การกัดเซาะหน้าดินเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ ที่เกิดขึ้นจาก “น้ำ” ทั้งน้ำฝนและแม่น้ำลำคลอง เมื่อกระแสน้ำรุนแรง กัดเซาะดินหรือหินทำให้หน้าดินละลายไปกับน้ำไหลไปยังพื้นที่อื่น หน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เสมือนปุ๋ยก็จะถูกกระจายไปสู่พื้นที่ที่กระจายออกไปมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พื้นที่ราบน้ำท่วมขังที่หน้าดินได้ตกตะกอนจากกระแสน้ำที่ไหลเอื่อยลงที่ความเร็วประมาณ 0.11 เมตรต่อวินาที และทำให้พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และที่ราบลุ่มกู๋ลองยาง (Cuu Long Giang) บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม
แต่เมื่อการทำเกษตรกรรมรุกคืบเข้าสู่ผืนป่า ต้นไม้และพืชคลุมดินที่ป้องกันการกัดเซาะจากน้ำฝนถูกเปลี่ยนเป็นเขาหัวโล้นสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ถั่ว และฟักทอง เป็นต้น การกัดเซาะหน้าดินจึงสูงมากขึ้น โดยเฉลี่ยประเทศไทยสูญเสียหน้าดินไปราวๆ 20 – 40 ตันต่อไร่ต่อปี จากการกัดเซาะ โดยเฉพาะพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดเอียงสูง
นั่นคือปริมาณปุ๋ยตามธรรมชาติที่สูญเสียไปในแต่ละปี ไม่ใช่ว่าหน้าดินที่ถูกกัดเซาะจะกลายเป็นปุ๋ยต่อไปในที่ราบ แต่ด้วยวิธีการทำเกษตรที่มีการใช้สารพิษในการเพาะปลูก ทำให้สารเคมีเหล่านี้เจือปนสู่แม่น้ำต่างๆ ไปสู่แปลงเกษตรหรือแม้แต่การอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปี เกษตรกรจะต้องเติมปุ๋ยไปในพื้นที่เพื่อทำดินให้อุดมสมบูรณ์ เป็นจำนวน 5.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท นั่นเพราะหน้าดินที่ถูกกัดเซาะลงมาขาดคุณสมบัติในการเป็นปุ๋ย เพราะปุ๋ยตามธรรมชาติเกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ของป่าบนภูเขาต้นน้ำ เมื่อไม่มีป่า หน้าดินก็ไม่อุดมสมบูรณ์อีกต่อไป
จากสถานการณ์ราคาของปุ๋ยที่สูงขึ้น เนื่องจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออกปุ๋ยของโลกยืดเยื้อ ราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นกลายเป็นภาระของเกษตรกร และยังส่งผลให้ราคาผลผลิตหรืออาหารที่สูงขึ้นกระทบไปยังผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราอาจจำเป็นต้องรักษาหน้าดินให้ถูกกัดเซาะลดลง เพื่อทำให้ปุ๋ยตามธรรมชาติของไทยเราเองกลับมาอุดมสมบูรณ์ และให้ไทยพึ่งพาตัวเองได้ในภาวะวิกฤต
สำหรับวิธีการหยุดการกัดเซาะหน้าดินสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. การทำโครงสร้างกันดิน กำแพงหินกันดินถล่ม การทำกำแพงกันคลื่นหรือกำแพงตามแนวตลิ่ง เป็นวิธีการที่มีความมั่นคงแข็งแรง แต่ใช้งบประมาณสูง เหมาะกับพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง (35%) พื้นที่ริมตลิ่งที่ถูกกัดเซาะรุนแรงอันเนื่องมาจากความโค้งของลำน้ำตามธรรมชาติ
2. การปรับดินเพื่อชะลอการไหลของน้ำ เป็นการปรับลักษณะทางกายภาพภูมิประเทศ เพื่อดัดทางน้ำ ระบายน้ำ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของกระแสน้ำ เช่น การสร้างคันชะลอน้ำ การทำร่องน้ำรอบพื้นที่หรือคันดินเพื่อเปลี่ยนทางน้ำ การปรับพื้นที่ลาดเอียงเป็นขั้นบันได เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายกว่าการสร้างโครงสร้างและใช้งบประมาณน้อยกว่า เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการทำกิจกรรมอื่นๆ บนพื้นที่ที่มีความลาดชัน (12-20%) ซึ่งถูกการกัดเซาะเข้าไปในพื้นที่
3. การเพิ่มพื้นที่ป่าหยุดการบุกป่าเพื่อทำการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ป่าต้นน้ำหลายแห่งถูกบุกรุกหรือถูกเปลี่ยนเป็นเขาหัวโล้นเพื่อทำการเกษตร จำเป็นต้องมีการหยุดการทำลายป่า ด้วยการเลิกส่งเสริมการรับซื้อผลิตผลที่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และส่งเสริมให้การปลูกพืชผสมผสาน หรือปลูกป่าแล้วเสริมพืชสร้างรายได้ภายในป่า เช่น กาแฟ พริกไท ผักหวานป่า วานิลลา เป็นต้น การเปลี่ยนรูปแบบเป็นวนเกษตร จะทำให้ได้พื้นที่ป่าคืนมา
4. การใช้วัสดุคลุมดินหรือปลูกพืชคลุมดิน ในการทำเกษตรมักจะต้องพ่นยาฆ่าหญ้าเพื่อป้องกันการแย่งสารอาหารภายในดิน แต่ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่สามารถบำรุงดิน ใช้แร่ธาตุคนละชนิดกับพืชผลทางการเกษตรในการเจริญเติบโต สามารถปลูกเป็นพืชบำรุงดินรักษาหน้าดินไว้ได้ หรือการใช้เศษใบไม้มาคลุมดินน้ำฝนที่ตกลงมาจะไม่กระทบผิวดินโดยตรง ช่วยลดความแรงของน้ำฝนได้
หน้าดินที่สูญหายไป…เป็นอีกหนึ่งวัฎจักรที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการทำเกษตรที่เปลี่ยนแปลง บนฟ้าน้ำฝนยังคงหล่นกระทบชะล้างหน้าดินอย่างต่อเนื่องตามธรรมชาติ แต่บนพื้นดินมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจนทำให้วัฎจักรแห่งความอุดมสมบูรณ์ของน้ำกลายเป็นภัยพิบัติไปได้
ปัญหาน้ำกัดเซาะเป็นเพียงหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่มนุษย์ทำให้วัฎจักรของน้ำเปลี่ยนแปลง ยังมีอีกหลายวัฎจักรที่มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงธรรมชาติจนทำให้เกิดเป็นภัยพิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็น อุทกภัย การกัดเซาะตลิ่ง ปัญหาน้ำเสีย ไปจนถึงภัยแล้ง