจะอธิบายว่าอะไรเกิดก่อนกัน เพราะความก้าวหน้าในการผลิต Chip นี่แหละ ที่ทำให้เทคโนโลยีอื่นก้าวหน้าขึ้นไปด้วย เพราะเมื่ออาวุธต้องการความแม่นยำสูง ก็ต้องการ Chip ที่ซับซ้อนสูงเช่นกัน
ดังนั้น ในสถานการณ์โลกที่วุ่นวายซับซ้อนอยู่ขณะนี้ ศึก Chip ตอนนี้ ก็ยังไม่หายไปไหนนะ
—————————-
เรียบเรียงจาก
https://www.lrt.lt/en/news-in-english/19/1667427/security-startup-becomes-lithuania-s-second-unicorn
https://lithuania.lt/top-10-news/laser-leader-lithuania-how-a-small-country-achieved-world-class-excellence-in-laser-technologies/
https://www.politico.eu/article/lithuania-taiwan-china-microchip-windfall-clash/
https://www.reuters.com/world/europe/russia-touts-new-generation-blinding-laser-weapons-2022-05-18/
IMOD's DDR&D and Rafael successfully completed ground-breaking tests with a high-power laser interception system against steep-track threats. The demonstrator successfully intercepted UAVs, mortars, rockets, and anti-tank missiles in multiple scenarios. pic.twitter.com/DhHzCaGM8P
— Ministry of Defense (@Israel_MOD) April 14, 2022