ในช่วงปี 2565 ความเดือดร้อนของมนุษย์ที่เป็นผลจากวิกฤตโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรมและส่งผลกระทบรุนแรงจนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น “ความตระหนักรู้” เรื่องสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนที่กระจายอยู่ในสื่อต่าง ๆ ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่าง ๆ ขยายตัวและกลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
การกระจายและกระตุ้นหลักคิดในการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะความมั่นคงของมนุษย์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และที่ผ่านมาการรณรงค์ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบการประท้วงโดยสันติ แต่ดูเหมือนว่าในระยะหลังที่มีข่าวสารกรณีกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมบางส่วนต้องการเร่งกระตุ้นให้สังคมหันความสนใจไปที่เรื่องเดียวกันนี้อย่างรวดเร็ว …จนอาจเร็วเกินไป กระทั่งทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความพยายามรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยการเรียกร้องความสนใจนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้วหรือไม่
สิ่งที่บทความนี้กำลังกล่าวถึง คือ กระแส “Painting Protest” หรือการประท้วงเพื่อเรียกร้องประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ด้วยวิธีการสร้างความเสียหายต่อภาพวาด หรือศิลปะชิ้นที่ได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะเป็นเพราะช่วงนั้นนานาชาติกำลังจะจัดการประชุม COP27 ที่อียิปต์ รวมทั้งยังเป็นการตอบโต้นโยบายพลังงานของประเทศต่าง ๆ ที่ยังใช้พลังงานฟอสซิลอยู่ด้วย
โดยเหตุการณ์ในตุลาคม 2565 คือ กรณีกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อยุติการขุดเจาะน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชื่อกลุ่ม “Just Stop Oil” ปาซุป มะเขือเทศ (อาหาร) ใส่ภาพวาดชื่อดัง “Sunflowers” ของศิลปิน Vincent van Gogh ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป้าหมายเพื่อตั้งคำถามต่อผู้ที่สนใจภาพวาดและศิลปะดังกล่าวว่า “อะไรควรจะมีคุณค่ามากกว่ากัน? ระหว่างภาพวาดกับชีวิตคน และคุณจะเลือกปกป้องอะไรระหว่างภาพวาดกับโลก ถ้าคุณเจ็บใจกับภาพวาดที่ถูกทำลาย ก็จงเจ็บใจกับโลกที่กำลังถูกทำลายต่อหน้าต่อตาเช่นกัน”
มีการรายงานว่ากลุ่ม Just Stop Oil ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่ม Climate Emergency Fund ที่อยู่ในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้เคยเคลื่อนไหวจนได้รับความสนใจอย่างมากจากการใช้กาวทาตัวนักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วแปะตัวลงนอนบนถนน รวมทั้งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง จนนักเคลื่อนไหวบางส่วนต้องถูกควบคุมตัว เพราะสร้างความวุ่นวายในพื้นที่สาธารณะ
…..และในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็มีเหตุการณ์ในลักษณะที่ “ภาพวาด” ตกเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอีก โดยสถานที่คือเยอรมนี ที่สมาชิกกลุ่ม Last Generation ที่เคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมปามันฝรั่งบด (อาหาร) ใส่ภาพวาดชื่อ “Grainstacks” ของศิลปิน Claude Monet ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Barberini Museum เพื่อตั้งคำถามว่า “ภาพวาดเหล่านี้จะยังมีคุณค่าอยู่อีกหรือไม่ หากวิกฤตโลกร้อนกำลังทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร”
ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าในฝรั่งเศสว่า ชายคนหนึ่งแต่งตัวเป็นหญิงชราแล้วนั่งรถเข็นเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ Louvre Museum เพื่อปาเค้ก (อาหาร) ใส่ภาพวาดชื่อ Mona Lisa อันโด่งดัง เพื่อตั้งคำถาม “think of the Earth!”และภาพวาด “Girl with a Pearl Earring” ที่เนเธอร์แลนด์ก็ถูกโจมตีเช่นกัน แตกต่างกับกรณีอื่นนิดหน่อยตรงที่ภาพนี้ถูกระบายด้วยกาว
…แน่นอนว่าท้ายที่สุด ผลงานศิลปะทุกชิ้นที่กล่าวมาจะไม่ได้รับความเสียหาย เพราะเจตนาของกลุ่มผู้เรียกร้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ไม่ใช่การทำลายผลงานศิลปะ แต่เป็นการสร้างความตระหนักรู้ โดยพวกเขาต้องเลือกจุดที่ได้รับความสนใจจากประชาชน เพื่อทำให้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของพวกเขาสร้าง impact ให้ได้มากที่สุด และนำไปสู่การกระตุ้นให้ประชาชนกดดันรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินนโยบายที่ใส่ใจเรื่องธรรมชาติอย่างแท้จริง
การใช้ภาพวาดเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงเรื่องราวเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และแสดงออกถึงพฤติกรรมการประท้วง เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการรณรงค์เรื่องโลกร้อน โดยเมื่อปี 1914 ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งเคยใช้มีดเฉือนภาพวาดรูป “The Toilet of Venus” ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงความไม่พอใจที่สหราชอาณาจักรจับกุมนาง Emmeline Pankhurst นักเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้สตรีในสหราชอาณาจักรมีสิทธิเลือกตั้ง และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เชื่อมโยงศิลปะเข้ากับการประท้วง เพื่อให้ได้รับความสนใจและทำให้เห็นถึงความกล้าหาญและเสรีภาพของผู้ที่ต้องการเรียกร้องประเด็นต่าง ๆ โดยไม่ใช้วิธีการที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงด้วย
แม้ว่าการประท้วงเพื่อกระตุ้นแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้จะเป็นสิ่งที่อยู่ในกระแส และถือว่าทำให้สื่อหันมาสนใจเป้าหมายที่กลุ่มต้องการจะสื่อสารมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามตามมาว่า การประท้วงด้วยวิธี Painting Protest เป็นแนวทางที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ และมันจะดีแล้วหรือ? เพราะแม้ “การกระทำ” จะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน แต่แล้ว “สิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อ” อย่างเรื่องโลกร้อนและผลกระทบจากการใช้พลังงานฟอสซิล มันได้ส่งต่อไปยัง “ผู้ฟัง” ได้ครบถ้วนหรือไม่
…..ขณะเดียวกัน วิธี Painting Protest ก็กลายเป็นการสร้างภาพจำให้กับนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมบางส่วนว่าเป็นกลุ่มที่เรียกร้องด้วยวิธีการละเมิดมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อเข้าไปสร้างความเสียหาย “ชั่วคราว” ให้กับภาพวาดศิลปะที่อยู่ในสภาพ “defenseless” ซึ่งอาจจะไม่เป็นผลดีต่อความพยายามที่จะทำให้เรื่องแก้ไขปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ด้วยแนวทางสันติ
การรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ดี ขณะที่การสร้างแรงบันดาลใจ แสดงถึงความกล้าหาญ รวมทั้งเชิญชวนให้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังนับว่าเป็นเจตนาและความพยายามที่ยอดเยี่ยม แต่ดูเหมือนว่า การใช้วิธีการที่ยัง controversial หรือการสื่อสารที่ไม่ตรงไปตรงมามากพอ อาจทำให้สารไปไม่ถึง “ผู้ฟัง” รวมทั้งทำให้เจตนาที่ดีถูกตีความไปในทางที่ผิดได้ …ยังมีโอกาสที่ Painting Protest จะเกิดขึ้นอีก ซึ่งได้แต่หวังว่าผู้คนและกลุ่มเป้าหมายจะเข้าใจ รับฟัง และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันไป โดยที่ไม่ต้องรอให้นักเคลื่อนไหวต้องเข้าไปแต่งแต้มทุกภาพวาดในโลกนี้ด้วยอาหารอีกต่อไป
———————————