สาธารณรัฐเซอร์เบีย
Republic of Serbia
เมืองหลวง กรุงเบลเกรด
ที่ตั้ง อยู่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 88,361 ตร.กม. ขนาดใหญ่อันดับที่ 111 ของโลก แบ่งเป็นพื้นดิน 19,194 ตร.กม. พื้นที่ป่า 19,499 ตร.กม. เซอร์เบียเป็นประเทศที่ไม่มีเส้นทางเข้าสู่ทะเล (landlocked) โดยต้องใช้เส้นทางผ่านมอนเตเนโกรเพื่อเข้าถึงทะเลอเดรียติก และสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ยุโรปตอนในและทะเลดำได้ โดยผ่านแม่น้ำดานูบ
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับฮังการี
ทิศใต้ ติดกับนอร์ทมาซิโดเนีย และแอลเบเนีย
ทิศตะวันออก ติดกับโรมาเนีย และบัลแกเรีย
ทิศตะวันตก ติดกับมอนเตเนโกร โครเอเชีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา
ภูมิประเทศ มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ทางตอนเหนือมีที่ราบ ทางตะวันออกมีแนวหินปูนและแอ่งน้ำ ทางตะวันออกเฉียงใต้มีภูเขาและเนินเขาที่เก่าแก่ ทางเหนือมีแม่น้ำดานูบ ทางใต้มีแม่น้ำ Morava ทางตอนกลางประกอบด้วยเนินเขาเตี้ย ๆ และสูงปานกลาง แทรกด้วยแม่น้ำและแอ่งน้ำขนาดเล็ก
ภูมิอากาศ มีสภาพอากาศแบบทวีปยุโรปในทางตอนเหนือของประเทศ (หนาวจัดในฤดูหนาวและร้อนชื้นในฤดูร้อน และมีฝนตกประปราย) ในภาคอื่น ๆ มีลักษณะอากาศแบบทวีปยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียนผสมกัน (อากาศในฤดูหนาวค่อนข้างหนาว และมีหิมะตกหนัก ในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิอากาศจะร้อนแห้ง)
ศาสนา คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ 84.6% คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 5% อิสลาม 3.1% นับถือศาสนาอื่น 2% ไม่นับถือศาสนา 1.1% คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ 1% ไม่ทราบข้อมูล 3.1%
ภาษา ภาษาราชการ ได้แก่ ภาษาเซอร์เบีย ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาฮังการี ภาษาบอสเนีย ภาษาโรมา
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 99.5% (พิจารณาจากหลักเกณฑ์ผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อ่านออกเขียนได้) งบประมาณทางการศึกษา 3.53% ของ GDP
วันชาติ 15 ก.พ.
นางสาวอานา เบอร์นาบิช
Ana Brnabić
(นรม.เซอร์เบีย)
ประชากร 7,149,076 คน (ต.ค.2566) ลดลง 0.9%
รายละเอียดประชากร
เซิร์บ 83.3% ฮังการี 3.5% โรมา 2.1% บอสเนีย 2% อื่น ๆ (โครแอต แอลเบเนียน สโลวัก บัลแกเรียน) 5.7%
อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 14.45% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 65.81% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 19.74% อัตราการเกิด 8.87 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 15.12 คนต่อประชากร 1,000 คน อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 75.08 ปี เพศชาย 72.46 ปี เพศหญิง 77.85 ปี
การก่อตั้งประเทศ เซอร์เบีย เดิมเป็น 1 ใน 6 ชาติในสาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย หรือ Socialist Republic of Yugoslavia ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2488 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (อีก 5 ชาติ ในกลุ่ม ได้แก่ มอนเตเนโกร สโลวีเนีย โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และนอร์ทมาซิโดเนีย) จนกระทั่งห้วงทศวรรษที่ 1990 สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียค่อย ๆ แตกสลาย โดย 1) สโลวีเนียและนอร์ทมาซิโดเนียสามารถแยกตัวเป็นอิสระได้โดยสันติ 2) การแยกตัวของโครเอเชียและบอสเนียต้องเผชิญกับการทำสงครามอย่างรุนแรง 3) เซอร์เบียและมอนเตเนโกร ห้วงปี 2535-2546 รวมตัวกันจัดตั้งเป็น Federal Republic of Yugoslavia ต่อมาปี 2546 ปรับรูปแบบกลายเป็น Union of Serbia and Montenegro ที่มีลักษณะการรวมตัวแบบหลวมกว่าเดิม และปี 2549 มอนเตเนโกรได้ลงประชามติและแยกตัวเป็นเอกราช ส่งผลให้เหลือเพียงเซอร์เบียประเทศเดียว ปัจจุบันเซอร์เบียพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคอซอวอ จากความขัดแย้งยืดเยื้อนับตั้งแต่การประกาศเอกราชฝ่ายเดียวของคอซอวอ
การเมือง ปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข
ฝ่ายบริหาร : นรม.ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร โดย นรม.ได้รับการคัดเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร (The National Assembly) ตามข้อเสนอของประธานาธิบดีภายหลังจากประธานาธิบดีได้หารือกับแกนนำในรัฐสภาเพื่อเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศโดยประชาชน วาระ 5 ปี ภารกิจของประธานาธิบดีส่วนใหญ่เน้นด้านพิธีการ และมีอำนาจด้านการบริหารอย่างจำกัด บุคคลในคณะรัฐมนตรีได้รับการเสนอชื่อจาก นรม.และสภาผู้แทนราษฎรให้การรับรอง ในทางปฏิบัติ อำนาจการบริหารอยู่ที่ นรม. รอง นรม.ด้านต่าง ๆ และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ โดย นรม.ทำหน้าที่เสนอวาระต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดี่ยว มีสภาผู้แทนราษฎร (The National Assembly) ประกอบด้วยผู้แทนที่มาจากการคัดเลือกด้วยวิธีการลงคะแนนลับจำนวน 250 คน วาระ 4 ปี มีอำนาจสูงสุดด้านนิติบัญญัติ ทำหน้าที่พิจารณารับรองหรือปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแต่งตั้งและถอดถอนผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเซอร์เบีย และตำแหน่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐอื่น ๆ ทั้งนี้ พรรค Serbian Progressive Party (SNS) ซึ่งนำโดยประธานาธิบดี Aleksandar Vucic ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 1 เมื่อ มิ.ย.2563 และชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เมื่อ 3 เม.ย.2565 (เป็นการเลือกตั้งก่อนกำหนดเดิมในปี 2567)
ฝ่ายตุลาการ : กระบวนการยุติธรรมประกอบด้วยศาลหลายระดับ ได้แก่ ศาลชั้นต้น (Basic Court) ศาลชั้นสูง (High Court) ศาลอุทธรณ์ (Appellate Court) และศาลฎีกา (Supreme Court of Cassation) ศาลฎีกามีอำนาจสูงสุด ทำหน้าที่ทบทวนคดีความที่ผ่านการพิจารณาจากศาลชั้นรองอื่น ๆ ลดหลั่นตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีศาลเฉพาะด้าน เช่น ศาลพาณิชย์ (Commercial Court) ศาลปกครอง (Administrative Court)
การแบ่งเขตการปกครอง การจัดการเขตบริหารการปกครองของเซอร์เบียแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่คือ เซอร์เบียกลาง (Central Serbia/Serbia proper) และจังหวัดปกครองตัวเองวอยโวดีนา (Autonomous Province of Vojvodina) โดยจัดแบ่งการปกครองย่อยเป็นเขตต่าง ๆ จำนวน 25 เขต (30 เขต หากรวมคอซอวอด้วย) แบ่งออกเป็น เขตปกครองพิเศษ 1 เขต คือ เขตปกครองพิเศษเบลเกรด เขตปกครองในวอยโวดีนา 7 เขต ได้แก่ ซเรม บาชกาใต้ บาชกาตะวันตก บาชกาเหนือ บานัทเหนือ บานัทตอนกลาง และบานัทใต้ เขตปกครองในชูมาดียาและเซอร์เบียตะวันตก 8 เขต ได้แก่ โกลูบารา ชูมาดียา ซลาติบอร์ โปโมราฟลีเย มาชวา โมราวิทซา ราชกา และราซินา เขตปกครองในเซอร์เบียภาคตะวันออกและใต้ 9 เขต ได้แก่ ซาเยร์ชาร์ โทปลิทซา นิชาวา บรานิเชโว บอร์ ปชินยา ปิรอท โปดูนาฟลีเย และยาบลานิทซา เขตปกครองอยู่ในคอซอวอ 5 เขต (มีปัญหาขัดแย้งเรื่องการอ้างสิทธิ) ได้แก่ คอซอวอ คอซอวอ-โปโมราฟลีเยคอซอฟสกา-มิตรอวิทซา เปช และพริซเรน
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Serbian Progressive Party (SNS) เป็นพรรครัฐบาลตั้งแต่ปี 2555 โดยมีอุดมการณ์แบบกลางขวา มีประธานาธิบดี Aleksan Vucic เป็นอดีตหัวหน้าพรรค และปัจจุบัน นาย Miloš Vučević รอง นรม. และ รมว.กระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านเคยโจมตีพรรค SNS ว่าจัดการเลือกตั้งแบบเผด็จการ และไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเมื่อปี 2563 นอกจากนี้ เซอร์เบียยังมีพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ในเซอร์เบีย ได้แก่ พรรค Alliance of Vojvodina Hungarians (SVM/VMSZ) ของชนกลุ่มน้อยชาวฮังการี พรรค Albanian Democratic Alternative-United Valley (PVD/PDD) ของชนกลุ่มน้อยชาวแอลแบเนีย และพรรค Party of Democratic Action (SDA) ของชนกลุ่มน้อยชาวบอสเนีย
เศรษฐกิจ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเซอร์เบียอย่างรุนแรง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงาน นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของกลุ่มเปราะบางสูง ขณะที่กระบวนการเข้าร่วมสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไม่มีความคืบหน้า ส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนและการดำเนินการโครงการต่าง ๆ
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดีนาร์เซอร์เบีย (Serbia Dinar)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดีนาร์เซอร์เบีย : 0.0084 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 1 ดีนาร์เซอร์เบีย : 0.32 บาท (ต.ค.2565)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 75,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 11,300 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 2,835,900 คน
อัตราการว่างงาน : 9.1%
อัตราเงินเฟ้อ : 8.2%
มูลค่าการส่งออก : 23,761 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะที่ไม่มีแร่เหล็กเป็นส่วนประกอบ ยางและพลาสติก ผลิตภัณฑ์เคมี
มูลค่าการนำเข้า : 30,107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องจักรทั่วไป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ยานยนต์ และโลหะ
คู่ค้าสำคัญ : สหภาพยุโรป จีน รัสเซีย ตุรกี บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เยอรมัน อิตาลี โปแลนด์
การทหาร มีกำลังพล 28,150 นาย (แยกเป็น ทบ.13,250 นาย ทอ.5,100 นาย Training Command 3,000 นาย Guards 1,600 นาย และอื่น ๆ 5,200 นาย) กกล.สารวัตรทหาร 3,700 นาย กำลังพลทหารสำรอง 50,150 นาย งบประมาณด้านการทหาร 2.42% ของ GDP เซอร์เบียยกเลิกการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ ธ.ค.2553 โดยปัจจุบัน ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถสมัครเป็นทหารได้โดยสมัครใจ
ปัญหาด้านความมั่นคง เซอร์เบียเสี่ยงเป็นเส้นทางขนส่งของอาวุธ ยาเสพติด และเงินผิดกฎหมายภายในภูมิภาค อีกทั้งเป็นจุดขนส่งทางเรือของเฮโรอีนจากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ไปยังยุโรปตะวันตกโดยผ่านเส้นทางบอลข่าน ขณะที่ภาคเศรษฐกิจยังเปราะบางเสี่ยงเป็นแหล่งฟอกเงิน และยังประสบปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนที่เชื่อมต่อกับคอซอวอ เซอร์เบียได้เสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนในระดับทวิภาคีกับบัลแกเรีย ฮังการี และโรมาเนีย และระดับไตรภาคีกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และโครเอเชีย
ความสัมพันธ์ไทย-เซอร์เบีย :
ไทยและเซอร์เบียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 22 เม.ย.2546
ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าการค้าไทย-เซอร์เบีย ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 อยู่ที่ 1,482 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1,090 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 393 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 697 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารกระป๋องและแปรรูป แม่พิมพ์หุ่นแบบหล่อโลหะ รถยนต์ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปอื่น ๆ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ความขัดแย้งระหว่างเซอร์เบีย-คอซอวอ ข้อพิพาทเกิดขึ้นนับจากคอซอวอซึ่งเคยเป็นจังหวัดหนึ่งในเซอร์เบียแยกตัวออกมาเมื่อปี 2542 ต่อมาได้ประกาศตัวเป็นเอกราช (เป็นการประกาศฝ่ายเดียว) เมื่อปี 2551 ในขณะที่เซอร์เบียไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของคอซอวอ และขัดขวางไม่ให้คอซอวอเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ มาโดยตลอด ขณะที่คอซอวอตอบโต้เซอร์เบียด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเซอร์เบียเป็นร้อยละ 100 เมื่อ พ.ย.2561 อีกทั้งรัฐสภาคอซอวอผ่านร่างกฎหมายเมื่อ 14 ธ.ค.2561 เห็นชอบให้เปลี่ยนกองกำลังความมั่นคงคอซอวอ (Kosova Security Force-KSF) เป็นกองทัพอย่างเต็มรูปแบบโดยมีกำลังพล 5,000 นาย ซึ่งการปรับเปลี่ยนกองกำลังของคอซอวอทำให้เซอร์เบียไม่พอใจอย่างมาก แต่ทั้งสองฝ่ายลงนามใน The Kosovo and Serbia economic normalization agreements เป็นข้อตกลงที่เน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นคนกลาง ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ ก.ย.2563 อย่างไรก็ตาม ในห้วงปลายปี 2565-ต้นปี 2566 ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศกลับมาทวีความรุนแรง นับตั้งแต่นายกเทศมนตรีเชื้อสายแอลเบเนียเข้าดำรงตำแหน่งในพื้นที่ทางตอนเหนือของคอซอวอ ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บ กระทั่งสหรัฐฯ และ EU เข้ามาไกล่เกลี่ยและกดดันให้เซอร์เบียและคอซอวอปฏิบัติตามแผนสันติภาพ ซึ่งเซอร์เบียจะต้องหยุดขัดขวางไม่ให้คอซอวอมีตำแหน่งในองค์การระหว่างประเทศ ขณะที่คอซอวอจะต้องสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรของเขตปกครองชาวเซิร์บ และทั้งสองประเทศจะต้องเปิดสำนักงานผู้แทนในเมืองหลวงของอีกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้ เซอร์เบียและคอซอวอต่างมีกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในประเทศ ดังนั้น แผนดังกล่าวอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้
2) การเข้าเป็นสมาชิก EU ของเซอร์เบีย การแก้ไขข้อพิพาทระหว่างเซอร์เบียกับคอซอวอ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ EU จะพิจารณารับทั้งสองชาติเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ EU และเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ EU ในการขยายสมาชิกใหม่ให้ครอบคลุมภูมิภาคบอลข่าน ซึ่งที่ผ่านมา EU มีบทบาทในการช่วยประสานการรื้อฟื้นการเจรจาเพื่อนำความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์เบีย-คอซอวอ กลับคืนสู่ภาวะปกติ แม้จะยังไม่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม แต่ EU ยังสานต่อความพยายามดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เซอร์เบียมีสถานะเป็น candidate country และคาดหวังว่าเซอร์เบียจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ EU ได้ภายในปี 2568 ทั้งนี้ EU มีมุมมองเชิงบวกต่อ กลุ่มประเทศบอลข่านตะวันตก 6 ประเทศ ได้แก่ เซอร์เบีย แอลบาเนีย นอร์ทมาซิโดเนีย บอสเนียและ เฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และคอซอวอ ว่าจะมีบทบาทสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อ EU ในอนาคต
3) การสร้างสัมพันธ์กับมหาอำนาจ เซอร์เบียยังคงดำเนินการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ต่าง ๆ กับหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย จีน และสหรัฐฯ โดยเซอร์เบียหลีกเลี่ยงการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียกรณีการบุกรุกยูเครน เนื่องจากนาย Aleksandar Vučić ประธานาธิบดีเซอร์เบียมีจุดยืนในการสนับสนุนฝ่ายรัสเซีย และเซอร์เบียยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมากจากรัสเซีย
4) การสกัดกั้นคลื่นผู้ลี้ภัย เซอร์เบียยังคงมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และสมาชิก EU เพื่อสกัดกั้นคลื่นผู้ลี้ภัยที่ต้องการใช้เซอร์เบียเป็นทางผ่านไปสู่ยุโรป โดยรัฐบาลเซอร์เบียพิจารณาให้ความคุ้มครองชาวยูเครนที่ลี้ภัยจากเหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนให้สามารอาศัยอยู่ในประเทศได้ชั่วคราวตั้งแต่ มี.ค.2565