กรณีที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างกัน (prisoner swap) ฝ่ายละ 1 คน เมื่อ 8 ธันวาคม 2565 กลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แม้ว่าการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่เมื่อการแลกเปลี่ยนครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียค่อนข้างห่างเหิน ไม่ไว้วางใจ และมีเรื่องขัดข้องหมองใจกันอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องรัสเซีย–ยูเครน…ดังนั้น การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษครั้งนี้ทำให้หลายสื่อเดาว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายกำลังจะดีขึ้นหรือไม่ และสหรัฐอเมริกากับรัสเซียจะใช้การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษเป็นช่องทางหารือกันเรื่องอื่น ๆ หรือเปล่า?
รัสเซียไม่ปล่อยให้ทั่วโลกต้องรอคอยคำตอบนี้นาน… โดยสื่อรัสเซียเผยแพร่มุมมองของนาย Dmitry Peskov โฆษกรัฐบาลที่ยืนยันว่า การแลกเปลี่ยนนักโทษครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องและไม่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียที่ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าพอใจ (sorry state) แม้ว่าประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียจะบอกว่าอาจมีการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างกันอีกในอนาคต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศจะกลับไปใกล้ชิดกันด้วยเหตุผลนี้ และยังย้ำอีกด้วยว่า สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายต้องปรับเปลี่ยนมุมมองต่อรัสเซีย เพื่อให้การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
สำหรับ “การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ” ระหว่างประเทศ ถือเป็นกลไกที่รัฐมีสิทธิใช้และดำเนินการตามหลัก case-by-case ความสำเร็จส่วนมากขึ้นอยู่กับกระบวนการเจรจาทางการทูตที่มีความละเอียดอ่อน รายละเอียดการเจรจาจึงมักจะปิดเป็นความลับ ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกากับรัสเซียเจรจาเรื่องการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษคู่นี้มานานแล้ว แต่ว่ากันว่ารัสเซียเป็นฝ่ายยื้อเรื่องการแลกเปลี่ยน เพื่อไม่ให้กลายเป็นผลงานของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนก่อนการเลือกตั้งกลางสมัย ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ดูเหมือนว่ารัสเซียจะจริงจังเรื่องการแลกเปลี่ยนนักโทษครั้งนี้มากขึ้นกว่าเดิม จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษขึ้นในช่วงปลายปี
อีกประเด็นที่ทำให้สื่อทั่วโลกให้ความสนใจจากเหตุการณ์ ก็คือ “ตัวนักโทษ” ที่ทั้ง 2 ฝ่ายแลกเปลี่ยนกัน เพราะทั้งคู่ถือว่ามีความสำคัญต่อการเมืองภายในประเทศ โดยฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้ตัวนาง Brittney Griner นักบาสเกตบอลชาวอเมริกันชื่อดังที่ถูกรัสเซียควบคุมตัวเมื่อ กุมภาพันธ์ 2565 ในข้อหาครอบครองน้ำมันกัญชา ส่วนฝ่ายรัสเซีย ได้ตัวนาย Viktor Bout พ่อค้าอาวุธชาวรัสเซีย เจ้าของฉายา “พ่อค้าแห่งความตาย” ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซีย ถูกสหรัฐอเมริกาควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ปี 2553 และการแลกเปลี่ยนครั้งนี้มีขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE แทนที่จะเป็นประเทศในยุโรปเหมือนครั้งก่อน ๆ
ที่จริงแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาขอแลกตัวนักโทษคืนฝ่ายละ 2 คนโดยรัสเซียยื่นข้อเสนอให้สหรัฐอเมริกาไปเจรจากับเยอรมนีให้ปล่อยตัวนาย Vadim Krasikov ชาวรัสเซียที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเยอรมนี เพื่อแลกตัวกับนาย Paul Whelan ชาวอเมริกันที่ถูกควบคุมตัวในรัสเซียในข้อหาจารกรรม แต่ท้ายที่สุดได้แค่ฝ่ายละคน ซึ่งสื่อรายงานว่า หน่วยข่าวกรองของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาครั้งนี้
สำหรับประเด็นการแลกเปลี่ยนตัว “พ่อค้าอาวุธ” กับ “นักบาสเกตบอล” ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการเจรจาครั้งนี้หรือไม่? เพราะมีความเป็นไปได้ที่ Viktor Bout จะกลับไปสร้างเครือข่ายก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศอีก จนเป็นผลเสียต่อสหรัฐอเมริกาเอง แต่ถ้ามองจากมุมการเมืองสหรัฐอเมริกา กรณีที่ Brittney Griner ถูกควบคุมตัวในรัสเซียก็เป็นเรื่องที่ชาวอเมริกันให้ความสนใจอย่างมาก จนสามารถสร้างกระแสกดดันรัฐบาลได้ไม่น้อย เพราะนอกจาก Brittney Griner จะเป็นคนดังในวงการกีฬา ตัวเธอเองและหน่วยความมั่นคง ก็เชื่อว่ารัสเซียจับตัวเธอไปเพื่อเป็นข้อต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์รัสเซีย–ยูเครน ดังนั้น การช่วยเหลือ Brittney Griner จึงมีความสำคัญไม่น้อยต่อภาพลักษณ์ความสามารถของรัฐบาลในการช่วยเหลือชาวอเมริกันในต่างประเทศ
แล้วการปล่อยตัว Viktor Bout ไป…เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วหรือเปล่า? ประเด็นนี้ ถ้าเราเชื่อทฤษฎีสมคบคิดบางกลุ่มที่บอกว่า สหรัฐอเมริกาต้องช่วย Brittney Griner ให้ได้เพราะเธอคือเจ้าหน้าที่ CIA …การช่วยเหลือครั้งนี้ก็ดูจะจำเป็นและรัฐบาลสามารถอธิบายได้ว่าทำไมการตัดสินจนี้ถึงถูกต้องแล้ว แต่ว่าถ้าไม่ใช่?! การแลกตัวครั้งนี้ก็อาจเป็นเรื่องสร้างความแตกแยกทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา
เพราะ “เสียงวิจารณ์” ในกรณีนี้ส่วนมากวิตกว่าสหรัฐอเมริกากำลังแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มจะยอมแลกเปลี่ยนตัวนักโทษชาวอเมริกันที่ถูกจับกุมในประเทศที่เป็นศัตรูหรือเป็นปรปักษ์กัน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ไม่ได้ระมัดระวังผลกระทบที่อาจตามมาจากการปล่อยตัวนักโทษที่มีประวัติก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนอาจทำให้ชาวอเมริกันตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น เพราะจะเป็นเป้าหมายควบคุมตัวหรือจับกุมเพื่อต่อรองกับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้อีก
นักการเมืองในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นสายเหยี่ยวส่วนมากไม่เห็นด้วยในการเจรจาครั้งนี้ และประเมินว่าการแลกเปลี่ยนตัวครั้งนี้ไม่เป็นธรรม ตลอดจนเป็นความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเชื่อว่า Viktor Bout จะใช้ความรู้ เครือข่ายและความเชี่ยวชาญกลับไปช่วยเหลือรัสเซียจัดหาอาวุธในช่วงการสู้รบกับยูเครนอย่างแน่นอน ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ออกมาประกาศว่าสนับสนุนแล้วด้วย ขณะที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ (DEA) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการสืบสวนและจับกุมตัว Viktor Bout ก็ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยตัวนาย Bout โดยให้เหตุผลว่าเป็นบุคคลอันตราย นอกจากนี้ การปล่อยตัวครั้งนี้อาจทำให้พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐอเมริกาเคลือบแคลงเป้าหมายของสหรัฐอเมริกาในการปกป้องโลกจากภัยคุกคามข้ามชาติด้วย
จะเห็นได้ว่า “การแลกเปลี่ยนนักโทษ” ครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับกระแสตอบรับในทางที่ดีเท่าไหร่ แม้จะประสบความสำเร็จในการปกป้องความปลอดภัยของชาวอเมริกันได้ แต่ยังช่วยได้ไม่หมด แถมยังปล่อยตัวนักโทษที่เหมือนจะกลับไปเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย …ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องให้รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนถูกโจมตีไม่น้อย และการเจรจากับรัสเซียเพื่อให้ได้ตัวนักโทษชาวอเมริกันกลับคืนมาเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ก็จะเป็นงานหนักของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ อย่าง CIA ต่อไป
————————————————————————