ความยั่งยืน (Sustainable) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลกัน 3 ด้านได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลก ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและการเงินเป็นอย่างมาก จนเป็น priority แรกๆ จึงทำให้การพัฒนาในมิติด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมเสียหาย เกิดการสูญเสียทรัพยากรไปในจุดที่ไม่สามารถกู้คืนหรือฟื้นฟูกลับมาได้ การเอารัดเอาเปรียบจนเกิดระยะห่างทางสังคม รวยกระจุกจนกระจาย แต่มูลค่าของเศรษฐกิจกลับเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงและมีผลกระทบที่เป็นรูปธรรม ทำให้ผู้คนหลายกลุ่มเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การตั้งประเด็นเกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมต่างๆ ปลูกพืชทดแทน หรือสร้างรายได้เพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวจากการทำคาร์บอนเครดิต เพื่อหวังให้เกิดความยั่งยืน และให้โอกาสทรัพยากรธรรมชาติได้มีช่วงเวลาในการฟื้นตัวจากการถูกใช้งานอย่างหนัก
อย่างไรก็ดี …ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ลดการใช้งานก็สามารถสร้างความยั่งยืนได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูด้วย มนุษย์ยังต้องทำกิจกรรมที่เอื้อต่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น การลดใช้พลาสติด การคัดแยกขยะ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นั่นเพื่อให้เกิดความสมดุลทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ภายใต้ความหวังว่า การกระทำนี้จะช่วยยืดอายุของโลกที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างช้าลงที่สุด
นั่นคือ การแก้ไขปัญหาในเชิงสิ่งแวดล้อม แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ ในเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินไปเหมือนเดิม ก็จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ดังนั้น บทความนี้ขอเสนอ รูปแบบการเงินและธุรกิจ ที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นแบบยั่งยืน เป็นการวางแผนเพื่ออนาคตในระยะยาวมากขึ้น คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางราบกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และทางแนวตั้งกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต
ถ้าการแก้ไขปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อม คือ การลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงแล้วเหลือไว้ใช้ได้นานๆ พร้อมกับการฟื้นฟู ดังนั้น ในด้านธุรกิจก็เช่นกัน รูปแบบการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดอาจต้องเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบของธุรกิจแบบยั่งยืน ที่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตั้งแต่เจ้าของผู้บริหารองค์กร ลูกน้องพนักงาน ไปจนถึงลูกค้า ทุกภาคส่วนจะถูกนำมาวางแผนการมีส่วนร่วม (participation) ในส่วนของกระบวนการผลิต สร้างความเท่าเทียมเพื่อให้ธุรกิจค่อยๆ เติบโตอย่างยาวนาน โดยเฉพาะภายในองค์กร แน่นอนว่าพนักงานที่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงาน ก็จะสร้างผลงานที่ดีกลับสู่องค์กรและทำงานอยู่ได้ในระยะยาว ขณะที่การเน้นบริการลูกค้าเพื่อสร้างลูกค้าที่จะใช้บริการซ้ำ อาจมีประโยชน์มากกว่าการขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นบนพื้นฐานธุรกิจที่ไม่มั่นคงพอจนเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจล้ม
นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความเท่าเทียมในองค์กร ทำงานกันแบบ partner ไม่ใช่ top down สร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในหน่วยงานตั้งแต่ระดับนโยบายไปสู่การปฏิบัติ สร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาบุคลากร เพิ่มศักยภาพ เพื่อลดขั้นตอนที่สิ้นเปลือง
หลักการคิดในการดำเนินธุรกิจมักจะแบ่งเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งธุรกิจมักเป็นกลางน้ำ แต่ต้องมองต้นน้ำ เป็น partner เพื่อร่วมเติบโตไปด้วยกัน และแทนที่จะคิดเรื่องการเร่งลดต้นทุนเพื่อให้เกิดส่วนต่างมากที่สุดเป็นกำไร อาจเปลี่ยนไปเป็นการลดความเสี่ยงทางการเงิน ด้วยการมีเงินออมเงินเก็บ เพื่อรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น มีแผนสำรอง การเงินจูงใจให้ยั่งยืน องค์กรก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น ดูเหมือนว่าการให้ความสำคัญกับพนักงานและกลุ่มลูกค้า แม้จะไม่ได้ทำให้ตัวเลขทางการเติบโตของธุรกิจเกิดขึ้น แต่จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของกลุ่มแรงงาน ซึ่งถือเป็นจำนวนประชากร 67.75% ของจำนวนประชากรไทย
ธุรกิจแบบยั่งยืนจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน จากปัจจัยพื้นฐานที่ได้รับอย่างเสมอภาค สร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง เมื่อปราศจากปัญหาทางด้านปากท้องแล้ว การแก่งแย่งทรัพยากรจะลดลง ความขัดแย้งก็จะลดระดับความรุนรงและหมดไปในที่สุด
……..ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดอาจก่อให้เกิดสันติภาพขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายความยั่งยืนของโลก สำหรับ SDGs Goal ในข้อที่ 8 ที่ว่าด้วย การส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน ดังนั้น ไม่ใช่แค่การปลูกป่า เสียภาษีคาร์บอน เพื่อรักษ์โลกเพียงอย่างเดียวจะสร้างความยั่งยืนได้ครบทุกมิติ แต่จะต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม โลกจึงจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนอย่างแท้จริง