การทำสงคราม หรือ warfare ระหว่างมนุษย์มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่ทำให้การทำสงครามมีการเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงด้านเครื่องมือ อาวุธ และวิธีการที่มนุษย์ใช้เพื่อเอาชนะในสงครามแต่ละครั้งที่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากผู้ที่ต้องการเอาชนะย่อมมองหาเครื่องมือ อาวุธ และวิธีการที่ดีที่สุดในการชิงความได้เปรียบ และลดความเสี่ยงที่จะแพ้ในสงคราม
ตามที่นักรบและนักคิดอย่าง Carl von Clausewitz นักการทหารรัฐศาสตร์ปรัสเซีย–เยอรมนีผู้เขียนหนังสือเรื่อง “On War” ซึ่งเป็นต้นแบบของแนวคิดในการทำสงครามปัจจุบัน กล่าวไว้ว่า “สงคราม” คือ เครื่องมือทางการเมือง (เท่ากับว่าการเมืองนำการทหารเสมอ) ที่ใช้กำลังบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามยอมจำนนและเพื่อให้ฝ่ายที่ชนะสามารถดำเนินนโยบายได้ เมื่อไม่สามารถใช้เครื่องมืออื่น ๆ ได้แล้ว นอกจากนี้ เมื่อลงมือทำสงครามแล้ว ย่อมต้องทำทุกวิธีเพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเท่านั้น ดังนั้น การเอาชนะในสงครามไม่ได้จำกัดแค่การใช้อาวุธหรือเครื่องมือที่เป็นรูปธรรม แต่ต้องรวมถึงการใช้วิธีทางจิตวิทยาสังคม และความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการของตนเป็นฝ่ายถูกต้องด้วย
แม้ในระยะต่อมาจะมีแนวคิดต่อต้านการทำสงคราม หรือ Pacificism รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศที่มุ่งหน้าสู่การปลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือยุติสงคราม แต่สถานการณ์โลกในปัจจุบันก็สะท้อนชัดเจนแล้วว่า “การทำสงคราม” ยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สังคมต่าง ๆ ใช้ต่อกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง …เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์รัสเซีย–ยูเครนในปี 2565 แม้รัสเซียจะยืนยันว่านี่คือปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร และการปลดปล่อยประชาชนในพื้นที่ของยูเครน แต่ประเทศตะวันตกต่างเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่า…สงคราม
ในระยะหลังมีการพูดถึงการทำสงครามรูปแบบใหม่ ๆ ที่ผสมผสานเครื่องมือและวิธีการในเอาชนะฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Hybrid Warfare หรือสงครามผสมผสาน ที่ใช้ทั้งแนวทางและเครื่องมือการทำสงครามตามแบบ (Conventional/Regular Warfare) ร่วมกับเทคนิคจากสงครามนอกแบบ (Unconventional/Irregular Warfare) เพื่อเอาชนะในสงคราม เท่ากับว่าจะมีการใช้พลังอำนาจของรัฐทุกแบบเพื่อสร้างความได้เปรียบ นอกจากนี้ ยังมีสงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) ที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ เมื่อพูดถึงกองกำลังของกลุ่มก่อการร้ายหรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor)
จะเห็นได้ว่า ชื่อเรียก หลักนิยม และรูปแบบการทำสงครามในแต่ละยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยการพัฒนาวิทยาการและนวัตกรรมต่าง ๆ มีส่วนอย่างมากที่ทำให้รูปแบบการทำสงครามปรับเปลี่ยน เช่นในยุคนี้ ที่มีการใช้อาวุธได้โดยปราศจากการควบคุมโดยตรงจากมนุษย์ อย่างอากาศยานไร้คนขับ (Drone) หุ่นยนต์สังหาร หรือ อาวุธอัตโนมัติ (lethal autonomous weapons systems) รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ในการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อเอาชนะในสงครามจิตวิทยา
ปัจจุบันมีรูปแบบการทำสงครามที่นักวิชาการ 2 คน ได้แก่ Andreas Krieg และ Jean-Marc Rickli ใช้อธิบายการทำสงครามในศตวรรษที่ 21 โดยมีชื่อว่า “Surrogate Warfare” หรือการทำสงครามที่มนุษย์มีเทคโนโลยีเป็นตัวแทนในการดำเนินการ…เพื่อลดผลกระทบจากการทำสงคราม หรือ cost of war
นึกภาพง่าย ๆ อย่างเช่นการที่รัฐบาลประเทศ A ใช้ระบบ AI ในการวางแผนและควบคุมอาวุธที่ใช้โจมตีในประเทศ B หรือการใช้โดรนอัตโนมัติเพื่อโจมตีพื้นที่ศัตรู สำหรับสิ่งที่ทำให้ Surrogate Warfare แตกต่างจากสงครามตัวแทน (Proxy War) และการใช้ทหารรับจ้าง (mercenary) ก็คือ การพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่าในระดับที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ แต่ก็ยังมีความเหมือนกัน คือ ในการทำสงครามรูปแบบนี้จะมีผู้อุปถัมภ์ (patron) และตัวแทน (surrogate) โดยตัวแทนนี้จะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังติดอาวุธ อาวุธที่ทันสมัยในแต่ละยุคสมัย อย่างอาวุธที่ติดระบบไร้คนควบคุม (unmanned) และเทคโนโลยีที่คิดแทนมนุษย์ได้อย่าง AI
Andreas Krieg และ Jean-Marc Rickli เสนอแนวคิดดังกล่าวไว้เมื่อปี 2562 โดยอธิบายปรากฏการณ์ที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อปฏิบัติการด้านการทหารและปฏิบัติการในสงครามข่าวสารมากขึ้น เป้าหมายเพื่อลดผลกระทบโดยตรงจากการส่งมนุษย์ไปทำสงคราม หรือใช้ทรัพยากรของตัวเองในการทำสงคราม พร้อมกับได้ตั้งคำถามถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่ยังไม่มีเกณฑ์อะไรสามารถควบคุมรัฐในการทำสงครามรูปแบบนี้ รวมทั้งขยายคำถามไปถึงความชอบธรรมของ AI ที่จะไปตัดสินใจในการสู้รบได้
… แม้ว่า Surrogate Warfare จะยังมีประเด็นที่ต้องศึกษาและอธิบายอีกมาก แต่เราคิดว่านี่เป็นแนวคิดที่ทันสมัย เพราะแนวคิดของเขาทั้ง 2 คนดูเหมือนว่าจะสามารถนำไปใช้ในการอธิบายความขัดแย้งและรูปแบบการทำสงครามในปัจจุบันและอนาคตได้มากขึ้น
หากมนุษย์ยังเห็นว่า “การทำสงคราม” เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแสวงหาความได้เปรียบในสังคม ก็จะทำให้พัฒนาการรูปแบบการทำสงครามเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ และดูเหมือนว่าการพัฒนาเทคโนโลยีก็จะเป็นอีก 1 ปัจจัยเร่งให้เกิดการทำสงครามรูปแบบใหม่ ๆ
…แต่ที่เราอยากเห็นเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะ shape พฤติกรรมของมนุษย์โลกมากขึ้น ก็คือ การที่จะมีนักคิด นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์สาย anti-war ร่วมมือกันคิดค้นแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสันติได้บ้างหรือไม่ เพื่อไม่ให้การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ กลายเป็นเครื่องมือให้มนุษย์ใช้ในการสงครามเพียงอย่างเดียว
————————————————————-