“มูเตลู” หรือ “สายมู” เป็นคำที่เราพบเห็นกันอย่างแพร่หลายในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นศัพท์ที่นำมาใช้แทนที่คำว่า “ไสยศาสตร์” ทั้งความเชื่อเรื่องลี้ลับ โหราศาสตร์ การดูดวงทุกรูปแบบ ความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเวทสายดำหรือขาว เหล่านี้ล้วนถือว่าเป็นการมูเตลูทั้งสิ้น
แต่คำว่ามูเตลูนั้นไม่ได้มาจากรากศัพท์โบราณแต่อย่างใด ที่มาของคำ ๆ นี้กลับมาจากภาพยนตร์สัญชาติอินโดนีเซีย เรื่อง “Penangkal Ilmu Teluh” หรือในชื่อภาษาไทย “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์” (2522) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาว 2 คนที่แข่งกันทำเสน่ห์ใส่ผู้ชาย โดยที่คำว่า “มูเตลู มูเตลู” เป็นคำที่ใช้ในคาถาอาคมของ 2 สาวนี้นั่นเอง
ที่จริงแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลก หากคำว่ามูเตลูนี้จะมาจากภาพยนตร์ เพราะในสื่อภาพยนตร์นั้นก็มักเต็มไปด้วยเหล่าตัวละครสายมูจำพวกพ่อมด-แม่มด นักเวท ที่โด่งดังมากมาย เช่น เหล่าพ่อมด-แม่มดวัยรุ่นจากแฟรนไชส์ Harry Potter กลุ่มนักเวทสายบู๊จากการ์ตูนดังแดนปลาดิบ Fairy Tail ยิ่งถ้าเป็นตัวละครผู้ใช้เวทมนต์ไม่กี่คนในเรื่อง ความโดดเด่นของ Character จะเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ อาทิเช่น พ่อมด Gandalf จากแฟรนไชส์ The Lord of the Rings สายซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Doctor Strange จากจักรวาล MCU หรือล่าสุดที่เปิดตัวไปอีกคนกับจักรวาล DCEU นั่นคือตัวละคร Doctor Fate (รับบทโดย Pierce Brosnan) จากเรื่อง Black Adam (2565) ซึ่งตัวละคร Doctor Fate แทบจะได้รับคำชมเป็นเอกฉันท์ นั่นอาจจะเป็นเพราะการแสดงของรุ่นใหญ่แห่ง Hollywood อย่างตัว Pierce Brosnan เองด้วย …เท่ากับว่าตัวนักแสดงได้ตีบทนักเวทของตัวละครนี้แตก ทำให้ผู้ชมได้รู้สึกตื่นเต้นประทับใจกับเวทมนต์อันแพรวพราวก็เป็นได้
ภาพลักษณ์ของผู้ใช้เวทมนต์ในสื่อบันเทิงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เราแทบจะไม่เห็นลักษณะ Character ของหญิงแก่หน้าตาน่ากลัว ใส่หมวกปลายแหลม แต่งตัวโทนดำ ขี่ไม้กวาดไปสาปแช่งคนนู้นคนนี้อีกต่อไป แต่เราจะได้เห็นเด็กหนุ่มอย่าง Harry Potter ที่แค่ถือไม้กายสิทธิ์ก็นับว่าเป็นพ่อมดแล้ว ยิ่งหากคุณมีความคุ้นเคยกับการ์ตูนหรือเกมแนวแฟนตาซีของทางญี่ปุ่น ซึ่งเหมือนเป็นสูตรสำเร็จที่จะต้องเว้นที่ว่างของสายมูในกลุ่มตัวเอกไว้ 1 อัตรา คุณจะได้พบกับตัวละครวัยรุ่นชาย-หญิงหน้าตาดี แต่งตัวแบบคอสเพลย์อลังการ จนอาจะแยกไม่ออกเลยว่าตกลงนี่คือบอยแบนด์หรือนักเวท แสดงให้เห็นว่าความนิยมในไสยศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องเวทมนต์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยตกเทรนด์ของโลกเลย ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขนาดไหน มูเตลูก็ยังคงมีเสน่ห์ตรงความลี้ลับที่ทำให้มนุษย์เราอยากค้นหา
ถ้าหากพูดถึงสายมู ความเห็นของคนในสังคมไทยมักจะมองว่าไทยนี่แหละ ขึ้นชื่อเรื่องการมูเตลูที่สุดในโลกแล้ว (ซึ่งก็อาจจะถูก) เนื่องจากเรามีพิธีกรรมการมูเตลูที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์มากมาย ยากจะหาชาติใดในโลกเสมอเหมือน เช่น ผ้าสีมากมายที่พันอยู่รอบต้นไทร การบูชาสัตว์หลายหัว หลายขา หลายหาง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นแค่สัตว์ที่มีความผิดแปลกด้านพันธุกรรม เป็นต้น
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนและนักวิชาการผู้ก่อตั้งวารสารศิลปวัฒนธรรม ได้เคยนำเสนอว่าความเชื่อหลายส่วนของคนไทยเรานั้นมีอิทธิพลจากศาสนาผี ดังที่เคยกล่าวไว้ในกิจกรรมเสวนา “ศาสนาผี หลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน” ว่า “ทุกวันนี้คนบอกว่านับถือศาสนาพุทธ ไม่นับถือศาสนาผี แต่พฤติกรรมจริง ๆ เนี่ย ผีทั้งหมด หรือผีปนพุทธ ปนพราหมณ์”
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ยังได้ขยายความลักษณะของศาสนาผีเอาไว้อีกด้วยว่า “ผีเป็นผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดขึ้นมาจากการกระทำของผี” แต่ที่คนในปัจจุบันส่วนใหญ่ปฏิเสธ อาจเป็นเพราะมันขัดกับหลักของศาสนาที่ตนนับถือ และบางทีอาจทำไปเพราะตัวความเชื่อมันหลอมรวมกัน เนื่องจากผ่านกาลเวลามายาวนานแล้ว เมื่อลองพิจารณาดู ศาสนาผีนั้นไม่น่าใช่เรื่องแปลก สำหรับคนในยุคที่ยังไม่เกิดศาสนาหลัก ๆ ที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก เช่น พุทธ คริสต์ หรืออิสลาม มันคือชุดความเชื่อแรกสุดที่มนุษย์แทบทั่วโลกนับถือกัน
ตัวอย่างของพิธีกรรมที่มีรากมาจากศาสนาผีก็คือเหล่าร่างทรง (Shamanism) ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่ไทย ชาแมนเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น เม็กซิโก ไซบีเรีย มองโกเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เฮติ โดยส่วนมากเป็นพิธีกรรมจากชนเผ่าพื้นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน การเล่นคุณไสยมนต์ดำจำพวก Black Magic เองก็สามารถพบได้จากพิธีกรรมของวูดู อันเป็นต้นกำเนิดของเรื่องเหล่าซอมบี้ หรือถ้าหากบ้านเรามียันต์ 9 ยอด สักไว้บนแผ่นหลังเผื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน ความเชื่อของชาวนอร์ดิกก็มียันต์อักษรรูนส์ ที่มีไว้ปกป้องจากสิ่งชั่วร้ายเช่นกัน แม้แต่ประเภทของการดูดวงก็มีอยู่หลากหลาย ตำราไทยอาจจะเป็นการนำวันเดือนปีเกิดมาผูกดวงบนกระดานชนวน ชาวยิปซีก็ใช้การทำนายไพ่ทาโรต์ หรือถ้าเป็นซินแสของจีนก็จะใช้การดูโหงวเฮ้งบนใบหน้า กล่าวคือตัวพิธีกรรมอาจจะมีความแตกต่างกันด้วยวัฒนธรรม แต่อย่างไรเสีย จุดประสงค์ในการมูล้วนแล้วคล้าย ๆ กัน
กรณีที่น่าสนใจคือ ถ้าสายมูได้โคจรมาเจอกับผู้ที่ไม่เชื่อ เกิดการโต้เถียงกันด้วยหลักการทางไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ วลีไม้ตายที่สายมูมีไว้จบบทสนทนาทุกอย่างคือ “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่” แน่นอนว่าการลบหลู่ความเชื่อกันก็ไม่ใช่สิ่งที่ควร เพราะการเลือกจะเชื่อในสิ่งใดเป็นสิทธิส่วนบุคคล……… แต่ถ้าหากว่าคู่กรณีของเหล่าสายมูแค่ตั้งคำถามในอีกแง่มุมหนึ่งทางวิทยาศาสตร์ล่ะ? แล้วการที่นำความเชื่อโบราณไปแต่งเติมเป็นนิยาย การ์ตูน หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ สายมูจะถือว่าเป็นการลบหลู่หรือไม่?
ความลี้ลับของไสยศาสตร์ที่กลายเป็นตำนาน เป็นเรื่องราวปรัมปรา มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามีองค์ประกอบน่าสนใจ ต่อยอดจินตนาการให้ออกมาแฟนตาซีได้มากมาย ตัวอย่างเช่น การ์ตูนเรื่อง Shaman King ที่แต่งโดยอาจารย์ Hiroyuki Takei ซึ่งมีการตีความ ออกแบบวิญญาณเทพเจ้าที่มาสิงสู่ตามความเชื่อดั้งเดิมให้ออกมาในลักษณะของหุ่นยนต์ หรือเรื่อง Bleach ของอาจารย์ Tite Kubo ที่เขียนเกี่ยวกับยมทูตและโลกวิญญาณ ถ้าหากการตีความที่แตกต่างจากความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นการลบหลู่ในมาตรฐานเดียวกัน สื่อบันเทิงเหล่านี้ก็คงถูกเซ็นเซอร์จากทั่วโลกจนไม่อาจโด่งดังได้ หรือสายมูอาจจะเลือกตราหน้าแค่เฉพาะการไปจี้จุดในสิ่งที่ตนเชื่อหรือเปล่า?
การที่คำว่ามูเตลูมาแทนที่คำว่าไสยศาสตร์ได้ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมันขยายตัวเพราะโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ว่าสิ่งนี้จะเป็นแค่ค่านิยมของคนรุ่นเก่า ในปัจจุบันนั้นมี Influencer, Content Creator ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก นำเสนอการไปไหว้ ไปบูชาสิ่งที่พวกเขานับถือตามที่ต่าง ๆ แล้วผลของการนำเสนอ Content เหล่านั้นก็กลายเป็นการเผยแพร่ความเชื่อไปในตัว ชนิดที่ว่าไม่ต้องทำช่องเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังเป็นหลัก ก็ยังสามารถกลายเป็น Idol ที่เหมือนสัญลักษณ์ของเรื่องราวในสายนี้ได้ มันจึงเกิดคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจศาสตร์การมูเตลูอยู่ไม่น้อย
ในทางกลับกัน ถ้าคนที่สงสัย ตั้งคำถามกับพิธีกรรมมูเตลูต่าง ๆ แล้วถูกชี้หน้าว่าลบหลู่ อีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไสยศาสตร์แบบหัวชนฝา ก็จะมีมุมมองต่อเหล่าสายมูว่าเป็นพวก “งมงาย” ซึ่งในจุดนี้ก็คงยังด่วนสรุปไม่ได้ว่าสังคมเต็มไปด้วยความงมงาย 100% …คนที่ชอบการดูดวงแบบขำ ๆ หรือเลือกจะรับฟังแค่หมอดูทักบางอย่างให้ระวังตัว เสริมความไม่ประมาทในชีวิตก็มี …..คนที่ให้น้ำหนักกับทั้งวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ควบคู่กันก็มี …..ส่วนพวกหลอกลวงต้มตุ๋น หากินกับความศรัทธาของผู้คน หลอกให้เขาหลงงมงายเพื่อผลประโยชน์ คนแบบนี้น่าจะอันตรายกว่าคนที่งมงายเสียอีก
อีกแง่หนึ่งที่ควรจะขบคิดกันก็คือ สังคมที่ทำให้คนจำนวนมากต้องไปหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะหมดหวังกับคุณภาพชีวิตของตนเอง สังคมแบบนี้เรียกได้ว่าท้อแท้ สิ้นหวัง….จนต้องผลักภาระไปให้กับการมูเตลูหรือไม่?
อีกประเด็นไสยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์เป็น 2 สิ่งที่ตรงข้าม แต่สุดท้ายแล้วมันก็ยังคงอยู่คู่กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ใครจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อแบบใดก็ไม่ใช่เรื่องผิด คนที่เชื่อก็อย่าเพิ่งไปตั้งแง่กับคำถามของคนไม่เชื่อว่าเป็นการลบหลู่ เพราะคุณอาจจะได้เห็นแง่มุมใหม่ ๆ ก็เป็นได้ ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าสายมูผู้นั้นเชื่อจนงมงาย(เป็น Idiot )
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์แขนงใด ทั้ง 2 ล้วนมีที่มาจากความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ เหตุผลทางวิทยาศาสตร์หลายเรื่องก็เกิดขึ้นมาเพื่อจะพิสูจน์ความเชื่อ ไสยศาสตร์บางเรื่องก็อาจจะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกุศโลบาย เป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเชื่อในสิ่งใดก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องอยู่กับ “ความเป็นจริง”
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/horoscope/belief/2355760
https://majorcineplex.com/news/pierce-dr-fate-blackadam
https://www.wongnai.com/articles/superstitions-around-the-world
https://thematter.co/social/animism-in-thailand-specialtalk/187213
https://thematter.co/social/young-thai-and-mutelu/181331
https://entertainment.trueid.net/detail/ArGGByBEgPqr
https://www.flashfly.net/wp/404366