สาธารณรัฐเบลารุส
Republic of Belarus
เมืองหลวง มินสก์ (Minsk)
ที่ตั้ง อยู่ในยุโรปตะวันออก ตั้งอยู่ทางตะวันออกของโปแลนด์ พื้นที่ 207,600 ตร.กม. (ประมาณ 40% ของไทย) แบ่งเป็น พื้นดิน 202,900 ตร.กม. และพื้นน้ำ 4,700 ตร.กม. โดยมีพรมแดนทางบกยาว 3,642 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดลัตเวียและลิทัวเนีย
ทิศตะวันออก ติดรัสเซีย
ทิศใต้ ติดยูเครน
ทิศตะวันตก ติดโปแลนด์
ภูมิประเทศ ไม่มีทางออกทะเล ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเต็มไปด้วยน้ำขัง และมีทะเลสาบประมาณ 11,000 แห่ง
วันชาติ 3 ก.ค. (ปี 2487) วันที่ได้รับการปลดปล่อยจากกองทัพเยอรมนี และ 25 ส.ค. (ปี 2534) วันประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต
นายอเล็กซานเดอร์ กริกอร์เยวิช ลูคาเชนโก
(Aleksandr Grigoryevich Lukashenko)
(ประธานาธิบดีเบลารุส)
ประชากร 9,349,645 คน (เมื่อ ม.ค.2564) ประกอบด้วย เบลารุสเซีย 84.9% รัสเซีย 7.5% โปแลนด์ 3.1% ยูเครน 1.7% อื่น ๆ 2.6% (ปี 2562) อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 16.97% วัยรุ่น (15-24 ปี) 9.62% วัยทำงาน (25-54 ปี) 43.05% วัยเริ่มชรา (55-64 ปี) 14.57% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 15.79% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 75.2 ปี เพศชาย 70.2 ปี อายุเฉลี่ยเพศหญิง 79.9 ปี อัตราการเกิด 9.5 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 13.1 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มประชากร -0.29% อายุเฉลี่ยแต่งงานเพศชาย 28.4 ปี เพศหญิง 26.2 ปี
การก่อตั้งประเทศ เบลารุสอยู่ภายใต้การครอบครองของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ก่อนจะประกาศเอกราชจากจักรวรรดิรัสเซียหลังการปฏิวัติรัสเซียเมื่อปี 2461 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมนีเข้ายึดครองเบลารุสทำให้มีชาวเบลารุสเสียชีวิตรวม 2.2 ล้านคนและภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เบลารุสกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ต่อมาประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อ 25 ส.ค.2534
การเมือง ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดี ครั้งล่าสุด เมื่อ 9 ส.ค.2563 ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ซึ่งปกครองเบลารุสมาตั้งแต่ปี 2537 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 6 ด้วยคะแนนเสียง 80.1% ขณะที่นาง Svetlana Tikhanovskaya คู่แข่งคนสำคัญ ได้รับเลือกเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนนเสียง 10.12% นาง Anna Kanopatskaya ได้คะแนนเสียง 1.68% นาย Andrei Dmitriyev ได้คะแนนเสียง 1.21% และนาย Sergei Cherechen ได้คะแนนเสียง 1.14% มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 5,818,955 คน หรือ 84.28% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2568 หลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 9 ส.ค.2563 มีชาวเบลารุสจำนวนมากชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเนื่องจากไม่พอใจผลการเลือกตั้ง การชุมนุมยืดเยื้อยาวนานและยังไม่มีท่าทียุติ (พ.ย.2564) โดยมีข้อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งนาง Tikhanovskaya ปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและลี้ภัยไปยังลิทัวเนีย อีกทั้งเดินทางพบหารือกับประธานาธิบดีและ นรม.ประเทศต่าง ๆ รวมกว่า 31 คน ภายในระยะ 1 ปี เพื่อเรียกร้องให้กดดันทางการเมืองต่อประธานาธิบดีลูกาเชนโก ซึ่งดำเนินมาตรการควบคุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรวมถึงสื่อมวลชน นำสู่การบังคับเครื่องบินของสายการบิน Ryanair ลงจอด เพื่อจับกุมผู้สื่อข่าวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เมื่อ พ.ค.2564 ส่งผลให้สหภาพยุโรป (European Union-EU) และสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเบลารุส เมื่อ มิ.ย.2564 เนื่องจากการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
เบลารุสดำเนินมาตรการตอบโต้ประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ อาทิ การขับไล่หรือลด จนท.ทางการทูตกับหลายประเทศที่กดดันเบลารุส อาทิ สหรัฐฯ ลิทัวเนีย ฝรั่งเศส โปแลนด์ อีกทั้งเบลารุสนิ่งเฉยต่อ การควบคุมชายแดนและการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ส่งผลให้มีผู้พยายามลักลอบข้ามแดนจากเบลารุสมุ่งเข้าประเทศยุโรป ผ่านลิทัวเนีย ลัตเวีย และโปแลนด์ ซึ่งมีชายแดนติดกับเบลารุส เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศที่มีชายแดนกับเบลารุสต้องสร้างรั้วกั้น และยกระดับมาตรการป้องกันชายแดนและควบคุมที่พักผู้อพยพ อย่างเข้มงวด อีกทั้งเรียกร้องในเวทีระหว่างประเทศให้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเบลารุส โดยมีการประณามเบลารุสที่ใช้ประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นเครื่องมือทางการเมืองหลายครั้ง อีกทั้งประเทศในยุโรปมีแนวโน้มขยายมาตรการคว่ำบาตรเบลารุสจากกรณีผู้อพยพ
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีลูกาเชนโกยังคงผลักดันแนวคิดริเริ่มการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเบลารุส เพื่อนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ และดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อประเทศในยุโรปที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเบลารุส ทั้งนี้ เบลารุสมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 15 มี.ค.2537 และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อ 17 ต.ค.2547 โดยยกเลิกการจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลการบริหารทั่วไป ส่วนนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ปัจจุบัน นาย Roman Golovchenko ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 4 มิ.ย.2563
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ใช้ระบบสองสภา (Bicameral) ประกอบด้วย 1) สภาสูง (Council of the Republic) มีสมาชิก 64 ที่นั่ง (เลือกตั้งโดยสภาท้องถิ่นและเมืองมินสก์ 56 ที่นั่ง ส่วนอีก 8 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี) วาระละ 4 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) มีสมาชิก 110 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระละ 4 ปี การเลือกตั้งเมื่อ 18 ก.ย.2561 เป็นการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น ผลการเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลงนัก โดยผู้ได้รับเลือกตั้ง 56% ยังคงเป็นอดีตสมาชิกสภาท้องถิ่น และ 2.5% เป็นผู้แทนพรรคการเมืองที่สนับสนุนพรรครัฐบาล ส่วนผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านได้รับเลือกตั้ง 2 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 17 พ.ย.2562 (เลื่อนขึ้นจากกำหนดเดิม 6 ก.ย.2563) ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่สนับสนุนประธานาธิบดีลูกาเชนโกได้รับเลือกตั้ง 77% ขณะที่พรรคฝ่ายค้านไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียว ซึ่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe-OSCE) ระบุว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เสรีหรือเป็นกลาง และการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งหลายแห่งมีปัญหา สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2566 ทั้งนี้ เมื่อ 5 ธ.ค.2562 ประธานาธิบดีลูคาเชนโกเป็นประธานเปิดการประชุมสภาสูง สมัยที่ 6 และการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 5
ฝ่ายตุลาการ : ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และศาลย่อยอื่น ๆ เช่น ศาลแคว้น ศาลเมือง ใช้ระบบกฎหมายแบบประมวลกฎหมาย (Civil Law)
พรรคการเมือง : พรรคที่มีแนวทางนิยมรัฐบาล ได้แก่ Belarusian Agrarian Party (AP), Belarusian Patriotic Movement หรือ Belarusian Patriotic Party (BPR), Belarus Social Sport Party, Communist Party of Belarus (KPB), Liberal Democratic Party (LDP), Republican Party, Republican Party of Labor and Justice และ Social Democratic Party of Popular Accord ส่วนพรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ Belarusian Christian Democracy Party, Belarusian Party of the Green, Belarusian Party of the Left “Just World”, Belarusian Popular Front (BPF), Belarusian Social-Democratic Assembly, Belarusian Social Democratic Party (BSDPH), Christian Conservative Party (BPF) และ United Civic Party (UCP)
เศรษฐกิจ เบลารุสพึ่งพารัสเซียในด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทั้งด้านพลังงานและตลาดส่งออกหลัก (ประมาณ 41.22% ของการส่งออกทั้งหมด) โดยปี 2562 มูลค่าการค้าทวิภาคีอยู่ที่ 35,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 5% จากปี 2561) เบลารุสส่งออกไปยังรัสเซีย 13,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 21,983 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 8,414 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เบลารุสมีความชำนาญในอุตสาหกรรมหนัก และเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกด้านการผลิตเครื่องเจาะขุดเหมืองหิน ขณะที่การนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ และเหล็กกล้า จากรัสเซีย เยอรมนี ยูเครน จีน และเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตาม เบลารุสพยายามส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Free Economic Zones-FEZ) 6 แห่ง ได้แก่ Minsk, Gomel, Vitebsk, Grodno, Brest และ Mogilev ซึ่งนักลงทุนในเขตดังกล่าวจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี อาทิ งดเก็บภาษีสินค้าและบริการเป็นเวลา 5 ปี และส่วนลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 50% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเขตดังกล่าว นอกจากนี้ เบลารุสยังส่งเสริมการเดินทางของนักธุรกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเมื่อ ม.ค.2560 ยกเว้นการตรวจลงตราให้ประชาชนจาก 80 ประเทศ ที่เข้าพำนักในเบลารุสไม่เกิน 5 วัน อาทิ ยุโรป 39 ประเทศ บราซิล สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และหลัง ก.ค.2561 ขยายเวลาพำนักได้ถึง 30 วัน ทั้งนี้ ธนาคารโลก (World Bank-WB) จัดให้เบลารุสเป็นประเทศที่สะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ (Ease of doing business) อันดับที่ 49 ของโลกจาก 190 ประเทศ ประจำปี 2563 (ปี 2562 อยู่ในอันดับที่ 37)
นอกจากภาคอุตสาหกรรม เบลารุสยังให้ความสำคัญกับภาคเกษตร ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรเมื่อปี 2562 มีมูลค่า 21,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เฉพาะส่งออกไปรัสเซีย 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3%) เป็นผลิตภัณฑ์จากนม ผักและผลไม้กระป๋อง ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา น้ำมันพืช เส้นใยธรรมชาติเพื่อใช้ทอผ้า พร้อมแสวงหาพันธมิตรและตลาดใหม่ เช่น ประเทศนอกเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States-CIS) ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม รวมถึงสหรัฐฯ เวเนซุเอลา แอฟริกา และ EU เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และทดแทนการพึ่งพาจากรัสเซียและประเทศตะวันตก ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรของเบลารุส ระหว่าง ม.ค.-มี.ค.2563 เพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันของปี 2562 มีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ มูลค่า 239.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.9% โดยส่งออกไปยัง 72 ประเทศ และมีตลาดส่งออกเติบโตในรัสเซีย (4.4%) กลุ่มประเทศ CIS (24.7%) กลุ่มประเทศนอก CIS (41.5%) กลุ่มประเทศเอเชียและโอเชเนีย (2.2%) สหรัฐฯ และประเทศแถบทะเลแคริเบียน (52.4%) EU (54.3%) และมีเรือขนส่งไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า
ปี 2563 สินค้าและบริการนำเข้ามูลค่า 35,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ส่งออกมูลค่า 37,184 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้ารวม 61,946 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ 3,588 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ ม.ค.-ก.ย.2564 มูลค่าการค้ารวม 57,799 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 29,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ขณะที่ส่งออก 28,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เบลารุสรูเบิล (Belarusian ruble-BYR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 2.45 เบลารุสรูเบิล/ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 13.39 บาท/1 BYR (14 พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 60,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2564)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3% (พ.ย.2564 จากปี 2563)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 6,390 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 4.3 ล้านคน ภาคบริการ 61.3% ภาคอุตสาหกรรม 23.5% และภาคเกษตร 8.7% (ปี 2563)
อัตราการว่างงาน : 4% ของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน (ปี 2563)
อัตราเงินเฟ้อ : 5% (ปี 2564)
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 8,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2564)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 1,506 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2564)
มูลค่าการส่งออก : 28,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2564)
สินค้าส่งออก : เชื้อเพลิงธรรมชาติและน้ำมัน ปุ๋ย เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ น้ำผึ้ง ไม้ เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เคมีและยาง ผลิตภัณฑ์แร่
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : รัสเซีย 45.1% ยูเครน 10.8% โปแลนด์ 4.3% ลิทัวเนีย 3.6% เยอรมนี 3.2% สหราชอาณาจักร 2.8% จีน 2.6% (ปี 2563)
มูลค่าการนำเข้า : 29,652 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2564)
สินค้านำเข้า : เชื้อเพลิงธรรมชาติและน้ำมัน เครื่องจักรกล สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เหล็กและเหล็กกล้า ยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์เคมีและยาง ผลิตภัณฑ์แร่
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : รัสเซีย 50.4% จีน 11.3% เยอรมนี 5.1% ยูเครน 4.3% โปแลนด์ 3.8% ลิทัวเนีย 3.6% สหราชอาณาจักร 2.8% จีน 2.6% (ปี 2563)
ทรัพยากรธรรมชาติ : ป่าไม้ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หินปูน แกรนิต ดินเหนียวผสมหินปูน หินชอล์ก ทราย ก้อนกรวดที่อาจมีส่วนผสมของแร่ทองคำ และดิน
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : เบลารุสยังไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีขนาดใหญ่ตาม แนวพรมแดน เคยมีปัญหาตึงเครียดกับรัสเซีย แม้มีความใกล้ชิดทางการเมืองและการทหาร โดยมีการฝึกร่วมทางทหารอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ 1) การแข่งขันทางทหาร International Army Games ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2558 สำหรับ Army Games-2020 ครั้งที่ 6 ระหว่าง 23 ส.ค.-5 ก.ย.2563 มีการแข่งขันทั้งหมด 30 รายการ โดยมีประเทศเข้าร่วม 39 ประเทศ และสังเกตการณ์ 60 ประเทศ ใช้พื้นที่แข่งขันใน 10 ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส จีน อินเดีย อิหร่าน คาซัคสถาน มองโกเลีย รัสเซีย และ อุซเบกิสถาน ซึ่งเบลารุสเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันในรายการ Sniper Frontier, Confident Reception และ Polar Star 2) การฝึกซ้อมทางทหาร Vostok 2018 (เริ่มจัดตั้งแต่ปี 2545) เป็นการฝึกซ้อมทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี มีกองกำลังเข้าร่วมกว่า 300,000 นาย ซึ่งรวมถึงกองทัพจีนและมองโกเลีย และ 3) การฝึกซ้อมทางทหาร Zapad-2021 ประจำวงรอบ ระหว่างรัสเซียกับเบลารุส กองกำลังเข้าร่วมกว่า 20,000 นาย จากอาร์เมเนีย คาซัคสถาน อินเดีย คีร์กีซสถาน มองโกเลีย เซอร์เบีย และศรีลังกา พร้อมด้วยผู้แทนประเทศสังเกตการณ์จากจีน เวียดนาม เมียนมา ปากีสถาน และอุซเบกิสถาน
นอกจากนี้ เบลารุสและจีนยังมีความร่วมมือด้านการทหารระหว่างกันมากขึ้น เช่น การฝึกร่วมต่อต้านการก่อการร้ายระหว่าง Armed Police Force (APF) ของจีน กับ Internal Troops ในสังกัด มท.เบลารุสเป็นครั้งแรกในชื่อว่า United Shield-2017 เมื่อ ก.ค.2560 และเมื่อปี 2561 เบลารุสเชิญกองทัพจีนเข้าร่วมเดินพาเหรดเนื่องในวันประกาศเอกราช (Independence Day) ระหว่าง 24-25 มิ.ย.2561 เบลารุสประกาศหลักนิยมทางทหารใหม่ (New Military Doctrine) มีผลบังคับใช้เมื่อ 20 ก.ค.2559 โดยปรับปรุงจากหลักนิยมทางทหารที่มีการปรับปรุงครั้งแรกเมื่อปี 2555 เดิมมีเนื้อหาเกี่ยวกับการประมาณการสถานการณ์การเมืองและการทหารในโลกและยุโรป การคาดการณ์พัฒนาการในระยะกลาง การป้องกันประเทศ ประสบการณ์
การพัฒนาทางทหารและความมั่นคงทางทหาร สำหรับหลักนิยมทางทหารใหม่ ระบุว่า เบลารุสต่อต้าน
การใช้กำลังทางทหาร แต่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี จะปกป้องประเทศโดยใช้เครื่องมือที่มี
ทุกประเภทรวมถึงกำลังทหาร สงวนสิทธิในการใช้มาตรการการป้องกันการรุกรานและการแก้ไขปัญหาขัดแย้งภายในประเทศที่มีการใช้อาวุธ อย่างไรก็ตาม การใช้กำลังเป็นวิธีสุดท้าย หลังจากที่มีการใช้มาตรการทางการเมือง การทูต กฎหมาย เศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสาร อุดมการณ์ และมาตรการอื่น ๆ สำหรับภัยคุกคามต่อเบลารุส ได้แก่ การเคลื่อนไหวทางทหารโดยเฉพาะการขยายกำลังทางทหาร และการติดตั้งระบบขีปนาวุธของเนโตในยุโรปตะวันออก และการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในโรมาเนียและโปแลนด์
ซึ่งเบลารุสถือว่าเป็นภัยคุกคามทางทหารโดยตรงการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Color Revolution การใช้กองกำลังเอกชนและ Hybrid Warfare
กำลังพลรวม ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและประธานสภาความมั่นคงเบลารุส กองทัพเบลารุส มีกำลังพล 45,350 นาย เป็น ทบ. 10,700 นาย ทอ. 11,750 นาย โดยมีกองกำลังร่วม 17,000 นาย และกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 5,900 นาย กำลังกึ่งทหาร 110,000 นาย (แบ่งเป็นหน่วยรักษาการณ์ชายแดน 12,000 นาย ทหารกองหนุน 87,000 นาย และกำลังประจำ มท. 11,000 นาย) และกำลังพลสำรอง 289,500 นาย งบประมาณด้านการทหารปี 2563 ประมาณ 616 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2562
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตและได้รับยุทโธปกรณ์สมัยใหม่บางส่วนจากรัสเซีย
โดยประจำการ ทบ. อาทิ ถ.หลัก 532 คัน (รุ่น T-72B จำนวน 517 คัน และ T-72B3 mod จำนวน 15 คัน) ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ 145 คัน (รุ่น BRM-1) รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 932 คัน (รุ่น BMP-2) รถเอนกประสงค์ 58 คัน (รุ่น MT-LB) อากาศยานไร้คนขับ 8 เครื่อง (รุ่น CS/VN3B mod; Tigr) ปืนใหญ่ 583 กระบอก อาวุธต่อสู้ ถ. อาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ 350 ระบบ เช่น Buk (SA-11 Gadfly), S-300V (SA-12A Gladiator/SA-12B Giant), Strela-10 1(SA-13 Gopher), Osa (SA-8 Gecko) และ Tor-M2E (SA-15 Gauntlet)
โดยประจำการ ทอ. อาทิ บ.รบ รวม 72 เครื่อง (บ.ขับไล่แบบ MiG-29 Fulcrum, MiG-29S Fulcrum C MiG-29UB Fulcrum B และ บ.โจมตีแบบ Su-30SM Flanker H และ Su-25K/UBK Frogfoot A/B) บ.ขนส่ง 8 เครื่อง (แบบ Il-76 Candid, An-24 Coke, An-26 Curl และ Tu-134 Crusty) บ.ฝึกแบบ L-39 Albatros และ Yak-130 Mitten ไม่ต่ำกว่า 12 เครื่อง ส่วน ฮ.โจมตีแบบ Mi-24 Hind มี 12 เครื่อง
ฮ.ลาดตระเวน/สอดแนม 26 เครื่อง (แบบ Mi-26 Halo, Mi-8 Hip และ Mi-8MTV-5 Hip) อาวุธปล่อยอากาศสู่พื้น อาวุธต่อต้านเรดาร์ อาวุธปล่อยอากาศสู่อากาศ นำวิถีด้วยอินฟราเรดและนำวิถีแบบ semi-active radar homing อาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศแบบ S-300PS (SA-10 Grumble) S-125 Pechora (SA-3 Goa) และ S-200 (SA-5 Gammon) 9K37 Buk (SA-11 Gadfly) 9K331ME Tor-M2E (SA-15 Gauntlet) 9K33 Osa (SA-8 Gecko); 9K35 Strela-10 (SA-13 Gopher)
กองกำลังปฏิบัติการพิเศษ 5,900 นาย โดยประจำการรถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 182 คัน (รุ่น BTR-70M1 และ 153 BTR-80) ปืนใหญ่ 42 ระบบ (รุ่น D-30 และ 2B23 NONA-M1) ระบบต่อต้านรถถัง 9K111 Fagot (AT-4 Spigot); 9K111-1 Konkurs (AT-5 Spandrel); 9K115 Metis (AT-7 Saxhorn) และ
มี จนท.กห. 17,000 คน เบลารุสส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจกับสหประชาชาติในเลบานอน (UNIFIL) 7 นาย
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสกับประเทศตะวันตกที่ผ่านมาไม่ราบรื่น อีกทั้งเบลารุส
เผชิญมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศในยุโรป ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมือง
ภายในเบลารุส และการที่รัสเซียใช้เบลารุสเป็นรัฐกันชนด้านทิศตะวันตกเพื่อรับมือกับการขยายกำลังทางทหารของเนโตมาประชิดพรมแดนรัสเซีย และแผนการติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศในโปแลนด์ของสหรัฐฯ
2) ความสัมพันธ์กับรัสเซียมีความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงใกล้ชิดกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและในระดับภูมิภาค ผ่านองค์กรสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization-CSTO) ส่วนด้านเศรษฐกิจเบลารุสพึ่งพารัสเซียอย่างมาก
ความสัมพันธ์ไทย–เบลารุส
ด้านการทูต ไทยให้การรับรองเอกราชของเบลารุสเมื่อ 26 ธ.ค.2534 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 21 ก.ค.2535 โดย สอท.ไทยประจำมอสโก มีเขตอาณาครอบคลุมเบลารุส และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ มินสก์ ขณะที่สถานกงสุลกิตติมศักดิ์เบลารุสประจำประเทศไทย อยู่ในเขตอาณาของ สอท.เบลารุสประจำเวียดนาม
ตั้งแต่ต้นปี 2560 ไทยและเบลารุสติดต่อระหว่างกันมากขึ้นเป็นลำดับ การเยือนที่สำคัญ ได้แก่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะผู้แทนกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เบลารุส นำโดย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เยือนเบลารุสระหว่าง 29 พ.ค.-4 มิ.ย.2560 เพื่อเยี่ยมคารวะนาย Vladimir Andrechenko ประธานสภาผู้แทนราษฎรเบลารุส และนาย Vladimir I. Semashko รอง นรม.เบลารุส รวมถึงร่วมประชุมทวิภาคีกับ นาย Pavel Utiupin รมช.กระทรวงเศรษฐกิจเบลารุส และพบหารือผู้แทนจาก Hi-Tech Park ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติเบลารุส
การค้าไทย-เบลารุส ห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 มีมูลค่าการค้า 84.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 81.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 78.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อปี 2559 เบลารุสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 106 ของไทย มีมูลค่าการค้า 68.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า
สินค้าส่งออกของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผ้าผืน ส่วนสินค้านำเข้าจากเบลารุส ได้แก่ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ
ทั้งนี้ ไทยคาดหวังให้เบลารุสนำเข้ายางพาราจากไทยเพิ่มขึ้นและเข้ามาลงทุนใน Rubber City ของไทยเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปตลาดอาเซียนและทั่วโลก รวมทั้งเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากไทย เช่น อาหารทะเล และอาหารกระป๋อง ขณะที่เบลารุสสนใจส่งออกสินค้ามาไทยโดยเฉพาะปุ๋ยโพแทช ยางรถยนต์ รถบรรทุก และรถแทรกเตอร์ ส่วนภาคเอกชนไทย สนใจส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าเกษตรแปรรูปไปยังเบลารุส
ด้านการลงทุน ไทยและเบลารุสเห็นพ้องส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยเบลารุสเล็งเห็นโอกาสในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปตลาดอาเซียนและคู่ FTA ของไทยและอาเซียน อุตสาหกรรม
ที่เบลารุสมีความเชี่ยวชาญ และไทยอาจพิจารณาให้มีการร่วมลงทุนในไทย ได้แก่ รถบรรทุกขนาดใหญ่ เครื่องจักรกลทางการเกษตร เครื่องมือการทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ โดยมีการร่วมทุนระหว่างบริษัทอาเซียนโปแทซชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท JSC Belaruskali (รัฐวิสาหกิจ) ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และปุ๋ยโพแทช สำหรับด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเบลารุสเยือนไทยเมื่อปี 2560 จำนวน 14,353 คน (เพิ่มขึ้น 7%) สร้างรายได้ 806 ล้านบาท
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับเบลารุส ได้แก่ พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกระทรวงการต่างประเทศเบลารุส (16 พ.ค.2543) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเบลารุส (16 พ.ค.2543) อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (15 ธ.ค.2548) และความตกลงระหว่างไทยกับเบลารุสว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (12 มี.ค.2558) นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังมีความตกลงที่อยู่ระหว่างรอลงนาม คือ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหารและอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำ 1) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเบลารุส และ 2) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านรัฐสภา ระหว่างรัฐสภาสาธารณรัฐเบลารุสกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติส่วน ความตกลงระหว่างภาคเอกชนที่รอการลงนามคือ MOU ความร่วมมือระหว่างหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติเบลารุสกับหอการค้าแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ เมื่อปี 2561 รัฐบาลเบลารุสและไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตาม มติ ครม. เมื่อ 23 ก.ค.2561 และพิจารณาร่างข้อตกลงด้านการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางประเภทท่องเที่ยว
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การเมืองในเบลารุส ด้านสิทธิมนุษยชน และความตึงเครียดในเวทีระหว่างประเทศ
เฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปต่อกรณีการอพยพ ลี้ภัย ย้ายถิ่นฐาน จากบริเวณชายแดนเบลารุสผ่านลิทัวเนีย ลัตเวีย โปแลนด์ มุ่งสู่ประเทศในยุโรป ที่มีแนวโน้มบานปลาย
2) บทบาทเบลารุสต่อประเทศในเอเชีย เฉพาะอย่างยิ่งกับจีน เมียนมา และเวียดนาม
3) ความร่วมมือทวิภาคีภายใต้การบูรณาการเป็นสหภาพ (Union State) ระหว่างรัสเซียกับเบลารุส