สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เริ่มคลี่คลายลงในหลายประเทศนำไปสู่การเปิดน่านฟ้ารับนักท่องเที่ยว จึงถึงจังหวะที่ธุรกิจการบินจะกลับมาคึกคักดังเดิม หลังจากที่สนามบินเงียบเหงามาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวและเที่ยวการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 แต่กระนั้น…นี่จะเป็นโอกาสฟื้นตัวของธุรกิจการบินแล้วหรือไม่
แม้เที่ยวบินเพื่อการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา แต่ยังน้อยกว่าช่วงก่อนโควิดในปี 2562 อยู่ 33% เนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แย่ลง ผู้คนจึงประหยัดอดออมมากขึ้นเป็นพิเศษ รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากความขัดแย้งของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นภาระหนักกับสายการบินที่จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และสุดท้าย คือ ความพร้อมของการบริการของสายการบิน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปรับลดพนักงาน ปรับรูปแบบการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เหล่าพนักงานประจำหลายคนไม่กลับเข้าสู่ระบบการทำงาน
ไม่แตกต่างไปจากธุรกิจประเภทอื่นๆ ที่ต้องเผชิญภาวะ Great Resignation (การลาออกระลอกใหญ่) เมื่อลูกจ้างขอปรับรูปแบบการทำงาน เพราะพวกเขาเห็นว่าสามารถทำงานที่บ้านได้ หรือบางคนที่ออกจากระบบงานเดิมแล้วไม่คิดที่จะกลับเข้าไปอีก รวมไปถึงการที่พนักงานเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้นหากจะต้องกลับไปทำงานในลักษณะเดิม ขณะที่ผู้บริหารก็ยังอยู่ในสภาวะฟื้นตัวเกิดเป็นปัญหาต่อการเพิ่มค่าแรงเพื่อเรียกพนักงานกลับมา ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานมากขึ้น จนไม่สามารถรองรับการบริการนักท่องเที่ยวได้ไหว จนทำให้เราพบการการรอคอยที่ยาวนานขึ้นสำหรับการเดินทางด้วยเครื่องบิน
ในขณะที่การ take off ของธุรกิจการบินอีกครั้งนี้ดูไม่ค่อยราบรื่นสักเท่าไหร่ แต่มีการคมนาคมอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังมาแรง นั่นคือ “การขนส่งระบบราง”
มนุษย์เริ่มที่จะใช้ระบบรางในการขนส่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2366 โดยเอ็ดเวิร์ด พีส (Edward Pease) ก่อนที่พี่น้องตระกูลไรท์จะประดิษฐ์เครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เมื่อปี 2446 และการขนส่งระบบรางได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สร้างเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายข้ามทวีป และเส้นทางเหล่านั้นยังคงขยายตัวต่อไป เราจะสามารถเดินทางขนส่งสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยุโรปได้ผ่านหลากหลายประเทศทั้ง โปรตุเกส ฝรั่งเศส เบลารุส รัสเซีย จีน และไทย จนไปถึงสิงคโปร์ โดยที่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนได้มีส่วนผลักดันให้เกิดการขยายเส้นทางการขนส่งระบบราง เช่น ในลาว แอฟริกา และโครงข่ายภายในประเทศ การขนส่งระบบรางจึงยังมีโอกาสที่จะพัฒนาเติบโตได้อย่างแน่นอน
ไม่ใช่แค่เส้นทางที่ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น แต่เทคโนโลยีระบบรางยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันเรามีรถไฟเครื่องดีเซล รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟพลังงานเเม่เหล็ก (Maglev) และไฮเปอร์ลูป ทำให้มีรูปแบบที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์การใช้งานของคนได้ในหลายระดับ เช่น รถไฟท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ของญี่ปุ่น ส่งของทั่วยุโรปด้วยรถไฟความเร็วสูง รถไฟโมโนเรลที่เหมาะกับการวิ่งแทรกผ่านในตัวเมืองที่หนาแน่น เป็นต้น ความหลากหลายของคมนาคมในรูปแบบระบบรางนี้จึงทำให้รถไฟกลายเป็น “ยุทธศาสตร์สำคัญ” ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ประเทศ …ไทยเองก็เช่นกัน
แม้ความเร็วจะยังไม่สามารถแซงเครื่องบินได้ แต่ระบบรางมีโอาสที่จะพัฒนาได้สูงกว่า โดยเฉพาะในด้านของพลังงานและสิ่งแวดล้อม รถไฟใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเครื่องบิน และยังเข้าสู่การเลิกใช้พลังงานฟอสซิลได้เร็วกว่าเครื่องบิน เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังที่ เกรต้า ธุนเบิร์ก เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เลือกที่จะเดินทางจากสวีเดนไปร่วมงานประชุม COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนด้วยรถไฟแทนการใช้เครื่องบิน และการเดินทางด้วยเครื่องบินของเหล่าผู้นำเพื่อการประชุมใน COP26 ก็เป็นที่จับตามองว่าไม่เหมาะสมกับการประชุมเพื่อยับยั้งสภาวะโลกร้อน จึงดูเหมือนว่าวิสัยทัศน์ในอนาคตของธุรกิจการบินนี้จะไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่นัก
ในอนาคต “เครื่องบิน” จะยังสามารถตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด…คงต้องติดตาม รวมถึงเรื่องการใช้โดรน..จะทำให้การบินเข้าใกล้การใช้งานในชีวิตประจำวัน โดรนส่งของ โดรนแท็กซี่ จะทำให้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปได้แค่ไหน พื้นที่ภาคพื้นดินอาจกลายเป็นที่โล่งว่าง เพราะการจราจรจะไปอยู่บนท้องฟ้าแทนได้หรือไม่ ในอนาคต เราอาจเห็นทางเข้าตึกเปลี่ยนจากชั้นล่างขึ้นบนเป็นชั้นบนลงมาก็เป็นไปได้ และนี่อาจเป็นภาพในอนาคตของการบินที่เกิดขึ้นได้ในอีกไม่นาน