เมื่อฝนตกลงมาสู่ภูเขาที่มีป่า น้ำฝนจะถูกซับลงไปใต้ดินผ่านระบบรากต้นไม้ ขณะที่ภูเขาทำหน้าที่เสมือนฟองน้ำที่ดูดซับน้ำไว้ ภูเขาที่มีความสูงกว่าระดับพื้นที่ดินจะค่อยๆ ใช้กลไกแรงโน้มถ่วงของโลก ดึงน้ำที่ซับไว้ในดินให้รวมกันและผุดออกมาเป็นตาน้ำเล็กๆ ที่ไหลรวมกันเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่หรือแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตตลอดเส้นทาง
……และนั่นคือวัฏจักรของป่าต้นน้ำ กับระบบนิเวศน้ำใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันกำลังสูญเสียไป ไม่เฉพาะจากการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation) ที่ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาไม่ถูกป่าดูดซับไว้ แต่การใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ราบรอบภูเขาก็ทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงเช่นกัน ซึ่งเป็นเพราะเมื่อน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าถูกดึงออกมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเพื่อการเกษตร หรือเพื่อการท่องเที่ยว ก็เท่ากับเป็นการนำน้ำที่อยู่ใต้ดินออกมาผึ่งแดดให้ระเหยไปอย่างรวดเร็ว
น้ำใต้ดินที่หายไปจากการใช้น้ำบาดาล ก็จะถูกชดเชยด้วยน้ำใต้ดินบนภูเขาที่ถูกซับไว้ น้ำใต้ดินบนภูเขาจึงถูกใช้อย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อระบบนิเวศต้นไม้บนภูเขา จากที่สามารถดูดซึมน้ำที่ซับไว้ใช้ในการเจริญเติบโตได้ตลอดทั้งปีแบบป่าดิบชื้น…ไม่สามารถทำได้อีก นอกจากนี้ เมื่อเข้าหน้าหนาวต้นไม้ก็จะผลัดใบ ในลักษณะของป่าไม้ผลัดใบ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ความชุ่มชื้นที่สูญเสียไปจากการขาดน้ำหล่อเลี้ยงป่า ส่งผลผระทบต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศ เพราะพรรณไม้บางชนิด ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในวัฏจักรที่เปลี่ยนไป ทำให้ป่าเหลือต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิด กลายเป็นป่าเบญจพรรณหรือป่าเต็งรัง ที่มีต้นไม้เพียง 2-5 ชนิดเท่านั้น ทำให้แหล่งอาหารของสัตว์ป่าไม่เพียงพอ และเกิดการอพยพหาแหล่งอาหารไปยังพื้นที่เกษตรรรอบข้าง กลายเป็นความขัดแย้งและอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์ จนเรามักจะเห็นข่าวปัญหาขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับสัตว์ป่าบ่อยครั้ง
แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายแนวทาง ……..หนึ่งในนั้นคือการสร้างแหล่งอาหารให้สัตว์ภายในขอบเขตป่าที่กำหนดไว้ แต่นั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะสาเหตุที่แท้จริงของเรื่องนี้มาจากการใช้น้ำใต้ดิน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการทำระบบชลระทานหรือระบบน้ำประปาเพื่อส่งน้ำจากแหล่งไปยังพื้นที่ต่างๆ อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การสร้างแหล่งน้ำอย่างเขื่อนหรือแก้มลิงขนาดใหญ่ก็ยังเป็นการลงทุนที่สูง ดังนั้น….. ทางเลือกที่จะพอทุเลาปัญหานี้ลงได้ไปพร้อมกับการขยายตัวของชุมชน แหล่งท่องเที่ยว ที่ยังคงต้องการการใช้น้ำมากขึ้น คือ การสนับสนุนให้ทุกๆ พื้นที่ช่วยกันเติมน้ำกลับลงไปในดิน ด้วยการพัฒนาพื้นที่โดยแทรกพื้นที่สีเขียวให้ยังมีพื้นที่กักขังน้ำในช่วงที่มีน้ำฝนตกลงบนพื้นที่ราบรอบหุบเขา ……..เติมน้ำลงดินเพื่อให้ระบบน้ำใต้ดินเป็นที่กักเก็บน้ำ วิธีนี้นอกจากเปิดพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังสามารถทำระบบธนาคารน้ำใต้ดิน โดยการฝังท่อที่มีตัวกรองน้ำเพื่อให้น้ำซึมลงในดินได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากถ้าการพัฒนาพื้นที่ชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยว ปรับพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตรเป็นลานคอนกรีตไปทั้งหมด น้ำฝนจะไม่สามารถซึมลงไปใต้ดินได้
อยางไรก็ดี แม้จะมีแนวทางการแก้ไขที่ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้ แต่หากการใช้น้ำยังไม่สมดุลกับระบบวัฏจักรน้ำบนภูเขา ปัญหาการเปลี่ยนไปของสภาพป่าก็ยังคงเกิดขึ้นแบบวนซ้ำๆ ถึงแม้เราจะไม่ได้บุกรุกป่าโดยตรง แต่การกระทำของมนุษย์ยังส่งผลกระทบเข้าไปยังแหล่งธรรมชาติได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นหมายความ หากต้องการที่จะรักษาป่าให้คงอยู่ ไม่ว่าอยู่ที่ใด เราก็ยังมีส่วนรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติด้วยกันทั้งสิ้น