กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนปี 2565 ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง 10-13 พฤศจิกายน 2565 โดยสามารถต้อนรับผู้นำต่างประเทศที่ไปเยือนกรุงพนมเปญเพื่อเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นและน่าประทับใจ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการผลักดันถ้อยแถลงร่วมของเซียน ตามธีมหลัก “ASEAN A.C.T: Addressing Challenges Together” ตลอดจนร่วมเฉลิมฉลองกับสมาชิกอาเซียนในโอกาสที่ครบรอบ 55 ปี พร้อมกับได้ส่งไม้ตต่อให้สมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย รับ “ค้อน” เพื่อเป็นประธานอาเซียนในปี 2566 โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 ที่กัมพูชาด้วยการสรุปว่า กัมพูชาได้รับหินร้อนมา (hot stone) เพื่อจัดการ จนทำให้หินก้อนนั้นเย็นลง (cool it down)
อาเซียนมีความคืบหน้าในเรื่องอะไรกันบ้างในปีนี้…?
เริ่มด้วยเรื่องที่สมาชิกอาเซียนตกลงร่วมกันในหลักการว่าจะรับติมอร์ เลสเต เป็นสมาชิกเพิ่มลำดับที่ 11 ซึ่งสร้างความยินดีให้กับติมอร์ เลสเตเป็นอย่างมาก หลังจากพยายามขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ปี 2545 แม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัว แต่ต่อจากนี้ ติมอร์ เลสเตจะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมการประชุมในกรอบอาเซียนด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ติมอร์ เลสเตส่งผู้แทนเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์อาเซียนตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา การเห็นพ้องในหลักการให้รับสมาชิกใหม่จึงถือว่าเป็นความคืบหน้าทั้งสำหรับอาเซียนและติมอร์ เลสเต
เรื่องที่สอง คือ อาเซียนร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมในหัวข้อ “ASEAN ACT Addressing Challenges Together” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 และประกาศออกมาเป็นถ้อยแถลงต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนด้านการรับมือกับความท้าทาย และเสริมสร้างการพัฒนาร่วมในอนาคต เช่น การให้คำมั่นว่าจะรักษาบรรยากาศสันติภาพ ความร่วมมือ และส่งเสริมมิตรภาพในทะเลจีนใต้ การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค (connectivity) หลังปี 2025 การสนับสนุนบทบาทของเยาวชนในภูมิภาค การยืนยันความสำคัญของเมียนมาในฐานะสมาชิกอาเซียน และให้ฉันทามติ 5 ประการเป็นแนวทางที่อาเซียนจะสนับสนุนเมียนมา ซึ่งยังคงมีสถานการณ์เปราะบางต่อไป
เรื่องที่สาม คือ อาเซียนเน้นย้ำความสำคัญของบทบาทการเป็นกลไกกลางของภูมิภาคในการขับเคลื่อนประเด็นความร่วมมือและรับมือกับความท้าทาย รวมทั้งเป็นแกนกลางความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไปจนถึงแคนาดา ซึ่งในครั้งนี้ส่งผู้แทนระดับสูงมาเข้าร่วมการประชุมที่กัมพูชาด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องอยู่ที่ว่า ครั้งนี้อาเซียนรักษาสมดุล (balance) ความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจาได้อย่างดี โดยมีการหารือกับทุกฝ่ายและอัพเดตความสัมพันธ์ให้ดูมีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น การประกาศความร่วมมือด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารกับจีน และการประกาศความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม (ASEAN-U.S. Comprehensive Strategic Partnership) โดยย้ำวิสัยทัศน์ของอาเซียนต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นมุมมองหลักที่จะเอื้อต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปด้วย
………เท่ากับว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ อาเซียนยังสามารถรักษาจุดแข็งในการเป็นองค์กรที่พร้อมร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีมุมมองต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงและโอกาสด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาสอดคล้องกับอาเซียนต่อไป โดยที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน และมีอาเซียนเป็นแกนกลาง ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น ASEAN Plus-One ASEAN Plus Three (APT) East Asia Summit (EAS) และ ASEAN Regional Forum (ARF)
ความสำเร็จในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จของ นายกรัฐมนตรีฮุนเซน หรือกัมพูชาประเทศเดียว เพราะนี่คือความคืบหน้าของอาเซียน และสมาชิกทั้ง 10 ประเทศที่ร่วมมือกันมานาน 55 ปี และจะยังคงร่วมมือกันต่อไปเพื่อให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถรับมือกับความท้าทายในระดับภูมิภาค และระดับโลก รวมทั้งแก้ไขปัญหาความมั่นคงมนุษย์ไปด้วยกันได้อย่างดี
สรุปได้ว่า การประชุมอาเซียนครั้งนี้ อาเซียนสามารถรักษาสมดุล (balance) และยังสามารถเดินหน้าต่อไป (beyond) โดยที่กำลังจะมีพัฒนาการความร่วมมือใหม่ ๆ ทั้งภายในภูมิภาคและกับประเทศนอกภูมิภาค