สังคมออนไลน์ของไทยได้ทำความรู้จักและคุ้นเคยกับกระแส Quiet Quitting หรือสภาวะคนรุ่นใหม่กลุ่ม millennials และ Gen Z ใกล้จะหมดไฟในการทำงาน แต่ไม่ลาออก และพวกเขาเลือกที่จะบริหารจัดการการทำงานของเขาในรูปแบบใหม่ ที่เน้นทำภารกิจตามลักษณะงาน หรืองานตามความรับผิดชอบให้เสร็จสิ้นในแต่ละวันก็เพียงพอ โดยไม่ต้องเน้นทำงานหนักหรือทำงานนอกเหนือจากความรับผิดชอบ กระทั่งนอกเวลางาน ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการรักษาดุลเวลาระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว หรือ Work-Life Balance นั่นเอง
กระแสหรือภาวะ Quiet Quitting นี้ สำนักข่าว BBC ระบุว่าเป็นกระแสหรือแนวคิดที่ต่อยอดมาจากเทรนด์ #tangping ของจีน ที่คนรุ่นใหม่วัยทำงานของจีน ซึ่งเผชิญแรงกดดันและการแข่งขันในสังคมสูงมาก ซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ทำให้พวกเขามองไม่เห็นว่าจะพยายามไปเพื่ออะไร เมื่อค่าตอบแทนที่ได้นั้นไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับปริมาณงาน และไม่ได้รับประสบการณ์การทำงานที่คาดหวัง ดังนั้น พวกเขาจึงเลือกที่จะเล่นกระแส #tangping ที่แปลว่า “การนอนราบ” หรือการนอนเฉย ๆ (lying flat) เพื่อแสดงออกถึงการประท้วงเล็ก ๆ และเลือกที่จะทำงานน้อยลง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจของพวกเขาได้พักผ่อนจากการทำงานแบบ “996” ที่เริ่มงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงสามทุ่ม ตลอด 6 วันนั่นเอง
แม้ว่ากระแส #tangping จะถูกทางการจีนแบนไปแล้ว เพราะมีการเชื่อมโยงว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมปรปักษ์ (counterculture) ต่อต้านทุนนิยม และต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ ทางการจีนไม่สบายใจกับการที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ของจีนจะมาฮิตการนอนราบ หรือการทำงานน้อย ๆ ในช่วงที่รัฐบาลจีนต้องการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ Quiet Quitting ยังอยู่และเป็นกระแสที่วัยทำงานทั่วโลกให้ความสนใจไม่น้อย โดยมีรายงานว่ากระแสนี้เผยแพร่ในแอปพลิเคชัน TikTok จึงได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว
อีกหนึ่งที่มาของกระแส Quiet Quitting คือ กระแส The Great Resignation หรือการเปลี่ยนงานของคนรุ่นใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เมื่อปี 2564 อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะ The Great Resignation เน้นยืดหยุ่น แต่ไม่ยั่งยืนและไม่ตอบโจทย์ได้เท่าไหร่นัก เพราะงานใหม่อาจจะหายากในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ และการลาออกไปเริ่มต้นในที่แห่งใหม่ อาจจะยากกว่า“การยังอยู่ที่เดิม” แต่ปรับแนวทางการทำงานใหม่ให้มีสมดุลมากขึ้น อาจจะตอบโจทย์ชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
สรุปว่า คนที่อยู่ในกระแส Quiet Quitting จะยังทำงานอยู่และไม่ได้ลาออกไปไหน โดยพวกเขาจะมีลักษณะทำงานอย่างเต็มที่ในเวลางาน และอาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่อ่อนล้าจากการทำงานนอกเวลาหรืออาสาทำงานจนเหนื่อยมากเกินไป รวมทั้งได้พักผ่อนหรือเปลี่ยนไปทำกิจกรรมตามความสนใจของตัวเองมากขึ้น ดังนั้น ในภาพรวม ๆ ภาวะนี้ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเจ้าของกิจการเสมอไป เพราะพวกเขาอาจได้พนักงานหรือคนทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขมากขึ้นด้วย
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ของบริษัทเอกชนในหลาย ๆ ที่เตือนว่า ผู้ที่อยู่ในภาวะ Quiet Quitting ยาวนานเกินไปเพื่อหลีกหนีภาวะหมดไฟ ก็มีความเสี่ยงที่จะหมดไฟไปได้ง่าย ๆ เช่นกัน เพราะพฤติกรรมตามแบบของ Quiet Quitting อาจทำให้เกิดขีดจำกัดในการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ หรือความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการลดปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน จนอาจจะนำไปสู่การลาออกขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ Quiet Quitting กลายเป็นการลาออกจริง ๆ ที่จะต้องสูญเสียบุคลากรไป “ผู้นำในที่ทำงาน” ก็ควรจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาให้กับบุคลากร ด้วยการเพิ่มการสื่อสารในระยะยาว สร้างสมดุลอย่างจริงจัง ใส่ใจปัญหาที่เกิดขึ้น ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ให้ผลตอบแทนเมื่อบุคลากรทำได้ดี ติดตามผลการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรด้วย
นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่มอบให้โดยตรงแก่ผู้ที่ต้องการลองใช้แนวทาง Quiet Quitting ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งทำงานในเวลาให้มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์สูงสุด เพื่อไม่ให้ performance หรือความสามารถในการทำงานลดลง และยังเป็นโอกาสในการพัฒนาทักษะในการทำงานด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ที่ลองแนวทางนี้ควรจะใช้เวลาเพื่อสำรวจตัวเองด้วยว่าจริง ๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกอยากทำงานน้อยลง คืออะไร เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด… เพราะความเหนื่อยล้าอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะงานนอกเวลาหรือการทำงานมากกว่า job description ก็ได้
ดังนั้น การค่อย ๆ มองหาปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขให้ตรงจุดอาจเป็นการปลดล็อกความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ หรือถ้าจะอิงหลักพุทธศาสนา ก็อาจจะเทียบได้กับหลักอริยสัจ 4 หรือการรู้ปัญหา รู้เหตุที่เกิดของปัญหา แนวทางที่จะทำให้พ้นปัญหา และวิธีการปฏิบัติเพื่อขจัดปัญหา ..การแก้ไขสิ่งที่รบกวนจิตใจและความอ่อนล้าได้..อาจเอื้อต่อการสร้างสมดุลในชีวิต ตามรูปแบบและความเหมาะสมของแต่ละคนได้อย่างพอดี และไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มที่มีแนวคิด Quiet Quitting หรือไม่ ก็ยังมีความสุขได้ทั้งในที่ทำงานและในสังคมปัจจุบัน
ท้ายที่สุดนี้ เราคิดว่ากระแส Quiet Quitting ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร รวมทั้งอาจจะเป็นทางออกที่ดีเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของคนวัยทำงานที่เริ่มอ่อนล้าจากการเจอวิกฤต COVID-19 และสภาวะเศรษฐกิจที่เข้าใกล้การเสื่อมถอย… Quiet Quitting อาจเป็นยารักษาใจในระยะสั้น ดังนั้น เราจึงควรเปิดโอกาสและเปิดใจให้กับกลุ่มคนที่ใช้แนวทางนี้ พร้อม ๆ กับสร้างบรรยากาศรอบตัวให้ส่งเสริมความเข้าใจกันและกันมากขึ้น เพื่อประคับประคองคนรุ่นใหม่วัยทำงานให้ยังคงเป็นกำลังขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้
———————————————————————–