…เชื่อว่าเราคงคุ้นเคยกับความเห็นที่ว่า“กี่ยุคกี่สมัยชาวนาไทยก็ยังจนอยู่ดี” ซึ่งผูกโยงมาจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก และทำให้ชาวนาต้องแบกรับหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนปลูกข้าวที่มีแนวโน้มต้องเพิ่มการลงทุนสูงขึ้นทุกปี ขณะที่ราคาข้าวก็ตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนในการทำนาเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายต่างกันราว 1,000 บาท เป็นเรื่องยากที่ชาวนาจะได้กำไร แต่ชาวนายังคงปลูกข้าวต่อไป…….เพราะเป็นหนทางเดียวที่ทำได้และรอความหวังจากความช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การจำนำข้าวหรือเงินอุดหนุนเมื่อนาข้าวเสียหายจากการเผชิญภัยพิบัติ
ไม่ใช่เพียงแค่ข้าวที่ขาดกำไร แต่ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ก็มีราคาที่ไม่แน่นอน และทำให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่รายได้น้อย เฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 บาทต่อคนต่อปี นั่นเพราะต้นทุนที่สูงมากขึ้น ทั้งค่าแรง ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และยาฆ่าแมลง ที่จำเป็นต้องใช้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากความไม่แน่นอนของตลาดการรับซื้อ และสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งหากไม่แก้ไขปัญหาระบบการผลิตนี้ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย เพราะไทยมีจำนวนประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่ที่ 9.3 ล้านคน หรือ 13% ของจำนวนประชากรทั้งหมดและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 8.6% ของ GDP ถือเป็นรายได้อันดับที่ 3 รองจาก อุตสาหกรรมและการค้า
การเปลี่ยนประเทศเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม ส่งออก หรือการท่องเที่ยวคงจะไม่ใช่วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะความอุดมสมบูรณ์ทางด้านภูมิศาสตร์ ยังคงเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพียงแต่รูปแบบการทำการเกษตรจะต้องเปลี่ยนแปลงไป
บทความนี้ขอเสนอแนวคิดที่อาจช่วยแก้ไขปัญหาดังล่าวได้ ด้วยมุมมอง “ธุรกิจเกษตร” ที่เป็นการประยุกต์แนวคิดทางธุรกิจมาใช้ในการเพาะปลูกพืช เพื่อ “ขาย” ให้กับกลุ่มลูกค้า เพื่อให้วงจรการเกษตรไม่ได้อยู่ที่การเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการทำการตลาด และการผลิตไม่แตกต่างไปจากการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องวิเคราะห์หา “ต้นทุน” ให้ครบถ้วน การ “วางแผน” การใช้พื้นที่เพาะปลูกให้คุ้มค่า จนไปถึงการสร้างความ “เชื่อมั่น” ต่อสินค้าของผู้บริโภคในคุณภาพและความสม่ำเสมอของผลผลิต
“ต้นทุน” มักเป็นจุดอ่อนของเกษตรกร ทำให้ขายผลผลิตในราคาที่ขาดทุน โดยเฉพาะการประเมินค่าแรงและค่าเช่าที่ดิน ที่ส่วนมากอาจมองว่าเป็นต้นทุนที่สูญเปล่า ทั้งที่จริง ๆ แล้วล้วนเป็นต้นทุนทั้งนั้น ดังนั้น การเปลี่ยนบทบาทจากผู้ลงแรง มาเป็นเจ้าของทุนที่กำลังจะใช้เงินลงทุนเพื่อหวังผลกำไร โดยคำนวณตั้งแต่การใช้น้ำฝน โรงเรือน และเครื่องมือทั้งหมดนั้นคือต้นทุน เมื่อรวมต้นทุนต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนต่อรอบในการเพาะปลูก จึงจะสามารถกำหนดกำไรที่สมควร..ไม่ต่างจากกำหนดราคาสินค้าในห้างสรรพสินค้า (2-3 เท่าของต้นทุน) ก็จะแก้ปัญหาของการขาดทุนได้
การคิดราคาต้นทุนทั้งหมดและกำไรดูเป็นที่น่าพึงพอใจกับผู้ผลิต แต่อาจจะไม่ตรงใจกับผู้บริโภคเพราะราคาผลผลิตมีแนวโน้มจะสูงขึ้น สิ่งที่เกษตรกรควรพิจารณาในขั้นตอนต่อไปนั่นคือ “การลดต้นทุน” โชคดีที่กระแสการรักษาสุขภาพทำให้ผู้บริโภคมองหาพืชผลอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และการทำเกษตรอินทรีย์นั้นเอื้อต่อการลดต้นทุนเป็นอย่างยิ่งเพราะวัสดุที่ใช้ในการปลูกไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย หรือเมล็ดพันธุ์นั้นล้วนต้องการความเป็นธรรมชาติ หมายความว่าเกษตรกรสามารถผลิตได้เอง โดยใช้เศษวัสดุตามธรรมชาติที่เหลือทิ้งจากการเกษตร มูลสัตว์ มาหมักเพื่อทำปุ๋ยบำรุงดิน เพื่อให้สะอาดและเป็นธรรมชาติมากที่สุด รวมทั้งการแบ่งแปลงปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ และการสร้างระบบการให้น้ำอย่างประหยัด ก็จะช่วยลดต้นทุนต่างๆ ลงได้เช่นกัน
เกษตรอินทรีย์ที่ปราศจากการใช้ยาฆ่าแมลง จะเผชิญความท้าทายในการสร้างผลผลิตที่สวยงามน่ารับประทานเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะพืชผักที่ดูสด สะอาดนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อ ดังนั้น การเพาะปลูกในโรงเรือนอาจสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เป็นหนึ่งในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการทำการเกษตร ร่วมกับระบบการตรวจสภาพดิน น้ำเพื่อให้สารอาหารตามความต้องการของพืช ลดการบำรุงเผื่อเหลือ ที่ทำให้เสียทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์ และระบบ smart farm นี้ ก็จะอยู่ในต้นทุนที่เฉลี่ยการลงทุนไปในแต่ละรอบของการปลูก เพื่อวางแผนกำหนดระยะเวลาในการคืนทุนได้
การวางแผนเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนรูปแบบการเกษตร แต่เดิมเกษตรกรจะต้องเสี่ยงโชคในการปลูกพืชไปโดยหวังว่าจะขายได้ราคาดีในอนาคต แต่การวางแผนด้วยมุมมองแบบพนักงานเงินเดือน จะทำให้อาชีพเกษตรกรมีความมั่นคงมากขึ้น นั่นคือ การกำหนดเป้าหมายของรายได้ประจำเดือนที่จะได้มาจากการขายผลผลิต โดยวางแผนเป็นระยะๆ เช่น ในระยะสั้น เน้นรายได้จากการขายผักสวนครัวรายวัน เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ กะเพรา ในรอบ 45 วันก็พึ่งพาพืชชนิดอื่นๆ ที่มีวงรอบการปลูกที่ชัดเจน เช่น คะน้า กะหล่ำ เป็นต้น ในระยะกลาง ก็สร้างรายได้ประจำปีกับผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ ส้ม จะแตกต่างจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ได้รายได้ ช่วงเดียวตลอดทั้งปี อีกทั้งการปลูกพืชในโรงเรือนยังเอื้อต่อการสามารถควบคุมสภาพอากาศให้สามารถสร้างผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และสุดท้าย สร้างรายได้ระยะยาว การสร้างบำนาญด้วยการปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น สัก พยูง ตะเคียน ที่ใช้เวลา 15-20 ปี ในการสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 – 30,000 บาทต่อต้น (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและขนาดของต้นไม้)
นั่นคือการปลูกพืชผสานแบบอินทรีย์ โดยอาศัยการรวมกลุ่มกันระหว่างเกษตรกร เพื่อสร้างจำนวนผลผลิตให้สม่ำเสมอและเพียงพอต่อความต้องการ เพิ่มความได้เปรียบด้วยการเป็นอาหารอินทรีย์ในช่วงที่ผลผลิตล้นตลาด และขายผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผลผลิตขาดแคลน ในสถานการณ์ที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรยังคงเปลี่ยนแปลงตามอุปสงค์และอุปทานอยู่เสมอ เปรียบเสมือนการลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) ที่อาศัยการลงทุนด้วยความสม่ำเสมอ และเน้นการกระจายความเสี่ยงของตลาดในช่วงที่ราคาพืชผลสูงต่ำ เพราะสำหรับลูกค้า ผักในตลาดคือผักทุกฤดู เป็นการสร้างความสะดวกสบายต่อลูกค้าที่มีผลต่อการเลือกซื้อผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยระบบการทำเกษตรแบบ “ร่วมกันวางแผน แยกกันปลูก รวมกันขาย” นี้ จะช่วยให้อาชีพเกษตรกรมีความมั่นคง และยั่งยืนขึ้น ผลพลอยได้ที่สำคัญ คือ สุขภาพของเกษตรกรที่จะดีขึ้น เพราะห่างไกลจากการใช้สารเคมี ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ปลอดสารพิษ และระบบนิเวศที่สมบูรณ์จากการทำเกษตรอินทรีย์ และการปลูกพืชที่หลากหลาย
……คำถามที่สำคัญคือ จุดเปลี่ยนนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ เมื่อพันธะสัญญาการทำเกษตรยังคงมีหนี้สินเหลืออยู่ แต่ถ้าไม่เริ่มต้นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลง ณ ตอนนี้ ก็อาจเป็นการเสียโอกาสที่จะพัฒนาการทำเกษตรกรรมให้มีความยั่งยืนได้เร็ว ๆ