สหรัฐอเมริกากำลังจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป กลางสมัย (midterm election) ใน 8 พ.ย.65 เพื่อคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จำนวน 435 ตำแหน่ง และสมาชิกวุฒิสภาอีก 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด หรือประมาณ 33 คน จาก 100 คน ดังนั้น …การหาเสียงของนักการเมืองสหรัฐฯ จึงเข้มข้นตลอดปี 2565 เพื่อช่วงชิงคะแนนโหวตจากชาวอเมริกันที่มีสิทธิเลือกตั้ง
ความสำคัญของการเลือกตั้งกลางสมัยครั้งนี้ คือ จะเป็นบททดสอบสำคัญของรัฐบาลประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนว่าจะสามารถพิสูจน์ฝีมือ สร้างความนิยม และทำให้พรรคเดโมแครตยังสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ (ปัจจุบันคะแนนเสียงต่างกันเพียง 220 ต่อ 212 เสียง) รวมทั้งเอาชนะพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา (ปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ 50 ต่อ 48 เสียง) เพื่อให้การดำเนินนโยบายและบริหารในอีก 2 ปีข้างหน้าที่รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนจะยังเป็นหัวหน้ารัฐบาลนั้นราบรื่นมากกว่าที่ผ่านมา
การเลือกตั้งครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่น้อย ๆ 3 เรื่อง
เรื่องแรก …การเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ภายในประเทศของสหรัฐฯ เผชิญความท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะกระแสความนิยมทางการเมืองของประธานาธิบดีไบเดนและพรรคเดโมแครตที่ไม่ได้อยู่ในทิศทางที่ดีนัก เนื่องจากชาวอเมริกันมองว่ารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังเผชิญการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซ้ำเติมด้วยปัญหาเงินเฟ้อ และราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้อพยพ รวมทั้งปัญหาความรุนแรงในสังคมอเมริกันที่ยังมีอาชญากรรม กระแสนิยมความรุนแรงสุดโต่ง และเหตุกราดยิงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุกราดยิงแต่ละครั้งก็บ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันเผชิญแรงกดดันทางสังคมสูงขึ้นและกลายเป็นกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดการแสดงออกแบบหัวรุนแรง ทำให้หน่วยความมั่นคงและรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเผชิญ Dilemma เรื่องสิทธิครอบครองปืนกันเป็นระยะ ๆ
เรื่องที่สอง… ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯ อาจยังไม่สามารถใช้ผลงานที่ดำเนินนโยบายในต่างประเทศมาเป็นจุดแข็งในการหาเสียงและเป็นข้อได้เปรียบในการสร้างความนิยมทางการเมืองได้มากพอ แม้ว่าประธานาธิบดีไบเดนกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะเร่งฟื้นฟูบทบาทผู้นำโลกของสหรัฐฯ หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ดำเนินนโยบาย America First ตัวประธานาธิบดีไบเดนก็เหมือนต้องเล่นบทใหม่โดยส่งเสริม American Leadership มากขึ้น แต่…เพราะปัญหาความมั่นคงและความท้าทายในปัจจุบันเป็นประเด็น cross border ซับซ้อนและคาดการณ์ยากจนสหรัฐฯ แทบจะรับมือไม่ไหว และก็ต้องยอมรับว่า แต่ละประเทศเค้าก็มีแนวทางของตัวเองในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ทำให้ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา การจะเร่งสร้าง American Leadership ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนเดิมอีกต่อไป ประธานาธิบดีไบเดนจึงเผชิญความท้าทายอย่างมาก ทั้งเพื่อพิสูจน์ตัวเองในเวทีระหว่างประเทศ และพิสูจน์ให้ชาวอเมริกันเห็นว่า นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งค่านิยมอเมริกันอย่าง “ประชาธิปไตย” ยังเป็นค่านิยมที่ดีและได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ
ดูเหมือนว่าสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศจะไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้พรรคเดโมแครตได้สร้างผลงานอย่างเต็มที่สักเท่าไหร่ และทั้ง 2 เรื่องคือประเด็นที่น่าจะสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลไบเดนไปในระยะยาวด้วย ไม่ใช่แค่ช่วงเลือกตั้งนี้ เพราะไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ในการชิงตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก แต่ผู้นำรัฐบาลอย่างไบเดนและรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ๆ น่าจะต้องยังอยู่ต่อไป
ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ “ภัยคุกคามต่อการจัดการเลือกตั้งของสหรัฐฯ”
การเลือกตั้งแต่ละครั้งของสหรัฐฯ ถือว่าเป็น event หรือเหตุการณ์ใหญ่ทางการเมืองที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมกันหลายด้าน ทั้งการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้อยู่ในความพร้อม และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์หรือภัยคุกคามที่จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งด้วย โดยในขณะที่นักการเมืองกำลังหาเสียงและลงพื้นที่เพื่อระดมคะแนนนิยมนั้น หน่วยความมั่นคงของสหรัฐฯ ทั้งระดับรัฐและมลรัฐ ได้ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน โดยสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการทำให้บรรยากาศการจัดการเลือกตั้งปลอดภัยเพื่อให้ชาวอเมริกันออกไปใช้สิทธิและลงคะแนนมาก ๆ ให้สมกับที่เป็นประเทศผู้นำด้านประชาธิปไตย…
การเลือกตั้งทั่วไป กลางสมัยในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่น ๆ เพราะจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังเกิดเหตุการบุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 6 มกราคา 2565 โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อการเลือกตั้ง และทำให้ชาวอเมริกันบางส่วน รวมทั้งองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่าง Committee for Safe and Secure Elections ในสหรัฐฯ รู้สึกไม่ปลอดภัยในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพราะกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้าย หากว่ากลุ่มนิยมความรุนแรงสุดโต่งจะก่อเหตุเพื่อขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง จนมีผลสำรวจออกมาว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 1 ใน 5 ตัดสินใจออกจากงานนี้เพราะถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกาย
ที่ผ่านมา …สหรัฐฯ ก็ไม่ได้นิ่งดูดายกับความวิตกกังวลของชาวอเมริกัน และเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เมื่อปี 2564 ได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในคูหาเลือกตั้งแล้ว แต่ว่าการที่ยังมีข่าวสารรายงานต่อเนื่องว่า นักการเมืองอเมริกันตกเป็นเป้าหมายขู่ทำร้ายร่างกายและขู่สังหาร
นอกจากนี้ หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เองก็มีบทบาทสำคัญในการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงและระงับยับยั้งเหตุที่จะไม่เป็นผลดีต่อการเลือกตั้งของประเทศ ทั้งในแง่ “กระบวนการเลือกตั้ง” ที่ควรจะราบรื่น และ “ผลการเลือกตั้ง” ที่จะต้องโปร่งใสและไม่ถูกแทรกแซงจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ มีบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มาแล้วว่า รัฐบาลต่างประเทศใช้ปฏิบัติการทางไซเบอร์และข้อมูลข่าวสารเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้ครั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ อย่าง Cybersecurity and Infrastructure Security Agency (CISA) ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ก็ต้องเพิ่มบทบาทนำเช่นเดียวกัน …ทั้งหมดนี้เพื่อพิสูจน์ให้ชาวอเมริกันและทั่วโลกเห็นว่า สหรัฐฯ สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างปลอดภัย โปร่งใส และน่าเชื่อถือ
…ส่วนผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร พรรครีพับลิกันจะทวงคืนอำนาจบริหารบางส่วนมาจากพรรคเดโมแครตได้หรือไม่ และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศของสหรัฐฯ อีกอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่เราน่าจะได้เห็นความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี 2565 ต่อไป …
————————————————————-