หากจะเอ่ยถึงประเทศคู่ซี้ที่กำลังมาแรงและเป็นที่จับตามอง ณ ขณะนี้ ยังไงก็คงจะหนีไม่พ้นคู่จีนและรัสเซียอย่างแน่นอน จากความสัมพันธ์ที่ยังคงแน่นแฟ้น แม้จะเกิดวิกฤติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในปัจจุบันก็ตาม แต่อันที่จริง จีนและรัสเซียมีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต เนื่องจากการยึดถือค่านิยมที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน หรือการเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน และแม้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองจะเคยสะดุดหรือมีการระหองระแหงกันบ้าง แต่ในท้ายที่สุด ทั้งสองประเทศก็ต่างจำเป็นที่จะต้องมีกันและกันมากกว่า……… ลงเอยเป็นความสัมพันธ์แบบ “เพื่อนรัก เพื่อนร้าย และเพื่อนที่ทิ้งไปไม่ได้” ในที่สุด
เพื่อนรัก
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียมีทั้งช่วงเวลาที่ขึ้นและลง และค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์อันเป็นหนึ่งเดียวกันมาตลอด หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534 จีนและรัสเซียเป็น “หุ้นส่วนที่สร้างสรรค์” ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียเข้ากับตนเองในปี 2557 เพื่อนทางตะวันตกได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย และเพื่อนชื่อ NATO ก็ได้ระงับทุกความร่วมมือกับรัสเซียทันที ขณะที่เพื่อนทางทิศตะวันออกอย่างจีน ยังเปิดรับการพัฒนาสัมพันธ์กับรัสเซีย ทำให้ทั้งสองมีความใกล้ชิดกันในทุกด้านของความสัมพันธ์
ด้านการเมือง….. เราจะเห็นถึงการร่วมมือทางการเมืองและการทูตระหว่างจีนและรัสเซียเพื่อคานอำนาจตะวันตก โดยเพื่อนรักทั้งสองมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนกัน หรืออย่างน้อยก็ไม่ต่อต้านกันเมื่อมีการลงมติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council-UNSC) เช่น ในปี 2557 จีนงดออกเสียงในมติของ UNSC ที่ให้การลงประชามติแยกไครเมียจากยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นโมฆะ และในปี 2564 ทั้งสองร่วมกันคัดค้านมติของ UNSC ในการคว่ำบาตรอัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ และอิหร่าน นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังได้จับมือกันสร้างกลุ่มพันธมิตรคู่ขนานกับโลกตะวันตก เช่น การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ รวมทั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation-SCO) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคระหว่าง 8 ประเทศสมาชิก ได้แก่ จีน รัสเซีย อินเดีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ปากีสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน
ด้านเศรษฐกิจ…… ตั้งแต่การผนวกไครเมียในปี 2557 การค้าระหว่างจีน-รัสเซียเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50 และในปี 2564 ตัวเลขการค้าระหว่างจีน-รัสเซียอยู่ที่ 146,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง จีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกหลักของรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียตัดสินใจปรับทิศทางเศรษฐกิจไปยังจีนหลังจากชาติตะวันตกหันหลังใส่ เรียกได้ว่าทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการที่พอดีกัน โดยจีนต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ ในขณะที่รัสเซียต้องการตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และเงินลงทุน ที่สำคัญคือ ทั้งสองตั้งเป้าที่จะให้การค้าทวิภาคีเติบโตเป็น 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567 ระหว่างที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียเยือนกรุงปักกิ่ง เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565
ด้านความมั่นคง…. ตั้งแต่ปี 2557 ความร่วมมือทางทหารระหว่างจีนและรัสเซียที่หลากหลายและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น การซ้อมรบทางเรือหรือทางอากาศระหว่างจีนและรัสเซียเป็นครั้งแรกในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออกในเดือนพฤษภาคม เมื่อสหรัฐฯ ได้เพิ่มความร่วมมือทางทหารกับพันธมิตรในเอเชีย เพื่อตอบโต้ต่อการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีน และที่สำคัญคือ จีนได้ร่วมซ้อมรบกับกองบัญชาการยุทธศาสตร์ประจำปีของรัสเซียตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่สำคัญ เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีเพียงอดีตรัฐในสหภาพโซเวียตเท่านั้นที่ได้เข้าร่วมในการฝึกซ้อมนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลจาก Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ของสวีเดน ในปี 2559 ถึง 2563 แสดงให้เห็นว่าการนำเข้าอาวุธของจีนทั้งหมด ร้อยละ 77 คิดเป็นมูลค่า 5,1 00 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นมาจากรัสเซีย ทำให้จีนเป็นลูกค้าด้านอาวุธรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียรองจากอินเดีย นอกจากนี้ ทั้งสองยังมีโครงการและความร่วมมือทางเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมกันพัฒนาระบบนำทางด้วยดาวเทียม Beidou และ GLONASS เพื่อแข่งขันกับ GPS ของสหรัฐอเมริกา
ความร่วมมือระหว่างเพื่อนรักดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงต่างสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะร่วมมือกันเพื่อให้มีอำนาจมากพอจะต่อกรกับอำนาจของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกได้ รวมถึงยังเป็นการคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายอ่อนแอลงและทำให้อำนาจที่รวมกันอยู่จืดจางลงไป ที่สำคัญคือ การสวนกระแสระเบียบโลกที่สหรัฐอเมริกาหรือตะวันตกจัดเอาไว้ และสร้างระเบียบใหม่ด้วยตนเองขึ้นมา
เพื่อนร้าย
แม้ว่าจีนและรัสเซียจะเป็นเพื่อนรักกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งสองจะเห็นด้วยและช่วยกันในทุกสถานการณ์ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็ยังคงมีผลประโยชน์แห่งชาติของตน และต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของตนก่อนเสมอ ดังนั้น จึงมีหลายเรื่องที่อาจทำให้ทั้งสองต้องเป็นเพื่อนร้ายที่แอบขัดหรือหยิกหลังกันบ้าง จากเหตุผลทางอำนาจ ผลประโยชน์ หรืออิทธิพลที่ทับซ้อนกัน
ในตะวันออกกลาง…..ขณะที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียแข่งขันเพื่อชิงอำนาจในตะวันออกกลางมานานแล้ว จีนกลับเป็นมหาอำนาจใหม่ที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งทางอำนาจในภูมิภาคนี้ด้วย เนื่องจากตะวันออกกลางเป็นแหล่งน้ำมันซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพื้นที่การค้าที่สำคัญ ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์แก่จีนในการดำเนินโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ได้ ในขณะที่รัสเซียต้องการเสริมความแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากฐานที่มั่นทางทหารในซีเรีย เช่น ฐานทัพเรือในเมืองทาร์ตุสและลาตาเกีย เพื่อที่จะคงอิทธิพลทางการเมืองและการทหารในมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเผชิญหน้ากับ NATO ซึ่งแม้ว่ารัสเซียและจีนจะต้องการลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ให้เหลือน้อยที่สุด แต่ความทะเยอทะยานและอิทธิพลของจีนในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และอยู่ในขอบเขตอิทธิพลของรัสเซียก็อาจนำไปสู่การแย่งชิงอำนาจ ที่ทั้งสองอาจต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อครอบครองตะวันออกกลาง และเปลี่ยนเพื่อนรักให้กลายเป็นเพื่อนร้ายได้
ทรัพย์สินทางปัญญา…… รัสเซียต้องการให้จีนมีส่วนในการพัฒนาอาวุธร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของตัวเองไว้ แต่สิ่งที่รัสเซียได้รับ คือ การที่จีนเลียนแบบเทคโนโลยีอาวุธของรัสเซียโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ในปี 2562 Rostec ซึ่งเป็นบริษัทด้านกลาโหมแห่งชาติของรัสเซียกล่าวหาจีน ว่าทำการลอกเลียนแบบอาวุธของรัสเซียและอุปกรณ์ทางทหารอื่น ๆอย่างผิดกฎหมายผ่านการวิศวกรรมย้อนกลับ โดยนายเยฟเจนนี ลิวัดนี หัวหน้าโครงการทรัพย์สินทางปัญญาของ Rostec กล่าวว่า จีนได้ลอกเลียนแบบเครื่องยนต์ เครื่องบินซุคฮอย เครื่องบินไอพ่นโดยสาร ระบบป้องกันภัยทางอากาศ ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแบบพกพา และอนาล็อกของแพนท์เซอร์ ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยภาคพื้นดินสู่อากาศระยะปานกลาง ดังนั้น การที่อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของจีนมีการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากจะทำให้รัสเซียเสียตลาดอาวุธขนาดใหญ่แล้ว การพัฒนาอาวุธที่ก้าวกระโดดดังกล่าวของจีนยังอาจนำไปสู่การแย่งสัดส่วนตลาดการส่งออกอาวุธระหว่างทั้งสองอีกด้วย
ความต่างกัน…. คู่เพื่อนจีน-รัสเซียมีความเห็นต่างในหลายเรื่องมาก เช่น นอกจากจะมีกันและกันแล้ว จีนและรัสเซียก็ยังมีเพื่อนคนอื่น ๆด้วย แต่เพื่อนของเพื่อนก็ไม่ใช่เพื่อนของเราเสมอไป และสิ่งนี้ก็อาจจะสร้างปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของรัสเซียที่มีต่ออินเดีย ซึ่งต่างจากจีนที่มองว่าอินเดียเป็นคู่ปรับเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะเดียวกัน การรวมไต้หวันกลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่ก็เป็นความกังวลของรัสเซียที่ไม่อยากถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ จีนไม่รับรองสถานะโดเนตสค์และลูฮันสค์ แม้รัสเซีย ซีเรียและเกาหลีเหนือให้การรับรองเอกราชแล้ว เนื่องจากจีนเองก็มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของตน (ซินเจียง ทิเบต และไต้หวัน)จึงต้องพยายามธำรงจุดยืนไม่แทรกแซงกิจการภายในมาตลอด ขณะที่รัสเซียก็ไม่มีท่าทีสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ เนื่องจากไม่ต้องการทำลายความสัมพันธ์อันดีที่มีกับประเทศในอาเซียนซึ่งมีข้อพิพาทร่วมกับจีน เช่น เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์
หากจะลองชั่งน้ำหนักความตึงเครียดระหว่างการหยิกหลังกันในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไป อาจประเมินได้ว่าการแข่งชิงความโปรดปรานในตะวันออกกลางระหว่างจีนและรัสเซียน่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมากที่สุด เพราะเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ฉันใด สองมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียก็คงจะมีอิทธิพลร่วมในพื้นที่เดียวกันไม่ได้ฉันนั้น เนื่องจากต่างมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือการทหาร
เห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของคู่เพื่อนอาจถูกเปลี่ยนให้ร้ายต่อกันได้ เนื่องจากเป็นปกติของทุกประเทศบนโลกที่การตัดสินใจหรือการกระทำใด ๆ ย่อมต้องดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญก่อน ในอีกแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียยังคงมีความเปราะบางในบางมิติ และไม่ได้ราบรื่นเสมอไป
เรื่องราวเหล่านี้แสดงถึงความสัมพันธ์ของรัสเซียกับจีนที่ผ่านมา และเมื่อเกิดวิกฤตยูเครน ก็ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองเข้าสู่ภาวะ “เพื่อนที่ทิ้งไปไม่ได้” รัสเซียขาดจีนไม่ได้ เนื่องจากคงไม่มีประเทศไหนอีกแล้วที่จะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่ใหญ่ได้เท่ากับจีน จีนเองก็ไม่สามารถที่จะขาดรัสเซียได้ เพราะจีนก็ยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทางอาวุธหรือความเชี่ยวชาญทางการทหารของรัสเซียเพื่อความมั่นคงของประเทศ รวมถึงยังต้องการพลังงานและทรัพยากรของรัสเซียในการพัฒนาเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าทั้งสองต่างก็ขาดกันและกันไม่ได้ เพราะคงจะไม่มีเพื่อนคนไหนที่จะใหญ่และกล้ามากพอที่จะร่วมต่อสู้กับคู่แข่งตัวร้ายอย่างสหรัฐอเมริกาได้อีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจมักจะเป็นในรูปแบบดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร” แต่ “ผลประโยชน์ของเรานั้นเป็นนิรันดร์และตลอดไป” ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นในความสัมพันธ์แบบ “เพื่อนรัก เพื่อนร้าย” ระหว่างจีนและรัสเซียเช่นกัน
—————————————–
พิชชาพร สรณ์สิริพัฒน์
อ้างอิง
Factbox: China-Russia trade has surged as countries grow closer | Reuters
The Middle East – a conflict zone between China and Russia? | Middle East Institute (mei.edu)
https://tass.com/defense/1099283
ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์จีน-รัสเซีย : เพื่อนที่ทิ้งไปไม่ได้
โลกได้ประสบกับเรื่องที่สาหัสอย่างการระบาดของโควิดในปี 2562 มาแล้ว คงไม่มีใครคาดคิดว่าในระหว่างที่มีการภาวนาให้ผลกระทบจากการระบาดดีขึ้นในปี 2565 นี้ กลับกลายเป็นต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งใหม่จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนทำให้ชาติตะวันตกและอีกหลายประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อต่อต้านและประนามการกระทำของรัสเซียที่เรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าจีนซึ่งพยายามรักษาภาพลักษณ์อันดีในเวทีโลกกลับมีท่าทีที่แตกต่าง โดยการยืนยันที่จะยังคงสานสัมพันธ์กับรัสเซีย
เพื่อนที่ทิ้งไปไม่ได้
นอกจากจะทั้งเป็นเพื่อนรักหรือเพื่อนร้ายแล้ว จีนและรัสเซียยังเป็นเพื่อนที่ทิ้งอีกฝ่ายไปไม่ได้ สิ่งที่ให้ภาพชัดเจนที่สุด ก็คือสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน แม้ว่าปัญหาใหญ่ของจีน คือการที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป (European Union-EU) และสหรัฐอเมริกาไว้ให้ได้ แต่จีนเองก็ไม่สามารถละทิ้งเพื่อนอย่างรัสเซีย และปล่อยให้ตายด้วยน้ำมือหรือการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้จีนอยู่ในสถานะที่เป็นกลางอย่างเอนเอียงต่อความขัดแย้งดังกล่าว
ความเป็นกลางอย่างเอนเอียงของจีน คือ แม้จีนจะเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาอย่างสันติและแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในยูเครน แต่จีนไม่ได้ประณามปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซีย และจีนยังหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการบุกรุกยูเครนของรัสเซียในมติขององค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ทั้งยังแสดงความเห็นว่าสหรัฐอเมริกากับ NATO เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ มีการโทรติดต่อกันสองครั้งระหว่างผู้นำจีน-รัสเซียนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ที่สำคัญคือ มีผลรายงานจากการพูดคุยของทั้งสองเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่า จีนเต็มใจที่จะสนับสนุนรัสเซียในประเด็นอำนาจอธิปไตยและความมั่นคง เพิ่มการประสานงานเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ และเห็นชอบที่จะขยายความร่วมมือในด้านพลังงาน การเงิน อุตสาหกรรม การขนส่ง และด้านอื่น ๆ สะท้อนถึงการยึดมั่นในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-รัสเซียโดยไม่สนใจเสียงเตือนจากสหรัฐอเมริกาและ EU
เหตุผลที่จีนหรือรัสเซียไม่อาจปล่อยให้อีกฝ่ายล้มลงระหว่างทางได้ เนื่องจากต่างยังคงต้องการเพื่อนร่วมต่อสู้กับภัยคุกคามอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่มรวมตัวกับกลุ่มพันธมิตรแล้วเช่นกัน เห็นได้ชัดเจนจากการขยายตัวไปทางตะวันออกของ NATO รวมถึงการแข่งขันทางอิทธิพลระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อ กุมภาพันธ์ 2565 มีการให้คำมั่นว่า สหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญกับทุกส่วนของภูมิภาคนี้ ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงเอเชียใต้และโอเชียเนีย อันรวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกด้วย นอกจากนี้ สหรัฐขยายยังความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอย่างกลุ่ม QUAD หรือ AUKUS รวมทั้งพยายามระดมพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อยับยั้งจีนอย่างแข็งขัน
แน่นอนว่าสองคนดีกว่าคนเดียว และศัตรูของศัตรูก็คือมิตรของเรา ดังนั้น ในฐานะที่จีนและรัสเซียต่างอยู่ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาทั้งคู่ มีคุณค่าร่วมกันและถูกคุกคามผลประโยชน์โดยสหรัฐอเมริกาทั้งคู่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คู่เพื่อนจีน-รัสเซียจะจับมือกันไว้ให้แน่นที่สุดเพื่อต้านอำนาจของสหรัฐอเมริกา ตอกย้ำความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดและไม่ทอดทิ้งกัน ตามแถลงการณ์ร่วมเรื่องความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ใหม่ระหว่างจีนและรัสเซียที่ไม่มีข้อจำกัดเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนไม่กี่สัปดาห์ และความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระยะยาวระหว่างจีนและรัสเซียที่แนบแน่นขึ้น ทั้งยังท้าทายตะวันตกมากขึ้นด้วย
เพราะหากจีนไม่ช่วยรัสเซีย และรัสเซียเกิดพ่ายแพ้ขึ้นมา ความเป็นผู้นำโลกตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจะกลับคืนมาทันทีหลังจากที่เสื่อมถอยลงในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทัมป์ และชาติตะวันตกจะรวมเป็นหนึ่งมากขึ้น อำนาจของตะวันตกก็จะเพิ่มขึ้นมากด้วย NATO จะขยายตัวต่อไป ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาที่จะเข้ามาประชิดและปิดล้อมจีนมากขึ้น ในขณะที่จีนจะต้องรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างโดดเดี่ยว เพราะเมื่อรัสเซียล้มลง สหรัฐอเมริกาจะไม่ต้องรับมือกับคู่แข่งสองคนอีกต่อไป แต่สามารถมุ่งมาที่จีน เพื่อให้จีนอยู่ในการควบคุมเชิงกลยุทธ์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป้าหมายหลักของสหรัฐอเมริกา คือการกีดกันไม่ให้จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่ทัดเทียมกับตน
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียจึงลงเอยในรูปแบบการเป็น “เพื่อนรัก เพื่อนร้าย เพื่อนที่ทิ้งไปไม่ได้” แม้ว่าจะมีความร่วมมือกันมากมาย และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันแนบแน่น แต่ทั้งสองก็ไม่ได้ไว้ใจกัน หรือเห็นด้วยกับการกระทำของฝ่ายตรงข้ามในทุกเรื่อง ทั้งยังมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนหรือขัดแย้งกันบ้าง ถึงจะอย่างนั้นก็ตาม การที่ทั้งสองประเทศเผชิญภัยคุกคามร่วมกัน ทำให้ทั้งสองยังต้องกอดกันไว้อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากยังมีภัยอันตรายที่ร้ายแรงกว่าที่ต้องร่วมเผชิญกันอยู่
ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นฟังดูเป็นเรื่องราวการชิงดีชิงเด่นระหว่างเหล่ามหาอำนาจที่ไกลตัวเสียเหลือเกิน แต่แท้จริงแล้วความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวระหว่างจีนและรัสเซียทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงล้วนแต่มีผลกระทบทั้งในระดับภูมิภาคและโลก เพราะการขยับตัวของเหล่ามหาอำนาจผู้กำหนดระเบียบของโลกย่อมส่งผลบางอย่างไปยังโลกด้วยเสมอ เช่น การที่จีนเข้าถึงเทคโนโลยีอาวุธขั้นสูงของรัสเซีย ทำให้จีนสามารถเปลี่ยนแปลงสมดุลของอำนาจในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก โดยเฉพาะในไต้หวัน นอกจากนี้ โลกมียังแนวโน้มของการแบ่งขั้วเป็นสองขั้วใหญ่ ๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกกับจีนและรัสเซีย ที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ สงครามในยูเครนซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกนั้นมีแววยืดเยื้อ เมื่อตะวันตกยังคงให้การสนับสนุนยูเครน และจีนมีส่วนช่วยรัสเซียในด้านของเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นเพื่อนที่คอยดันหลังให้รัสเซียได้อุ่นใจเสมอว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
สภาวการณ์ที่เป็นอยู่จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญของไทย ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศ ๆ หนึ่งซึ่งดำรงอยู่บนโลกที่ผลกระทบเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น ไทยจะรับมือกับผลกระทบดังกล่าวอย่างไร ไทยจะเลือกขั้วไหนหรือมีนโยบายอย่างไรกับแนวโน้มของขั้วอำนาจในโลกที่จะเกิดขึ้น
อันที่จริง นโยบายแบบไผ่ลู่ลมซึ่งเป็นนโยบายคู่บุญของไทยนั้น ในทัศนะของผู้เขียนมองว่าอาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัยอีกต่อไป หรือการเป็นกลางของไทยก็ไม่ควรถูกใช้อีกแล้ว เนื่องจากจะกลายเป็นว่าไทยไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ไทยควรจะเป็นกลางกับเพื่อนที่เห็นไทยเป็นเพื่อนจริง ๆเท่านั้น และควรเป็นเพื่อนที่มีเหตุผลยึดมั่นต่อสิ่งที่เคยได้ตกลงกันไว้ (การยึดหลักระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศ) อีกทั้ง ไทยควรมีเพื่อนหลายคน และควรเป็นตัวตั้งตัวตีให้ที่ทำให้เพื่อนบ้านทั้งซอย (อาเซียน) หรือเพื่อนในหมู่บ้าน (ประเทศต่าง ๆ ในโลก) ร่วมกันต่อรองกับผู้ใหญ่บ้านได้ (มหาอำนาจผู้กำหนดระเบียบโลก) ได้
พิชชาพร สรณ์สิริพัฒน์
อ้างอิง
China vows support for Russia, drawing US ire (bangkokpost.com)
China is Russia’s proxy in the country’s disinformation wars over Ukraine – The Washington Post
https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2022/02/U.S.-Indo-Pacific-Strategy.pdf