เนโตกำลังเร่งเรียกร้องให้สหรัฐฯ อนุมัติการติดตั้งระบบป้องกันและสกัดกั้นขีปนาวุธที่โจมตีทางอากาศอย่างระบบ Iron Dome ในยูเครน เพื่อยกระดับความสามารถของยูเครนในการต่อสู้กับรัสเซีย ที่ปัจจุบันกำลังแข็งกร้าวขึ้นอย่างมาก โดยมีรายงานว่ารัสเซียใช้ขีปนาวุธและอากาศยานไร้คนขับโจมตีเมืองและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของยูเครนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ทุกฝ่ายขยับ focus การให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนไปที่ “การปกป้องน่านฟ้า” และ “ป้องกันภัยคุกคามทางอากาศ”
สถานการณ์ด้านความมั่นคงในยูเครนน่าห่วงกังวลมากขึ้น แม้ว่าเมื่อห้วงกันยายน 2565 จะมีรายงานว่ายูเครนเริ่มยึดคืนพื้นที่จากรัสเซียได้แล้ว แต่เมื่อ 10 -11 ตุลาคม 2565 มีรายงานว่า รัสเซียได้เพิ่มปฏิบัติการพิเศษทางการทหารต่อยูเครน เพื่อตอบโต้ที่ยูเครนโจมตีสะพานเชื่อมรัสเซีย-ไครเมีย รัสเซียจึงใช้การยิงขีปนาวุธระดมโจมตี ทั้งกรุงเคียฟที่เป็นเมืองหลวง และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น โรงไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคม
ถ้าถามว่าการโจมตีครั้งนี้รุนแรงแค่ไหน ก็ตอบได้ว่า…แรงพอที่จะทำให้จีนและอินเดียออกมาแสดงความห่วงกังวล ทั้ง ๆ ที่ 2 ประเทศระมัดระวังการวิจารณ์รัสเซียประเด็นนี้มาโดยตลอด ขณะที่กลุ่ม G7 ที่สมาชิกประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ก็จัดการประชุมในวาระฉุกเฉินทันที โดยให้ผู้นำยูเครนเข้าร่วมด้วย ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า กลุ่ม G7 จะเพิ่มมาตรการกดดันรัสเซียอีก และจะเพิ่มความช่วยเหลือแก่ยูเครนเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประเทศตะวันตกจะเพิ่มความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนมากขึ้น โดยเน้นไปที่การเสริมสร้างขีดความสามารถของยูเครนด้านการป้องกันภัยทางอากาศ หลังจากที่เห็นว่ารัสเซียเริ่มเปลี่ยน tactic หรือยุทธวิธีในการโจมตียูเครนในระยะนี้ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้มีขึ้นทันทีตั้งแต่รัสเซียเปลี่ยนตัวนายพลที่บังคับบัญชาการปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อต้นตุลาคม 2565 ไปเป็น พลเอก Sergey Surovikin ผู้มีฉายาว่า General Armageddon และเคยเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรียมาก่อน
……..จึงดูเหมือนว่าต่อจากนี้ไป ยูเครนจะเจอศึกหนักมากกว่าเดิม เห็นได้จากการที่ยังมีรายงานอย่างต่อเนื่องว่ารัสเซียใช้ขีปนาวุธโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในยูเครน รวมทั้งโรงเก็บอาวุธด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ยูเครนอาจได้รับการสนับสนุนยุทโธปกรณ์เพื่อต่อสู้กับรัสเซียทางบกและทางทะเล แต่ยังไม่มีการป้องกันภัยทางอากาศที่มากพอจะต่อต้านขีปนาวุธ และโดรนของรัสเซีย
ปัจจุบันสมาชิกเนโตมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากที่สุดที่แสดงออกว่าต้องการช่วยเหลือยูเครน โดยเมื่อ 13 ตุลาคม 2565 สมาชิกเนโตอย่างน้อย 15 ประเทศร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมโครงการของเยอรมนีที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศและสกัดกั้นขีปนาวุธให้ยูเครน เพื่อรับมือกับรัสเซียโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ประเทศตะวันตกยังเร่งส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศรูปแบบต่าง ๆ ให้ยูเครนแบบทวิภาคีด้วย เช่น เยอรมนีส่งระบบ InfraRed Imaging System Tail หรือ IRIS-T ให้แล้ว ขณะที่สหรัฐอเมริกาจะส่งระบบ NASAMS และฝรั่งเศสจะส่งระบบป้องกันให้ยูเครนเช่นกัน
ดูเหมือนว่าจะมีความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนมากขึ้นในห้วงนี้ แต่คำถามสำคัญอีกประเด็น คือ ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ประเทศตะวันตกส่งให้ยูเครนในตอนนี้..จะมาทันเวลาหรือไม่ เพราะรัสเซียที่มีนายพล Armageddon คนนี้ก็กำลังเร่งเพิ่มกองกำลังรบทุกทางเพื่อให้สามารถเอาชนะในปฏิบัติการครั้งนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่สมรภูมิทั้งหมดกำลังจะเคลื่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเร่งให้รัสเซียต้องรีบเร่ง ไม่เช่นนั้นอาจเสียเปรียบยูเครนเพราะไม่สามารถส่งกองกำลังสนับสนุนได้ง่ายเท่าที่ผ่านมา
นอกจากนี้ อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญ คือ ระบบที่ส่งมามีประสิทธิภาพมากพอที่จะต้านทานขีปนาวุธและโดรนติดอาวุธจากรัสเซียได้หรือไม่?? เพราะประเทศตะวันตกเองก็มีความกังวลในการส่งระบบป้องกันขีปนาวุธไปยังพื้นที่สู้รบเช่นกัน เนื่องจากว่า อาวุธที่มีเทคโนโลยีระดับสูงแบบนี้ ถ้าส่งไปอยู่ในพื้นที่สงคราม ก็เสี่ยงที่จะตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามได้ นอกจากนี้ การใช้ระบบดังกล่าวให้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องมีการฝึกอบรม เท่ากับว่าประเทศตะวันตกจะต้องส่งทหารเข้าไปช่วยเหลือด้วย …ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายโจมตี
นอกจากเรื่องคุณภาพของระบบป้องกันภัย อีกเรื่องที่สำคัญ คือ “จำนวน”…มีการประเมินในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันยูเครนมีขีปนาวุธและเริ่มมีระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มากพอสำหรับป้องกันคลังอาวุธ ศูนย์ควบคุมและปฏิบัติการทางการทหาร และยุทโธปกรณ์สำคัญ ๆ ได้ แต่ว่าจำนวนที่มีนั้นยังไม่มากพอที่จะปกป้องโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ทั้งด้านการคมนาคมและพลังงาน รวมทั้งปกป้องพลเรือนจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย ดังนั้น ดูเหมือนว่าถ้ารัสเซียยังไม่เปลี่ยนยุทธวิธีโจมตี ยูเครนน่าจะยังต้องการความช่วยเหลือด้านการทหารอีกมาก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ นอกจากการทหาร
นอกเหนือจากประเทศตะวันตก หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศประสิทธิภาพสูงอย่าง Iron Dome ให้ยูเครนได้หรือไม่ …ซึ่งคำตอบ คือ ยังเป็นไปได้ยาก เพราะอิสราเอลยังไม่ตอบรับคำขอซื้อระบบดังกล่าวจากยูเครน เพราะอาจต้องการรักษาระดับความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่ทว่าเรื่องนี้มีตัวแปรสำคัญอย่างบทบาทของอิหร่านในสถานการณ์นี้อยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเปลี่ยนใจอิสราเอลให้กลับมาทบทวนใหม่ว่าจะขายระบบ Iron Dome ให้ยูเครนดีไหม เพราะมีข่าวสารว่า อิหร่านเองก็ขายโดรนติดอาวุธให้รัสเซียเช่นกัน ดังนั้น เรื่องที่ประเทศตะวันตกประกาศบ่อย ๆ ว่า อิหร่านส่งโดรนติดอาวุธให้รัสเซียใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้ อาจเป็นประโยชน์ในการโน้มน้าวอิสราเอลให้ยอมขาย Iron Dome ให้ยูเครนไว ๆ
สถานการณ์ยูเครนในตอนนี้เหมือนต่างฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการสู้รบแบบ Cross Domain Operations หรือการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพหลาย ๆ มิติ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว คือ การพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพยูเครนที่มีความคุ้นเคยกับระบบป้องกันภัยทางอากาศมากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ความขัดแย้งครั้งนี้ยังไม่มีวี่แววการเจรจาเพื่อยุติการสู้รบ ดังนั้น การแข่งกับเวลาในตอนนี้อาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะฝ่ายยูเครน หรือรัสเซีย
——————————————————————-