ความอดทนเป็นศูนย์ หรือหากจะให้เข้าใจง่าย ๆ คือ จะไม่อดทนกับสิ่งที่ได้พบและได้เห็น และขอตั้งคำถามต่อไปว่า สิ่งนี้ ควรเป็นคุณสมบัติของคนไทยว่าควรมีไหม ? ที่ไปที่มาที่ทำให้ความรู้สึกนี้กลับมารบกวนจิตใจอีกครั้ง เนื่องจากเกิดขึ้นกับตนเองที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พบอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งพอใจและไม่พอใจ แม้ไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในสังคม และไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ทำให้ต้องกลับไปคิดว่า เราควร Zero Tolerance กับสิ่งนั้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้ปัญหานั้นลุกลาม หรือการทำตัวเองให้เป็น Zero Tolerance จะยิ่งทำให้สังคมขัดแย้งกันมากขึ้น
Zero Tolerance ในส่วนของผู้เขียนได้ยินบ่อยมาก แต่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงต้นธันวาคม 2565 ของทุกปี เพราะใน 9 ธันวาคมของทุกปี จะเป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล หรือวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ซึ่งสื่อมวลชน ภาคเอกชนต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เฉพาะอย่างยิ่งสำนักงาน ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็จะออกมากระตุ้นและตอกย้ำแนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต”
ส่วนในแวดวงไซเบอร์ก็จะคุ้น ๆ กับ “Zero Trust” ที่เป็นแนวคิดทางไอทีที่มีการปลูกฝังกันเรื่องความปลอดภัยว่า อย่าเชื่อ หรือไว้ใจอะไร หากไม่มีการตรวจสอบทั้งระบบ อุปกรณ์ และบุคคล ว่ากันว่า ต้องตรวจสอบกันละเอียดเลยก็ว่าได้ ซึ่งผู้เขียนก็เข้าไปค้น ๆ ในอินเทอร์เน็ต ก็พบว่า คำในวงการไอทีใช้กันก็คือ Never trust, Always verify
แต่สิ่งที่จุดประเด็นที่ทำให้ต้องมาตั้งคำถามเรื่อง Zero Tolerance ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือไซเบอร์ที่กล่าวมาข้างต้น แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และพบเห็นกันบ่อยครั้ง รวมทั้งทุกคนน่าจะได้พบเจอ หากมาช่วยกันว่าเราจะไม่อดทนกับสิ่งนี้ ก็น่าจะทำให้สังคมเราดีขึ้น
เหตุการณ์พบด้วยตนเองล่าสุด ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นอีก เพราะล้าสมัยไปแล้ว คือ……การแซงคิวระหว่างการจ่ายเงินในห้างสรรพสินค้าชั้นนำแห่งหนึ่ง โดยวิธีก็คุ้น ๆ กันคือค่อย ๆ แทรกตัวไปในแถวที่ยาวเหยียด และทำหน้าเฉยเมย แม้จะโดนมอง จบลงด้วยการพูดจากันอย่างมีเหตุผล จนต้องยอมไปต่อคิว ซึ่งการทำตัวเองให้เป็น Zero Tolerance ในเรื่องนี้ แม้ในภาพรวม จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างมาก ๆ และพวกเรา ๆ ก็ทำกันอยู่ แต่ก็มาตั้งคำถามกับตัวเองอีกเช่นกันว่า แล้วทำไมยังเกิดขึ้นบ่อย ๆ
ตัวอย่างข้างต้น ยังมีตามมาอีกหลายเรื่องที่พวกเราควรจะไม่ทนในอีกหลายการกระทำ และอยากให้ทุกคน ไม่ทนกับสิ่งเหล่านี้เช่นกัน เพื่อให้สังคมไทยของเราสวยงาม แม้เป้าหมายอาจดูจะไกลเกินเอื้อม แต่หากใจพร้อม กายพร้อม และช่วยรณรงค์กันต่อ ๆ ไป จนเป็นสิ่งธรรมดาในสังคม ความฝันก็จะเกิดขึ้นได้
………..เช่น Zero waste เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนของไทยเร่งเครื่องช่วยกันอย่างมาก เพื่อให้สังคมเราไปสู่ความฝันที่จะทำให้เกิดสังคมไร้ขยะ ให้มากที่สุด หรือวิถีไร้ขยะ (Zero waste-living) และอีก Zero ที่อยากให้เกิดขึ้น
………..คือ Zero violence ซึ่งหากเราไม่อดทนต่อการใช้ความรุนแรง สิ่งที่เสียดแทงใจที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ ก็จะค่อยลดลงไป ทั้งการทำร้ายเด็กไม่ว่าหญิงหรือชาย การทำร้ายระหว่างกันเองในระดับผู้ใหญ่ที่ไม่เลือกเพศ หรือยิ่งน่ารันทดใจ หากความรุนแรงเกิดขึ้นกับคนแก่คนเฒ่าในบ้านเมืองของเรา
อย่างไรก็ดี ก็พยายามคิดในทางย้อนแย้งว่า การ Zero Tolerance ของเรา ๆ จะยิ่งทำให้สังคมขัดแย้งกันเพิ่มขึ้นมากไหม หรือปัญหานั้น ๆ ลุกลาม บานปลายไหม เช่น เราอาจต้องยอม ๆ ให้กับคนที่แซงคิว เพื่อตัดปัญหาการขัดแย้งหรือโต้แย้ง หรือการที่เราไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการที่บิดาทุบตีลูกตัวเองก็เพื่อมิให้เกิดความแตกแยกในสังคมของครอบครัว คำตอบ
สำหรับผู้เขียนก็คือไม่…. และจะไม่อย่างเด็ดขาดทีเดียว แต่เพื่อมิให้จิตใจเราดูกระด้างเกินไป อาจต้องเริ่มด้วยการพูดคุยกันดี ๆ ก่อน แล้วจะว่ายังไงก็ว่ากันในการดำเนินขั้นตอนต่อไป
ขอฝากทิ้งท้ายไว้ ขอให้ทุกฝ่ายในสังคมของเราเข้าใจตรงกันว่า การ Zero Tolerance ไม่ใช่การแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของบุคคลนั้น ๆ (แต่อาจต้องมีการยกเว้น หากมีการผิดปกติทางด้านจิตใจ) แต่เป็นพฤติกรรมที่เราต้องช่วยกัน เพื่อมิให้สังคมเราดิ่งลงเหวสู่ความรุนแรง หรืออะไรก็ตาม จนถึงระดับเพิกเฉย และเห็นว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสังคม ซึ่งท้ายที่สุด หากสังคมไทยต้องไปถึงจุดนั้น ….. ไม่มีใคร แม้แต่ตัวเราจะมีความสุขเลย นอกจากนี้ การไหลความเชื่อของเราไปตามกระแสสื่อออนไลน์ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เพื่อขุดคุ้ยความรุนแรงในประวัติศาสตร์ แล้วนำมาเป็นประเด็นให้เกิดการต่อต้านสังคมก็เป็นสิ่งที่เราควรยึดหลัก Zero Tolerance เช่นกัน แต่การแก้ไขจะทำอย่างไร…. ไม่ยากเลย…. หากทุกคนมีความชัดเจนในการปกป้องสังคม..ประเทศ…ของเรา