โลกได้ประสบกับเรื่องที่สาหัสอย่างการระบาดของโควิดในปี 2562 มาแล้ว คงไม่มีใครคาดคิดว่าในระหว่างที่มีการภาวนาให้ผลกระทบจากการระบาดดีขึ้นในปี 2565 นี้ กลับกลายเป็นต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งใหม่จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนทำให้ชาติตะวันตกและอีกหลายประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อต่อต้านและประณามการกระทำของรัสเซียที่เรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าจีนซึ่งพยายามรักษาภาพลักษณ์อันดีในเวทีโลกกลับมีท่าทีที่แตกต่าง โดยการยืนยันที่จะยังคงสานสัมพันธ์กับรัสเซีย
เพื่อนที่ทิ้งไปไม่ได้
นอกจากจะทั้งเป็นเพื่อนรักหรือเพื่อนร้ายแล้ว จีนและรัสเซียยังเป็นเพื่อนที่ทิ้งอีกฝ่ายไปไม่ได้ สิ่งที่ให้ภาพชัดเจนที่สุด ก็คือสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน แม้ว่าปัญหาใหญ่ของจีน คือการที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป (European Union-EU) และสหรัฐอเมริกาไว้ให้ได้ แต่จีนเองก็ไม่สามารถละทิ้งเพื่อนอย่างรัสเซีย และปล่อยให้ตายด้วยน้ำมือหรือการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้จีนอยู่ในสถานะที่เป็นกลางอย่างเอนเอียงต่อความขัดแย้งดังกล่าว
ความเป็นกลางอย่างเอนเอียงของจีน คือ แม้จีนจะเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาอย่างสันติและแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในยูเครน แต่จีนไม่ได้ประณามปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซีย และจีนยังหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการบุกรุกยูเครนของรัสเซียในมติขององค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ทั้งยังแสดงความเห็นว่าสหรัฐอเมริกากับ NATO เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ มีการโทรศัพท์ติดต่อกันสองครั้งระหว่างผู้นำจีน-รัสเซียนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ที่สำคัญคือ มีผลรายงานจากการพูดคุยของทั้งสองเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่า จีนเต็มใจที่จะสนับสนุนรัสเซียในประเด็นอำนาจอธิปไตยและความมั่นคง เพิ่มการประสานงานเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ และเห็นชอบที่จะขยายความร่วมมือในด้านพลังงาน การเงิน อุตสาหกรรม การขนส่ง และด้านอื่น ๆ สะท้อนถึงการยึดมั่นในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-รัสเซียโดยไม่สนใจเสียงเตือนจากสหรัฐอเมริกาและ EU
เหตุผลที่จีนหรือรัสเซียไม่อาจปล่อยให้อีกฝ่ายล้มลงระหว่างทางได้ เนื่องจากต่างยังคงต้องการเพื่อนร่วมต่อสู้กับภัยคุกคามอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่มการรวมตัวกับกลุ่มพันธมิตรแล้วเช่นกัน เห็นได้ชัดเจนจากการขยายตัวไปทางตะวันออกของ NATO รวมถึงการแข่งขันทางอิทธิพลระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อ กุมภาพันธ์ 2565 มีการให้คำมั่นว่า สหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญกับทุกส่วนของภูมิภาคนี้ ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเอเชียใต้และโอเชียเนีย อันรวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกด้วย นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอย่างกลุ่ม QUAD หรือ AUKUS รวมทั้งพยายามระดมพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อยับยั้งอิทธิพลจีนอย่างแข็งขัน
แน่นอนว่าสองคนดีกว่าคนเดียว และศัตรูของศัตรูก็คือมิตรของเรา ดังนั้น ในฐานะที่จีนและรัสเซียต่างอยู่ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาทั้งคู่ มีค่านิยมร่วมกันและถูกคุกคามผลประโยชน์โดยสหรัฐอเมริกาทั้งคู่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คู่เพื่อนจีน-รัสเซียจะจับมือกันไว้ให้แน่นที่สุดเพื่อต้านอำนาจของสหรัฐอเมริกา ตอกย้ำความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดและไม่ทอดทิ้งกัน ตามแถลงการณ์ร่วมเรื่องความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ใหม่ระหว่างจีนและรัสเซียที่ไม่มีข้อจำกัดเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนไม่กี่สัปดาห์ และความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระยะยาวระหว่างจีนและรัสเซียที่แนบแน่นขึ้น ทั้งยังท้าทายตะวันตกมากขึ้นด้วย
เพราะหากจีนไม่ช่วยรัสเซีย และรัสเซียเกิดพ่ายแพ้ขึ้นมา ความเป็นผู้นำโลกตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจะกลับคืนมาทันทีหลังจากที่เสื่อมถอยลงในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และชาติตะวันตกจะรวมเป็นหนึ่งมากขึ้น อำนาจของตะวันตกก็จะเพิ่มขึ้นมากด้วย NATO จะขยายตัวต่อไป ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาที่จะเข้ามาประชิดและปิดล้อมจีนมากขึ้น ในขณะที่จีนจะต้องรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างโดดเดี่ยว เพราะเมื่อรัสเซียล้มลง สหรัฐอเมริกาจะไม่ต้องรับมือกับคู่แข่งสองคนอีกต่อไป แต่สามารถมุ่งมาที่จีน เพื่อให้จีนอยู่ในการควบคุมเชิงกลยุทธ์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป้าหมายหลักของสหรัฐอเมริกา คือการกีดกันไม่ให้จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่ทัดเทียมกับตน
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียจึงลงเอยในรูปแบบการเป็น “เพื่อนรัก เพื่อนร้าย เพื่อนที่ทิ้งไปไม่ได้” แม้ว่าจะมีความร่วมมือกันมากมาย และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันแนบแน่น แต่ทั้งสองก็ไม่ได้ไว้ใจกัน หรือเห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายตรงข้ามในทุกเรื่อง ทั้งยังมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนหรือขัดแย้งกันบ้าง ถึงจะอย่างนั้นก็ตาม การที่ทั้งสองประเทศเผชิญภัยคุกคามร่วมกัน ทำให้ทั้งสองยังต้องกอดกันไว้อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากยังมีภัยอันตรายที่ร้ายแรงกว่าที่ต้องร่วมเผชิญกันอยู่
ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นฟังดูเป็นเรื่องราวการชิงดีชิงเด่นระหว่างเหล่ามหาอำนาจที่ไกลตัวเสียเหลือเกิน แต่แท้จริงแล้วความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวระหว่างจีนและรัสเซียทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงล้วนแต่มีผลกระทบทั้งในระดับภูมิภาคและโลก เพราะการขยับตัวของเหล่ามหาอำนาจผู้กำหนดระเบียบของโลกย่อมส่งผลบางอย่างไปยังโลกด้วยเสมอ เช่น การที่จีนเข้าถึงเทคโนโลยีอาวุธขั้นสูงของรัสเซีย ทำให้จีนสามารถเปลี่ยนแปลงสมดุลของอำนาจในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก โดยเฉพาะในไต้หวัน นอกจากนี้ โลกมียังแนวโน้มของการแบ่งขั้วเป็นสองขั้วใหญ่ ๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกกับจีนและรัสเซีย ที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ สงครามในยูเครนซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกนั้นมีแววยืดเยื้อ เมื่อตะวันตกยังคงให้การสนับสนุนยูเครน และจีนมีส่วนช่วยรัสเซียในด้านของเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นเพื่อนที่คอยดันหลังให้รัสเซียได้อุ่นใจเสมอว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
สภาวการณ์ที่เป็นอยู่จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญของไทย ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศ ๆ หนึ่งซึ่งดำรงอยู่บนโลกที่ผลกระทบเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น ไทยจะรับมือกับผลกระทบดังกล่าวอย่างไร ไทยจะเลือกขั้วไหนหรือมีนโยบายอย่างไรกับแนวโน้มของขั้วอำนาจในโลกที่จะเกิดขึ้น
อันที่จริง นโยบายแบบไผ่ลู่ลมนั้น ในทัศนะของผู้เขียนมองว่าอาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัยอีกต่อไป หรือการเป็นกลางของไทยก็ไม่ควรถูกใช้อีกแล้ว เนื่องจากจะกลายเป็นว่าไทยไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ไทยควรจะเป็นกลางกับเพื่อนที่เห็นไทยเป็นเพื่อนจริง ๆเท่านั้น และควรเป็นเพื่อนที่มีเหตุผล/ยึดมั่นต่อสิ่งที่เคยได้ตกลงกันไว้ (การยึดหลักระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศ) อีกทั้งไทยควรมีเพื่อนหลายคน และควรเป็นตัวตั้งตัวตีที่ทำให้เพื่อนบ้านทั้งซอย (อาเซียน) หรือเพื่อนในหมู่บ้าน (ประเทศต่าง ๆ ในโลก) ร่วมกันต่อรองกับผู้ใหญ่บ้าน (มหาอำนาจผู้กำหนดระเบียบโลก) ได้
——————————————————-
พิชชาพร สรณ์สิริพัฒน์
อ้างอิง
China vows support for Russia, drawing US ire (bangkokpost.com)
China is Russia’s proxy in the country’s disinformation wars over Ukraine – The Washington Post
https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2022/02/U.S.-Indo-Pacific-Strategy.pdf