ตามที่กฎกระทรวงผังเมืองรวมได้กำหนดให้พื้นที่เมืองแบ่งขอบเขต (zone) การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นหลายประเภท ได้แก่ (1) ผังสีเหลือง พื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (2) ผังสีส้ม พื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นต่ำ (3) ผังสีน้ำตาล พื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยความหนาแน่นสูง (4) ผังสีแดง พื้นที่ประเภทพาณิชยกรรม (5) ผังสีม่วง พื้นที่ประเภทอุตสาหกรรม (6) ผังสีม่วงเม็ดมะปราง พื้นที่ประเภทคลังสินค้า (7) ผังสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว พื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (8) ผังสีเขียว พื้นที่ประเภทชนบทและเกษตรกรรม และ (9) ผังสีน้ำเงิน พื้นที่ประเภทสถาบันราชการ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสาธารณะประโยชน์ …การแบ่งผังเมืองตามสีต่าง ๆ ข้างต้นถูกกำหนดเอาไว้ก็จริง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป…
เพราะเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตร ผังสีของผังเมืองรวมจึงมีการเปลี่ยนตามบริบทของสังคมไปด้วย ทำให้การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีความเหมาะสมคุ้มค่ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตในเมืองมากที่สุด รวมถึงพื้นที่เกษตรที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้น้อย เปรียบเสมือนที่ว่างเปล่าที่ใช้เพื่อรองรับการขยายตัวเพียงเท่านั้น
การรับรู้นิยามของพื้นที่เกษตรกรรม หรือ การใช้ประโยขน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มักจะถูกมองว่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช เพราะเกษตรกรเป็นนักเพาะปลูกพืช เพื่อส่งเข้าขายในระบบตลาด แต่เพื่อพัฒนาให้อาชีพเกษตรกร แก้ปัญหาราคาผลผลิต และรายได้ของเกษตรกร จริง ๆ แล้ว กระบวนการพัฒนาพื้นที่เกษตรทั้งหมด คือ การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมที่ครบถ้วน ต่อยอดจากการเพาะปลูกไปสู่การแปรรูป การขาย การตลาดและการบริการ โดยมีเกษตรกรเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักที่จะได้ฝึกฝนทักษะอื่นๆ นอกจากการเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น “การพัฒนาพื้นที่เกษตรแบบต่อยอด” จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนการเกษตร ไม่ใช่เพียงแค่การมอบพื้นที่ มอบเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า หรือพันธุ์สัตว์ แต่รวมถึงการสร้างแหล่งกระจายสินค้า ร้านค้าและบริการที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้กลับสู่เกษตรกร จึงกล่าวได้ว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรนั้นไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่ที่การเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถใช้ในเรื่องของการพาณิชย์ อุตสาหกราม ที่อยู่อาศัย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว
สำหรับนิยามตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรได้กำหนดกิจกรรมที่สนับสนุนการเกษตรไว้ ดังนี้
1. กิจการทางวิชาการทางการเกษตร สาธิต ทดลอง เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
2. กิจการที่ส่งเสริมหรือประกันราคาพืชผลการเกษตร
3. กิจการการดำเนินการผลิตและจำหน่ายผลผลิต ที่เป็นข้อตกลงร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
4. กิจการที่เป็นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิตการจำหน่ายการตลาดให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
5. กิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตกำเนินการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกิจการนั้นต้องอยู่ในพื้นที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เช่นปั๊ม โรงผลิตน้ำ ตลาด ร้านค้า ไปรษณีย์ สถานีขนส่ง ร้านอาหาร โรงเรียน ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
6. โรงงานแปรรูป เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานผลไม้กระป๋อง โรงงานน้ำมันพืช โรงกลั่นสุราชุมชน โรงเลี้ยงสัตว์และโรงฆ่าสัตว์
จะเห็นได้ว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรสามารถพัฒนาได้ ควบคู่ไปกับบริบทของการกลายเป็นเมือง (urbanization) ที่การใช้ประโยชน์ที่ดินจะเปลี่ยนไปตามการขยายตัวของเมือง พื้นที่เกษตรกรรมสามารถเป็นพื้นที่พาณิชย์ที่มีร้านค้าขายสินค้าและเครื่องมือการเกษตรให้กับเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีโรงงานแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดคนให้มาจับจ่ายใช้สอยบริโภคสินค้าเกษตรกรรม และเป็นแหล่งกระจายองค์ความรู้ ฝึกฝนทักษะให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ โดยที่กิจกรรม ทั้งหมดยังคงถือเป็นการส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรทั้งสิ้น
สรุปแล้ว พื้นที่เกษตรไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์แค่เรื่องการเพาะปลูกเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินนี้จะช่วยพัฒนาให้ “เกษตรกร” มีบทบาทเป็น “ผู้ประกอบการทางเกษตรกรรรม” สามารถบริหารจัดการที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยี smart farm ในการเพาะปลูกในโรงเรือนให้ได้ปริมาณผลผลิตสูงโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด สามารถวาวแผนการตลาดได้ตรงตามอุปสงค์ของผู้บริโภค สร้างรายได้หลายช่องทางจากการเกษตรจนสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของสินค้าเกษตรได้
ไม่เพียงเท่านั้น การพัฒนาจากพื้นที่เกษตรไปเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินรูปแบบอื่น จะเปลี่ยนแปลงวงจรการเกษตรได้อย่างครบวงจร แต่ต้องได้รับการสนับสนุน ทั้งแนวทางการใช้ที่ดินจากภาครัฐ การลงทุนร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว โรงงาน จากภาคเอกชน ถือเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อเปลี่ยนแปลงการเกษตร เพราะเมื่อการเกษตรได้รับการพัฒนาแล้ว จะส่งผลดีต่อรายได้ของประเทศ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสีเขียว และสร้างความยั่งยืนให้ได้ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม
—————————————————————-