ผลการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีเพื่อหาผู้นำคนใหม่เมื่อ 25 กันยายน 2565 ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า นางจอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) หัวหน้าพรรค Brothers of Italy อายุ 45 ปี จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลี ต่อจากนาย Mario Draghi นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ที่ลาออกไปเมื่อ กรกฎาคม 2565 โดยชัยชนะในการเลือกตั้งของนางเมโลนีครั้งนี้ นอกจากจะทำให้อิตาลีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงเป็นครั้งแรก ยังเป็นการทำให้พรรค Brothers of Italy ซึ่งมีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ขวาจัด และมีรากฐานมาจากกลุ่ม neo-fascist ได้หวนกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคาดว่า พรรค Brothers of Italy ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ขวาจัด น่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการได้ใน ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 โดยประธานาธิบดีอิตาลี หรือนาย Sergio Mattarella จะเป็นผู้ตัดสินใจรับรองให้นางเมโลนีเป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลีต่อไป
ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ มีอย่างน้อย 2 เรื่อง
ประเด็นแรก หนีไม่พ้นการที่พรรคการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัดกลับมามีอำนาจทางการเมือง และได้รับความนิยมจากชาวอิตาลีมากขึ้น นางเมโลนีเป็นผู้นำพรรค Brothers of Italy ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจริง ๆ แล้วพรรค Brothers of Italy ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2555 และมีรากฐานมาจากพรรคการเมืองสายขวาจัด ๆ ในอิตาลี คือ พรรค Italian Social Movement และพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ (National Fascist Party) ของอดีตผู้นำอิตาลีอย่างเบนิโต มุสโสลินี หรือ Il Duce ซึ่งพรรคดังกล่าวถูกยุบไปแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
…แม้ว่าการกลับมาของพรรคการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมหรือขวาจัดในยุโรปจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือ surprise มากนัก เพราะในการเมืองยุโรปตั้งแต่มีวิกฤตผู้อพยพและการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบาย Make America Great Again ของอดีตผู้นำสหรัฐฯ อย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ทำให้กระแสชาตินิยมและอนุรักษ์นิยมกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง และเกือบทำให้ผู้แทนพรรคการเมืองจากพรรคฝั่งขวาในยุโรปกลายเป็นคู่แข่งหรือผู้ชนะทางการเมืองที่สำคัญในการเลือกตั้งของหลาย ๆ ประเทศ อาทิล่าสุดคือฮังการีและโปแลนด์
แต่การกลับมาของแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัดในอิตาลีเพิ่มความกังวลให้กับสหภาพยุโรป (European Union-EU) ที่วิตกว่า การดำเนินนโยบายของอิตาลีภายใต้พรรค Brothers of Italy อาจทำให้ความร่วมมือในกรอบ EU ลดน้อยลงไป และอิตาลีอาจดำเนินนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพที่ไม่เป็นผลดีต่อนโยบายต่อประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังกลัวว่าทิศทางการดำเนินนโยบายของพรรค Brothers of Italy จะไม่เป็นผลดีต่อความร่วมมือของยุโรปต่อกรณีรัสเซีย-ยูเครน เพราะแม้ว่าตัวนางเมโลนีจะสนับสนุนยูเครน และสมาชิกพรรค Brothers of Italy บางส่วนชื่นชมประธานาธิบดีรัสเซียและวิจารณ์การคว่ำบาตรรัสเซียในเชิงลบด้วย ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองยุโรปบางส่วนวิตกว่า ต่อไปนี้ อิตาลีจะกลายเป็น “Trojan horse” หรือม้าเมืองทรอยที่ผู้นำรัสเซียใช้ในการทำงานความร่วมมือของ EU ในประเด็นรัสเซีย-ยูเครนได้
ประเด็นที่สอง …นอกเหนือจากเรื่องอุดมการณ์ของพรรคการเมือง ก็คือความน่าสนใจของตัวนางเมโลนีเอง ที่ได้ภาพลักษณ์ “หญิงแกร่ง” ที่ลุกขึ้นมาประกาศว่าจะปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณชนเป็นนโยบายสำคัญอันดับแรก ๆ รวมทั้งจะต่อต้านและปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ รวมทั้งแก๊งค์มาเฟีย ตลอดจนจะต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี และปัญหายาเสพติดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของอิตาลี
นอกจากนโยบายของนางเมโลนีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอิตาลี บุคลิกและตัวตนของนางเมโลนีเองก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย.. ดูได้จากการที่ถ้อยแถลงของเธอเมื่อปี 2562 ที่พูดว่า ““I am Giorgia. I’m a woman, I’m a mother, I’m Italian, I’m Christian.”” เคยถูกนำไปตัดต่อและดัดแปลงให้กลายเป็นเพลงแร็ปเปิดไปทั่วประเทศ เท่ากับว่าชาวอิตาลีให้ความสนใจ “บุคลิกที่โดดเด่น”ของนางเมโลนี ที่เป็นคนมุ่งมั่น และสะสมประสบการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่อายุ 13 ปี ทำให้ตัวตนของเธอได้รับการยอมรับและสามารถรักษาจุดยืนทางการเมืองของตัวเองได้เรื่อยมา
นางเมโลนีจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลี และเธอน่าจะกลายเป็นผู้นำประเทศที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ในอิตาลีได้ไม่น้อย เริ่มจากที่ตัวเธอเองเป็นนักการเมืองตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยเริ่มรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬาตั้งแต่ปี 2551 ขณะมีอายุได้ 31 ปี จากนั้นเธอมีผลงานทางการเมืองที่น่าสนใจในฐานะนักการเมืองที่มีท่าทีสุดโต่ง และพูดตรงไปตรงมา ทั้งในประเด็นไม่สนับสนุนสิทธิ LGBT ไม่ต้องการรับผู้อพยพ รวมทั้งโจมตีกลุ่มที่มีแนวคิดสนับสนุนโลกาภิวัตน์อย่างสุดโต่ง ดังนั้น บทบาทของนางเมโลนีอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อิตาลีได้อย่างชัดเจนมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ก่อนการชนะการเลือกตั้งเพียงเล็กน้อย นางเมโลนีขยับจุดยืนจากขวาจัดมาเข้าสู่ขวากลาง ๆ มากขึ้น คาดว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระแสต่อต้านมากนัก รวมทั้งที่ผ่านมาก็ปฏิเสธอย่างต่อเนื่องว่าไม่มีอุดมการณ์ชาตินิยมฟาสซิสต์ เพราะอุดมการณ์ดังกล่าวหมายถึงการทำลายล้างระบบที่มีอยู่ ซึ่งเธอไม่เห็นด้วยกับการทำเช่นนั้น แต่ต้องการให้ความร่วมมือระหว่างอิตาลีกับสหภาพยุโรปนั้นเป็นธรรม นอกจากนี้ เธอจะไม่นำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการ เท่ากับว่าเป็นการส่งสัญญาณว่า …การดำเนินนโยบายของอิตาลีภายใต้ผู้นำสตรีคนนี้อาจจะไม่ถึงกับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะไม่ว่าจะต้องการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติมากแค่ไหน แต่ผลประโยชน์แห่งชาติของอิตาลีที่ผูกพันอยู่กับต่างประเทศก็ยังคงมีสัดส่วนสำคัญ…
———————————————————————-