สาธารณรัฐตุรกี
(Republic of Turkey)
เมืองหลวง กรุงอังการา
ที่ตั้ง อยู่บนคาบสมุทรบอลข่าน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป และทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ดินแดนมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวมากกว่า 1,600 กม. และกว้าง 800 กม. พื้นที่ 783,562 ตร.กม. (รวมทะเลสาบและเกาะ) ชายฝั่งทะเลยาว 7,200 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลดำ
ทิศตะวันออก ติดกับจอร์เจีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และอิหร่าน
ทิศใต้ ติดกับอิรัก ซีเรีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทิศตะวันตก ติดกับกรีซ บัลแกเรีย และทะเลอีเจียน
ภูมิประเทศ ตุรกีเป็นประเทศสองทวีป อยู่ในทวีปเอเชียและยุโรป มีสภาพภูมิประเทศหลากหลาย ฝั่งเอเชียครอบคลุม 97% ของคาบสมุทรอนาโตเลีย ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบสูง ทางตะวันออกเป็นภูเขา และเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญหลายสาย เช่น ไทกริสยูเฟรตีส และอารัส โดยมียอดเขาอารารัตซึ่งเป็นจุดสูงสุด 5,165 ม. ส่วนฝั่งยุโรป ตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลข่าน (3%) มีทะเลล้อม 3 ด้าน ได้แก่ ทะเลอีเจียนทางตะวันตก ทะเลดำทางเหนือ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางใต้ รวมถึงทะเลมาร์มะราในเขตตะวันตกเฉียงเหนือ ตุรกีตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าสำคัญ เป็นประตูสู่ 4 อนุภูมิภาค ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ สหภาพยุโรป และยุโรปตะวันออก
ภูมิอากาศ มี 4 ฤดู ภูมิอากาศในเขตต่าง ๆ แตกต่างกันมาก บางเขตเป็นฤดูร้อน แต่บางเขตอาจมีหิมะปกคลุม ฤดูร้อนอยู่ในช่วง มิ.ย.-ก.ย. (ร้อนที่สุดคือ ก.ค.และ ส.ค.) เดือนที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวคือ เม.ย.-พ.ค. และ ก.ย.-ต.ค. ส่วนฤดูหนาวอยู่ในช่วง ธ.ค.-มี.ค.
ศาสนา อิสลาม 99.8% (นับถือนิกายซุนนี 77.5%) อื่น ๆ 0.2% (ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนายูดาห์)
ภาษา ภาษาตุรกีหรืออนาโดหลุ เป็นภาษาประจำชาติและภาษาราชการ นอกจากนี้ ยังมีภาษาเคิร์ดและภาษาอาหรับ
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 96.7% งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา 3.4% ของ GDP
วันชาติ 29 ต.ค.
นายเรเจบ ไตยิป แอร์โดอัน
Recep Tayyip Erdoğan
(ประธานาธิบดีตุรกี)
ประชากร 85,341,241 คน (ปี 2565) เป็นชาวเติร์ก 70-75% ชาวเคิร์ด 19% อื่นๆ 6-11% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 22.12% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 68.58% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 9.31% อัตราการเกิด 14.04 คน ต่อ 1,000 คน อัตราการตาย 6.09 คน ต่อ 1,000 คน อายุขัยเฉลี่ย 76.47 ปี เพศชาย 74.11 ปี เพศหญิง 78.94 ปี
การก่อตั้งประเทศ
หลังสิ้นสุดจักรวรรดิออตโตมันเมื่อปี 2466 (สุลต่านมะห์มัดที่ 6 เป็นสุลต่านพระองค์สุดท้าย) นายมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้นำขบวนการแห่งชาติตุรกีในสงครามประกาศเอกราชตุรกี เอาชนะกองทหารของฝ่ายไตรภาคี นำไปสู่การปลดปล่อยประเทศ และการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีเมื่อ 29 ต.ค.2466 โดยนายมุสตาฟาเป็นประธานาธิบดีคนแรก และได้เปลี่ยนแปลงประเทศจากจักรวรรดิออตโตมัน เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและไม่อิงศาสนา
การเมือง เป็นสาธารณรัฐที่แยกศาสนาออกจากการเมือง (Secular State) ตุรกีเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2566 ปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 2 รอบ ในกรณีที่รอบแรกไม่มีผู้ได้รับเลือกด้วยคะแนนเกินกว่า 50% มีวาระ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัยติดต่อกัน โดยยกเลิกตำแหน่ง นรม.
ปัจจุบัน นายเรเจบ ไตยิป แอร์โดอัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยชนะการเลือกตั้งเมื่อ 24 มิ.ย.2561 เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อห้วง พ.ค.2566 ด้วยคะแนนเสียง 52.18%
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีตุรกีมีอำนาจในการบริหารในฐานะประมุขและหัวหน้ารัฐบาล
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ตุรกีจัดการเลือกตั้งรัฐสภาภายใต้ระบอบประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกเมื่อ 24 มิ.ย.2561 จำนวนสภาแห่งชาติ (Grand National Assembly) ปรับเพิ่มจาก 550 คน เป็น 600 คน และกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 4 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี
พรรคการเมือง : พรรคที่สำคัญคือ 1) พรรค Justice and Development (AK) 2) พรรค Nationalist Movement Party (MHP) แนวชาตินิยม 3) พรรค Republican People’s Party (CHP) 4) พรรค İYİ Party 5) Felicity Party และ 6) พรรค Peoples’ Democratic Party (HDP) พรรคของชาวเคิร์ด
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย 1) ศาลยุติธรรมทั่วไปทำหน้าที่เช่นเดียวกับศาลชั้นต้น ซึ่งมีอยู่ในทุกเมือง 2) ศาลอุทธรณ์สำหรับคดีอาญาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสำหรับอุทธรณ์คดีด้านการปกครองหรือคดีภาครัฐ และ 3) ศาลสูงสุดทำหน้าที่เช่นเดียวกับศาลฎีกา
ตุรกีเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก Turkey เป็น Türkiye (ตุรเคีย) ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่เคยใช้ในอดีต เพื่อปรับภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ ให้สะท้อนถึงวัฒนธรรม ความมีอารยะ อัตลักษณ์ และค่านิยมอันดีของตุรกี
เศรษฐกิจ โครงสร้างด้านเศรษฐกิจของตุรกีเน้นรายได้จากการผลิตเพื่อส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ การวิจัยและพัฒนาด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่เผชิญผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับรัฐบาลตุรกีดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และกระตุ้นการส่งออกด้วยการใช้ค่าเงินที่ได้เปรียบในการแข่งขัน ส่งผลให้ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงอย่างมาก สวนทางกับราคา การนำเข้าพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ หน่วยงานด้านสถิติแห่งชาติของตุรกีประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อห้วง ส.ค.2566 อยู่ที่ 58.94% ขณะที่เงินเฟ้อรอบปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 65% ส่วนปี 2567-2569 จะอยู่ที่ 33% 15.2% และ 8.5% ตามลำดับ
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ลีราตุรกี (TRY)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ลีราตุรกี : 0.036 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ลีราตุรกี : 1.30 บาท (ต.ค. 2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 905,987 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 5.6%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 10,616 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 34.42 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 10.0%
อัตราเงินเฟ้อ : 72.3%
มูลค่าการส่งออก : 254,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : ชิ้นส่วนยานยนต์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ อาหาร ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม และอุปกรณ์การขนส่ง
มูลค่าการนำเข้า : 363,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และอุปกรณ์การขนส่ง
คู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ อิรัก อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล และรัสเซีย
การทหาร กองทัพตุรกี (Turkish Armed Forces-TSK) มีกำลังพลปี 2565 จำนวน 355,200 นาย ทบ. 260,200 นาย ทร. 45,000 นาย ทอ. 50,000 นาย และ กกล.สารวัตรทหาร 156,800 นาย นอกจากนี้ ยังมี กกล.สำรอง 378,700 นาย งบประมาณด้านการทหาร 1.23% ของ GDP โดยตุรกีให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมากขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพของกองทัพให้รองรับภารกิจที่มากขึ้นในประเทศที่เกิดสงคราม เช่น ซีเรีย อิรัก ลิเบีย การประจำการเรือรบในพื้นที่พิพาทบริเวณทะเลอีเจียนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร ตุรกีมีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการป้องกันประเทศ การเป็นแหล่งผลิตยุทโธปกรณ์ และสร้างบทบาทนำด้านการส่งออกยุทโธปกรณ์
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติที่ใช้ตุรกีเป็นทางผ่านเพื่อเข้าสู่ทวีปยุโรป โดยภัยคุกคามหลักของตุรกียังคงเป็นกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่ม FETO หรือเครือข่าย Gülen ซึ่งรัฐบาลตุรกีเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๙ ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด PKK/YPG ที่คอยก่อเหตุบ่อนทำลายความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งตุรกีพยายามปราบปรามอย่างหนัก โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกของตุรกี ตอนเหนือของซีเรียและอิรัก ทั้งนี้ ตุรกีแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรยุโรปในการสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายทั้งสองรูปแบบกลุ่มดังกล่าว
2) ประเด็นเรื่องการเปิดรับผู้ลี้ภัยจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาที่ต้องการอพยพมายังยุโรป
3) ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศกับมหาอำนาจหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ รวมถึงกลุ่มประเทศพันธมิตรกลุ่มสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)
4) การดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล
ความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 12 พฤษภาคม 2501 โดยเพิ่งฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 60 ปี เมื่อปี 2561 ความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยทั่วไปเป็นไปอย่างราบรื่น ตุรกีให้ความสำคัญกับไทย ในฐานะประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสนับสนุนกลุ่มอาเซียนมาโดยตลอด เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับกลุ่มประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน และเข้าเป็นคู่เจรจาเฉพาะสาขากับอาเซียนเมื่อปี 2560 ขณะที่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับตุรกี ครั้งที่ 7 เมื่อ เมษายน 2564 ผ่านระบบทางไกล สามารถสรุปผลการยกร่างความตกลง FTA รวม 4 บท จากทั้งหมด 14 บท เช่น บทว่าด้วยความโปร่งใส บทเรื่องการระงับข้อพิพาท ส่วนบทที่ยังไม่สามารถสรุปได้ อาทิ บทว่าด้วยมาตรการเยียวยาทางการค้า บทว่าด้วยมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า บทว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยที่ประชุมกำหนดเป้าหมายบรรลุการเจรจา FTA ภายในปี 2565
ความสัมพันธ์ทางด้านการค้า ตุรกีเป็นตลาดที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะการเป็นเป้าหมายการขยายตลาดอาหารฮาลาลของไทยไปสู่สหภาพยุโรป (EU) เมื่อปี 2565 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในตลาดโลก มีมูลค่าการค้า 62,694.64 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ 49,252.81 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 13,441 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 35,810 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ เมล็ดพลาสติก ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับอัญมณี เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบยานยนต์
ด้านการท่องเที่ยว มีชาวตุรกีเดินทางมาไทยเมื่อปี 2565 จำนวน 27,722 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2564 ที่มีจำนวน 2,067 คน
ข้อตกลงสำคัญ ได้แก่ ความตกลงทางการค้าระหว่างไทย-ตุรกี ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างไทย-ตุรกี ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-ตุรกี ความตกลงทางวัฒนธรรมไทย-ตุรกี ข้อตกลงระหว่าง กต.ไทยกับ กต.ตุรกี ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม ความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอันเป็นผลมาจากความตกลงทางวัฒนธรรมไทย-ตุรกี และ Turkish-Thai Parliamentary Friendship Group of the Turkish Grand National Assembly และความตกลงเกี่ยวกับการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือด้านงานยุติธรรม
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การติดตามทิศทางนโยบายของตุรกีภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเจบ ไตยิป แอร์โดอัน ในสมัยที่ 3 ที่คาดว่าตุรกีจะยังคงดำเนินตามแนวทางเป็นอิสระ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติตุรกีเป็นสำคัญ โดยมุ่งเสริมสร้างบทบาทของประเทศมหาอำนาจระดับกลางในภูมิภาค (Regional power) โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และขยายอิทธิพลสู่ภูมิภาคแอฟริกา ภูมิภาคคอเคซัส และภูมิภาคเอเชียกลาง
2) การจัดการปัญหาความมั่นคงและการก่อการร้าย เช่น การปราบปรามเครือข่าย Gülen ในต่างประเทศ ภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง ความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด
3) การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของค่าเงินลีรา
4) ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่งต่อเนโต
5) บทบาททางทหารของตุรกีที่ขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่พิพาทสำคัญของโลก เช่น ลิเบีย โซมาเลีย ซีเรีย นากอร์โน-คาราบัค
6) บทบาทตุรกีในด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อาทิ การเปิดรับผู้ลี้ภัย การให้ความช่วยเหลือชาวโรฮีนจา
7) บทบาทตุรกีในการเป็นตัวกลางเจรจาเพื่อแก้ไขสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน
8) บทบาทตุรกีในประเทศตะวันออกกลาง
9) ท่าทีตุรกีต่อการรับสมาชิกใหม่เข้าร่วมเนโต ที่สำคัญคือ สวีเดน ฟินแลนด์ ยูเครน