ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่เข้ามาอยู่ในสปอตไลท์ในช่วงปี 2562-2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ Parasite (2562) ที่บอกเล่าชีวิตของ 2 ครอบครัวเกาหลี ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน แต่มีความเป็นอยู่ต่างกัน โดยขณะที่ครอบครัวหนึ่ง (ครอบครัวคิม) ต้องอาศัยอยู่ในห้องเช่าใต้ดิน ยังชีพด้วยการพับกล่องพิซซ่า และรับจ้างทั่วไป แต่อีกครอบครัว (ครอบครัวปาร์ค) มีชีวิตในบ้านที่เพียบพร้อม และเป็นเจ้าของอีกหลายกิจการชั้นนำ ทั้งสองครอบครัวมีเส้นทางมาบรรจบกัน เมื่อลูกชายคนโตของครอบครัวคิม ได้เป็นครูสอนพิเศษให้กับลูกสาวคนโตของครอบครัวปาร์ค และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ครอบครัวคิมได้เข้าไปทำงาน และหาโอกาส “ที่ดีกว่า” โดยการเข้าเป็นลูกจ้างที่บ้านปาร์ค
ภาพยนตร์เรื่อง Parasite ได้รางวัล “ปาล์มทองคำ” ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2562 รางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม จากการประกาศรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 77 (และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม การกำกับภาพยอดเยี่ยมในการประกาศรางวัลเดียวกัน) ที่สำคัญคือ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการประกาศรางวัลออสการ์เมื่อปี 2563
ในปีเดียวกันนั้น ยังมีภาพยนตร์ Joker (2562) ที่พาส่องชีวิตของ “แฮ้ปปี้” ชายที่อาศัยอยู่ในแฟลตเอื้ออาทร ต้องหาเลี้ยงแม่ที่ป่วยติดเตียง และยังถูกกลั่นแกล้ง ดูถูก ทั้งจากเพื่อนร่วมงาน และกลุ่มนักเลงข้างถนน จากที่ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับการยอมรับ — ไปจนถึงไม่ได้รับความสนใจ ทำให้ “แฮ้ปปี้” ลั่นกระสุนนัดแรกออกไปสังหารพนักงานธนาคาร ที่รวมกลุ่มคุกคามผู้โดยสารหญิง ขณะเดินทางโดยรถไฟใต้ดิน และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการตอบโต้โครงสร้างอันอยุติธรรมของเมือง
นอกจากนี้ ภาพยนตร์ชุด The Purge ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2556 ประสบความสำเร็จ และมีภาคต่อ ได้แก่ The Purge: Anarchy (2557), The Purge: Election Year (2559), The First Purge (2561) และ The Forever Purge (2564) ที่ฉายภาพของการ “ล่า” และความวุ่นวายในสภาวะ “ไร้กฎหมาย” ของเมืองแห่งหนึ่ง ภายใต้ภาพของความวุ่นวายและความรุนแรง ยังมีภาพของ “ความเหลื่อมล้ำ” ซ้อนเข้ามาให้พิจารณาด้วย ในภาพยนตร์ The First Purge เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเกิดวันล้างบาป (Purge) ในฐานะเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยการทำให้คนจนหมดไปผ่านการไล่ล่า The Purge: Anarchy ได้เข้ามาตอกย้ำประเด็นดังกล่าว เมื่อริโค่ ชายแก่ ฐานะยากจน ขายตัวเขาเพื่อเป็นเครื่องบูชายันให้กับกลุ่มคนชั้นสูงที่ต้องการล้างบาปในคืนวันล่า
จุดร่วมที่เห็นในภาพยนตร์ คือ ตัวละครที่พยายามที่จะมีชีวิต ใช้ชีวิตตามกติกาสังคม อย่างไรก็ดีพวกเขาเป็นผู้ถูกกระทำอยู่เสมอ และเมื่อเขาต้องเผชิญกับ “ฟางเส้นสุดท้าย” จึงทำให้ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ฉายมาเป็น ความรุนแรงทางกายภาพ ให้เราได้เห็น
ในสหรัฐอเมริกาช่องว่างทางรายได้ระหว่างผู้บริหารระดับสูง (CEO) กับ ลูกจ้างทั่วไป มีรายได้ต่างกันถึง 20 เท่า และมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม G7 นอกจากนี้ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ยังทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของสหรัฐฯ แย่ลงกว่าเดิม ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 นอกจากนี้การเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจ (economic mobility) ในสหรัฐฯ ยังเป็นไปได้ยากกว่าหลายประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
สาธารณรัฐเกาหลี เป็นอีกประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มทุนใหญ่ “แชโบล” ขณะเดียวกันมิติเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้ถูกละเลยในการพิจารณา นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 สาธารณรัฐเกาหลีมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ จากประเทศยากจน มาสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยระหว่างการพัฒนา แทบไม่เกิดความเหลื่อมล้ำที่มองเห็นได้
อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในเกาหลีใต้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2541 ภายหลังจากวิกฤตการเงินแห่งเอเชีย (Asian Financial Crisis) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อเกาหลีใต้รับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund -IMF) และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามเงื่อนไขการรับทุนช่วยเหลือ ทั้งนี้เมื่อปี 2558 กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 10% ในเกาหลีใต้ เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง 66% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้การทำงานในบริษัทแชโบล ช่วยการันตีความมั่นคงให้กับปัจเจก มากกว่าการทำงานกับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ซึ่งโอกาสในการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยที่เข้าเรียนได้ด้วย
ความลำบากที่ตัวละครในภาพยนตร์เผชิญ จึงไม่ใช่แค่เพราะเขาขี้เกียจ หรือพยายามไม่มากพอ แต่มีสาเหตุมาจากกลไก โครงสร้างสังคม กฎหมาย ระเบียบ ที่ไม่ได้มีโอกาสให้พวกเขาได้พยายามจนประสบความสำเร็จ อีกนัยหนึ่งโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมนี้ นับเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ที่ทำให้คนที่แม้จะพยายามเท่าไหร่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และยังถูกกล่าวโทษว่าความยากลำบากที่ต้องเผชิญนั้นเกิดจากตัวเอง ความรู้สึกแปลกแยกกลายเป็นความโกรธที่ไม่สามารถควบคุมได้ และแสดงออกมาในรูปแบบที่เป็นความรุนแรงทางกายภาพ (Physical Violence) อย่างที่พ่อของครอบครัวคิม หยิบมีดมาแทงพ่อครอบครัวปาร์ค, แฮ้ปปี้ ที่ถูกละเลยและถูกกระทำมาตลอด หยิบปืนขึ้นมาลั่นไกใส่ผู้ที่กระทำเขา, กลุ่มคนที่หนีตายในคืนวันล่า หรือ ริโค่ ชายแก่ที่รู้ว่าอย่างไรเขาก็ต้องตายจากการถูกล่า เพราะบ้านที่เขาอยู่ไม่ปลอดภัยมากพอ จึงขายตัวเองเพื่อเป็นเหยื่อเพื่อให้ผู้มีอันจะกินได้ล้างบาป
………ภายใต้ความเจริญเติบโตที่ดูจะเป็นหลักประกันสำหรับความมั่นคง ภาพที่สะท้อนจากภาพยนตร์ข้างต้นที่น่าใส่ใจจึงได้แก่การซ่อนเงาความเหลื่อมล้ำที่ก่อเกิดความรุนแรงไว้ …..ด้วยเหตุนี้ความเหลื่อมล้ำน่าจะยังเป็นโจทย์สำคัญที่ทั่วโลกต้องประเมินแนวทางการรับมือ และพยายามแปรเปลี่ยนความเหลื่อมล้ำไปสู่ความร่วมมือที่มุ่งแสวงหาการเติบโตร่วมเพื่อความมั่นคงร่วมกัน
อ้างอิง:
https://www.cfr.org/backgrounder/us-inequality-debate