ในยุคที่การบูรณาการทักษะหรือความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการประมวลผลระหว่างศาสตร์แต่ละศาสตร์เข้าด้วยกัน จนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่รองรับความต้องการของสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนที่มีความแตกต่างกันทั้งความรู้ ทักษะ และแนวความคิด จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หรือจัดการปัญหาไปให้ได้ ซึ่งทำให้ต้องใช้กระบวนการที่สำคัญ…นั่นคือกระบวนการ “ประชุม” เพื่อเป็นการระดมความคิดในการวางแผนการจัดการจนไปสู่ผลสำเร็จที่ลุล่วง
“การประชุม” เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาอย่างเนินนาน (และในแต่ละครั้งก็ใช้เวลาเนิ่นนานด้วย) เพื่อหาความคิดเห็นหรือมติร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนั้น จะมีอะไรสำคัญไปกว่าการทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นภาพอนาคตร่วมกัน รวมทั้งเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน เพื่อที่จะลดความเข้าใจผิดของการสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุม ทำให้คนที่มีความแตกต่างกันสามารถ “เข้าใจ” ไปในทิศทางเดียวกันได้
“Visual Facilitation” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมมองเห็นภาพเป้าหมายเดียวกัน จากการสรุปหรือบันทึกเป็นภาพที่สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าการจดบันทึกรายงานการประชุม สร้างความน่าสนใจให้กับการประชุม “การวาดภาพ” จึงนำมาใช้ในการถ่ายทอดแทนตัวอักษร ไม่แตกต่างจากการทำ “แผนที่ความคิด (mind map)” ที่นิยมใช้กันมานานกว่า 25 ปี กับการสรุปและโยงความสัมพันธ์ของเนื้อหาและหัวข้อด้วยเส้นเชื่อมจากจุดกึ่งกลางออกไปเป็นรัศมี แต่ยังคงถ่ายทอดสารด้วยตัวอักษรเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การวาดภาพจะช่วยเพิ่มอิสระของการสื่อสารได้มากขึ้น เนื่องจากมนุษย์ต่างคิดภายใต้อิทธิพลของภาษาทั้งสิ้น การวาดภาพหรือลำดับเรื่องเป็น Story board หรือ สัญลักษณ์ (Info Graphic) ต่างๆ จะช่วยทำให้เกิดการตีความที่หลากหลาย จนไปสู่การค้นหาทางออกใหม่ ๆ ร่วมกันได้ เพราะภาษาที่เข้าใจได้ง่ายคือภาษาภาพ เหมือนที่ตัวอักษรของหลาย ๆ ภาษาก็มีพื้นฐานจากอักษรภาพ ดังที่มีภาพวาดบนผนังถ้ำตั้งแต่ยุคหิน
ทักษะที่จำเป็นในการใช้ Visual Facilitation ไม่ใช่การวาดภาพให้สวย หรือการวาดภาพให้เข้าใจได้ แต่ทักษะที่จำเป็นนั่นคือ ความสามารถในการ “ฟัง” และ “ประมวลผล” ออกมาเป็นภาพของผู้จดบันทึกการประชุม เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดการประชุม ดังนั้น ผู้ทำหน้าที่เป็น Visual Facilitator จะต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องของวาระหรือเนื้อหาที่ประชุม มีความเป็นกลางในการรับข้อมูล สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน รวดเร็ว และจับประเด็นสำคัญได้ เพื่อนำภาพของการประชุมสรุปเสนอต่อที่ประชุมได้
ไม่ใช่เฉพาะผู้จดบันทึกเท่านั้น… “เทคนิคการวาดภาพ” สามารถนำมาใช้กับผู้เข้าร่วมประชุมได้ โดยเป็นเทคนิคที่อาศัยการเปิดรับฟังความเห็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งยังช่วยกระตุ้นความสนใจระหว่างการประชุม และได้ให้สมองรับรู้ครบทุกด้าน และสัมผัสอื่นๆ มากกว่าแค่การฟังและพูดในที่ประชุม และด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถเอื้อให้การสื่อสารมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น การแสดงภาพไม่จำกัดอยู่ในกระดานสองมิติเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นในเครื่องจำลองแบบสามมิติหรือการสร้างโลกเสมือนก็เป็นได้
การสร้างภาพเป้าหมายร่วมกันจากกระบวนการ Visual Facilitation อาจสามารถลดความขัดแย้งได้ เพราะแน่นอนว่า ทุกการประชุมหรือการหารือจากกลุ่มคนหรือบุคคลที่มีความแตกต่างกัน ย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเอง จนนำไปสู่ความขัดแย้ง… แต่การดึงความสนใจ และการสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยทักษะการวาดพื้นฐาน น่าจะช่วยให้เกิดความเท่าเทียมกันของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนอาจไปสู่ทางออกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ จากการสร้างภาพอนาคตที่ชัดเจนร่วมกัน
—————————————————