ภาพการจับมือและพบหารือกันเป็นเวลามากกว่า 2 ชั่วโมงของผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำจีน นอกรอบการประชุม G20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย อาจเป็นหมุดหมายสำคัญที่ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 2566 เพราะนอกจากการพบกันดังกล่าวจะเป็นการพบกันแบบ face-to-face ครั้งแรกตั้งแต่ผู้นำสหรัฐฯ รับตำแหน่งแล้ว ยังเป็นการยอมไปพบกันในช่วงที่ความสัมพันธ์กระท่อนกระแท่น เรียกได้ว่ามีความขัดแย้งและเห็นต่างกันหลายประเด็นทั้งเรื่องในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการพบกันหลังจากมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศของทั้งสหรัฐฯ และจีนด้วย นั่นก็คือ การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเพิ่งจะได้กระชับอำนาจทางการเมืองและเป็นผู้นำจีนต่ออีก 1 สมัย ส่วนประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐฯ เพิ่งเอาชนะการเลือกตั้งกลางสมัยได้ในวุฒิสภา ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ แม้ว่าจะแพ้ในสภาผู้แทนราษฎร แต่คะแนนที่ได้มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สะท้อนว่ารัฐบาลไบเดนต่อสู้กับพรรครีพับลิกันได้อย่างสูสี
เรียกได้ว่าเป็นการพบกันครั้งแรก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเกิดขึ้น และยังต้องพยายามไม่ทำให้หลุมบ่อที่ทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – จีนอยู่ในสถานะ “คู่แข่งที่ไม่เชื่อใจกัน” ขยายตัวกว้างขึ้นอีกด้วย
แม้ว่าสื่อส่วนมากจะรายงานถึงการพูดคุยของทั้ง 2 ฝ่ายที่เต็มไปด้วยเรื่องที่สร้างความเสี่ยงจะขยายความขัดแย้งและความแตกต่างระหว่าง 2 มหาอำนาจโลก เช่น เรื่องจุดยืนต่อไต้หวัน สิทธิมนุษยชน และความขัดแย้งทางการค้าของทั้ง 2 ประเทศที่ยังคงไม่คลี่คลายและมีแนวโน้มจะขยายการแข่งขันด้านเทคโนโลยี จากการกีดกันและแย่งกันครอบครองเซมิคอนดักเตอร์ (chip)…ประเด็นเหล่านั้นต้องทำความเข้าใจตามหลักผลประโยชน์แห่งชาติ (national interest) ว่า การที่สหรัฐฯ กับจีนจะผ่อนคลายท่าทีหรือจุดยืนให้กันนี้ คงยาก …เพราะไต้หวันเป็นเรื่องอธิปไตยและความมั่นคง ส่วนการค้าเป็นเรื่องความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเป็นมหาอำนาจโลก และเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯ กับจีนมีมุมมองกันจากคนละด้าน ดังนั้น …ประเด็นพูดคุยทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวก็ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ คือ ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตัวเองและเน้นย้ำให้อีกฝ่ายเห็นว่าจะไม่ผ่อนปรนในเรื่องเหล่านี้
แต่ในอีกมุมหนึ่งของเรื่องราวบทความนี้อยากชวนมองดูผลลัพธ์ในเชิงบวก หรือพัฒนาการที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า สหรัฐฯ กับจีนยังคุยกันได้ และคุยกันได้ดีกว่าที่ต่างฝ่ายต่างคาดการณ์ด้วย จนทำให้สื่อหลายแห่งคาดเดาว่าผลการพบหารือครั้งนี้อาจนำไปสู่ภาวะผ่อนคลายความตึงเครียด หรือ détente
ผลลัพธ์ในเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดจากการพบหารือครั้งนี้ คือ การที่จีนกลับไปฟื้นฟูช่องทางความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และแสดงท่าทีร่วมกับสหรัฐฯ ว่าไม่สนับสนุนการใช้อาวุธนิวเคลียร์แก้ไขปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศด้วย ท่าทีดังกล่าวเป็นการเห็นพ้องต้องกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ท่ามกลางสารพัดเรื่องที่มีมุมมองแตกต่าง
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กับจีนจะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเยือนกันอีกครั้ง โดยที่คณะเจรจาด้านการค้าจะเป็นทีมแรก ๆ ที่ได้คุยกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ทางการค้าที่ก่อนหน้านี้มีความคืบหน้าน้อยมาก ดังนั้น ในปี 2566 ประชาคมระหว่างประเทศอาจได้เห็นความคืบหน้าในการเจรจาการค้า และการผ่อนคลายสงครามเทคโนโลยีระหว่าง 2 มหาอำนาจที่ต่างฝ่ายต่างได้รับผลกระทบจากสงครามภาษีและการผลิตชิป
ถ้าในปี 2566 สหรัฐฯ กับจีนเลือกจะบริหารจัดการความสัมพันธ์ด้านการค้าให้กลับไปเป็นปกติ หรืออย่างน้อย ๆ ก็มีการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการค้าระหว่างกันลงบ้าง ซึ่งเป็นการทำทั้งเพื่อนักธุรกิจชาวอเมริกันและชาวจีนที่เสี่ยงจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็น่าจะเป็นนโยบายที่ทั้ง 2 ประธานาธิบดีสามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่มีฝ่ายไหนต้องเสียหน้ามาก เพราะถ้าเป็นนโยบายที่เป็นผลดีต่อ “ประชาชน” และเอื้อต่อ “ความมั่นคงทางการเมือง” ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้นำจะพิจารณาและหันมาร่วมมือกันได้เป็นประเด็นแรก ๆ แถมเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ประชาคมระหว่างประเทศยินดีไม่น้อย เพราะสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีนไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ในปี 2566 จะเป็นคิวของสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยมีจีนเป็นสมาชิกด้วย โอกาสนี้จึงเหมาะสมที่จะแสดงบทบาทผู้ที่เปิดรับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และส่งเสริมเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (sustainable economic growth) โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้แสดงบทบาทนำที่มีความรับผิดชอบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
……สิ่งที่ต้องรอดู คือ ท่าทีของจีน ซึ่งอาจอยากดูความจริงจังและจริงใจของสหรัฐฯ อีกสักระยะ เพื่อที่จะมั่นใจว่าการดำเนินนโนบายของสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือ unpredictable อีก