สงครามที่ทำให้โลกขาดแคลนแป้งสาลีและการส่งออกน้ำมัน ซ้ำยังเผชิญการชะงักงันของแหล่งผลิตจากนโยบาย zero covid ของจีน เศรษฐกิจทั่วโลกที่ฝืดเคือง ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบในการทำอาหาร เพราะไม่สามารถเพาะปลูกได้เนื่องจากสภาพอากาศหรือแรงงานก็ตาม ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนเริ่มลดการบริโภคอาหาร อดมื้อกินมื้อ เนื่องจากราคาอาหารที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาวะสงครามและภาวะเศรษฐกิจที่กำลังมุ่งเข้าสู่ความถดถอยและเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ตลอดจนการขาดแคลนวัตถุดิบที่เกิดจากการกีดกันทางการค้าเพื่อกดดันรัสเซียของกลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดความกังวลต่อการดำรงชีวิตของประขาชน จนหลายครอบครัวเริ่มที่จะรัดเข็มขัด ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงลดมื้ออาหารลงแล้วด้วย สำนักข่าวอังกฤษรายงานว่าชาวอังกฤษ 1 ใน 4 เริ่มลดอาหารหรืออดมื้อกินมื้อ ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เท่ากับปกติ
จริงๆ แล้วการจำกัดการรับประทานอาหารอาจเป็นแนวทางที่ดีต่อสุขภาพก็เป็นได้ !! ที่ผ่านมา ผู้ที่รับประทานอาหาร 1-2 มื้อต่อวันในปัจจุบันส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มที่ลดน้ำหนักหรือกลุ่มที่ต้องการดูแลสุขภาพ ทั้งการทำแบบชั่วคราวระยะสั้นๆ เพื่อให้ถึงเป้าหมายน้ำหนักที่พวกเขาต้องการหรือทำระยะยาวตลอดชีวิต เนื่องจากเห็นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการควบคุมเวลาในรับประทานอาหารที่รู้จักกันในชื่อการทำ “อีฟ” (Intermittent Fasting – IF) เป็นการจำกัดเวลาในการรับประทานอาหารและอดอาหารตามจำนวนชั่วโมง
IF มีหลายรูปแบบตั้งแต่ 12-12 4-20 8-16 เป็นต้น นั่นหมายถึงการบริโภคอาหารได้ภายในเวลา 8 ชั่วโมง (ครอบคลุมจำนวน 1-2 มื้อ) และอดอาหาร 16 ชั่วโมง (สามารถดื่มน้ำได้) เป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ได้ผลและเป็นที่นิยม สามารถลดน้ำหนักได้ 4 กิโลกรัม ภายในเวลา 2 สัปดาห์ และปรับวิธีการรับประทานอาหารเป็นอย่างนั้นไปตลอดเพื่อรักษาสุขภาพ
ไม่ใช่เพียงแค่รูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป แต่มีรายงานวิจัยหลายแห่งระบุว่า การอดอาหารยังช่วยให้สุขภาพดีขึ้น ไม่ต่างจากต้นไม้ที่ออกดอกออกผลเมื่อถูกตัดกิ่ง เด็ดใบ เมื่อร่างกายเผชิญคำว่า “หิว” ซึ่งแสดงถึงการอยู่ในภาวะ “ลำบาก” นั่นคือการต้องเอาชีวิตรอด ซึ่งเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ร่างกายจะกระตุ้นการทำงานของยีนเซอร์ทูอิน (Sirtuin) ทำให้ร่างกายฟื้นฟูแข็งแรงขึ้นและมีโอกาสที่จะอยู่รอดมากขึ้น
ในทางตรงกันข้ามหากอยู่ในภาวะที่สบาย มีอาหารให้กินอย่างอุดมสมบูรณ์ ร่างกายจะขาดทักษะในการเอาตัวรอด จนมีข้อมูลสันนิษฐานว่า “เมื่อร่างกายไม่จำเป็นต้องออกล่า จะปิดอวัยวะในส่วนที่ไม่จำเป็นออก ………” ถือเป็นการปรับตัวของร่างกายให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามความเป็นอยู่ และจะถูกบันทึกไปยังพันธุกรรมส่งต่อไปเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดกับคำว่า “วิวัฒนาการ”
ร่างกายที่ใช้งานมากก็จะสลายไปเร็วขึ้น ในขณะที่สัตว์บางชนิด เช่น กบหรือหมี ใช้การจำศีลเพื่อรอดผ่านฤดูหนาวที่ขาดแคลนอาหารได้ ดังนั้น ร่างกายที่ต้องทำงานในการเผาผลาญทุกวันวันละ 3 มื้อ ก็จะใช้งานหนักกว่าคนที่รับประทานอาหารวันละ 1-2 มื้อ ร่างกายจะทำงานน้อยกว่า เสมือนการยืดระยะเวลาในการใช้อายุขัยให้ช้าลง การทำงานของร่างกายที่ช้าลง ก็จะทำให้อายุยาวนานขึ้น และดูอ่อนกว่าวัยอีกด้วย
อย่างไรก็ดี แม้การอดอาหารนั้นจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือทำให้เรายินดีที่จะ “หิว” ต่อไป และพลิกวิกฤตเพื่อให้ผ่านช่วงที่วัตถุดิบราคาแพงไปได้ แต่นี่คงไม่ใช่ทางออกในการ…….แก้ปัญหาความขาดแคลนอาหารที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน รวมทั้งนี่ไม่ใช่การบอกว่าทุกคนควรอดอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะแน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีข้อจำกัดและสภาวะร่างกายที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ…… ผู้บริโภคควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพโดยง่าย และเป็นผู้เลือกการบริโภคให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายมากกว่า
………..การเพาะปลูกและส่งออกอาหารไปทั่วโลกยังควรดำเนินการต่อไป เพื่อป้อนอาหารให้กับมนุษย์ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มิเช่นนั้น ความหิวนี้ก็อาจจะเป็นจุดก่อเกิดของความขัดแย้งที่รุนแรงมากกว่าสงครามแย่งชิงอาณาเขตกันก็ได้
————————————————————