ประธานาธิบดี Nguyen Xuan Phuc ของเวียดนามเสร็จสิ้นภารกิจเยือนเกาหลีใต้เป็นระยะเวลา 3 วัน ไปเมื่อ 4-6 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นการเยือนครั้งสำคัญ เพราะนอกจากผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายจะได้พบกัน และพูดคุยประเด็นความร่วมมือรอบด้าน เวียดนามกับเกาหลีใต้ยังขยับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้ใกล้ชิดขึ้นกว่าเดิม กลายเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” หรือ comprehensive strategic partnership ด้วย หลังจากทั้ง 2 ประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาได้ 30 ปี
ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับเกาหลีใต้อยู่ในระดับ strategic partnership ตั้งแต่ปี 2555 แต่วันนี้ทั้ง 2 ประเทศใกล้ชิดกันมากขึ้น เนื่องจากเวียดนามให้เกาหลีใต้อยู่ในระดับเดียวกันกับจีน รัสเซีย และอินเดียเลยทีเดียว โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนว่าทั้งสองฝ่ายมีค่านิยมร่วมกัน และเชื่อใจกันอย่างมาก ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่เวียดนามยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณบอกว่าเวียดนามกำลังปรับนโยบายให้เปิดกว้างมากขึ้น ตลอดจนเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิม ๆ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ด้วย
สำหรับผลลัพธ์การเยือนในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าประธานาธิบดี Yoon Suk-yeol ของเกาหลีใต้พอใจผลงานในการเป็น “เจ้าภาพ” ครั้งนี้อย่างมาก เพราะเขาเป็นคนเชิญประธานาธิบดีเวียดนามด้วยตัวเอง และสำหรับเกาหลีใต้ เวียดนามเป็นประเทศที่สำคัญต่อการลงทุน การค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ซึ่งในโอกาสที่ทั้ง 2 ประเทศยกระดับความสัมพันธ์นี้ ได้มีการประกาศเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในระยะยาว รวมทั้งเกาหลีใต้จะสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจากการลงทุนในเวียดนามด้วย ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ของเวียดนาม และคู่ค้าอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา
ด้านประธานาธิบดีเวียดนามไม่พลาดที่จะใช้การเยือนครั้งนี้นำคณะผู้แทนระดับสูงของเวียดนาม ไปเยี่ยมชมบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็น Samsung Electronics, CJ, Lotte, LG, Daewoo E&C, Hyundai Motorและอื่น ๆ เพื่อแนะนำให้ไปลงทุนในเวียดนาม ขณะเดียวกันก็นำเสนอนโยบายให้ชาวเวียดนามไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างปลอดภัยด้วย ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ถือว่าเป็นเป้าหมายอันดับ 2 ที่ชาวเวียดนามไปทำงานในต่างประเทศ คาดว่ามีชาวเวียดนามทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ประมาณ 48,000 คน
นอกจากเรื่องการลงทุนและแรงงาน ที่น่าสนใจก็คือ เกาหลีใต้เสนอการช่วยพัฒนา rare earth หรือแร่แรร์เอิร์ธ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอร์รี อุปกรณ์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย โดยเวียดนามเป็นแหล่งที่มีแร่ดังกล่าวที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นความคุ้มค่าที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันในประเด็นนี้ต่อไป
ไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ทั้ง 2 ประเทศมีวิสัยทัศน์และผลประโยชน์ร่วมกัน แต่เวียดนามและเกาหลีใต้ยังมีมุมมองสอดคล้องกันเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะเรื่องการรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และจีน การสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในทะเลตะวันออก รวมทั้งทะเลจีนใต้ การสนับสนุนการเดินเรือที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง UNCLOS 1982 ตลอดจนสนับสนุนการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์
นอกเหนือจากความร่วมมือด้านการส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาค ดูเหมือนว่าการขยับยกระดับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดและแนบแน่นระหว่างเวียดนามกับเกาหลีใต้ จะเป็นประโยชน์ต่อการขายอาวุธจากเกาหลีใต้ไปเวียดนามด้วย เพราะตอนนี้เกาหลีใต้ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อการส่งออก และเคยมอบเรือลาดตระเวนให้เวียดนามได้ใช้ในกองทัพแล้วด้วย ส่วนเวียดนามก็กำลังแสวงหายุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพและซื้อ–ขายง่ายกว่าของรัสเซีย โดยเฉพาะเครื่องบินขับไล่ และเรือรบที่เวียดนามต้องการพัฒนาให้มีความสามารถมากพอที่จะปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงทางทะเลของเวียดนามได้
ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและเกาหลีใต้มีแนวโน้มจะใกล้ชิดกันมากขึ้นในอนาคต แต่กระนั้นยังมีปัจจัยสำคัญที่บทความนี้เชื่อว่าทั้งเวียดนามและเกาหลีใต้ต่างก็ระมัดระวังกันอยู่ ก็คือ….ท่าทีของจีนที่น่าจะติดตามการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด และความจริงจังของเกาหลีใต้ที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อนและเป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและการค้าให้เวียดนาม
อย่างไรก็ตาม การยกระดับความสัมพันธ์เวียดนาม–เกาหลีใต้สะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ที่เวียดนามมุ่งรักษาทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบที่เน้น “Pragmatic” เพราะเวียดนามแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยไม่เลือกข้าง แต่ทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ตามที่โฮจิมินห์ บุคคลสำคัญและอดีตผู้นำของเวียดนามระบุไว้ว่า “There is no other interests but the interests of the nation, of the country”