Nusantara ซึ่งในภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย แปลว่า หมู่เกาะ (Archipelago) เริ่มเป็นที่คุ้นเคยของผู้คนมากขึ้นในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า ชื่อนี้จะเป็นชื่อของเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซียบนเกาะบอร์เนียว
รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่แทนกรุงจาการ์ตา โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียประกาศแผนดังกล่าวเมื่อปี 2562 และต่อมามื่อปี 2565 รัฐสภาอินโดนีเซียก็ผ่านกฎหมายในการย้ายเมืองหลวงของประเทศ
สาเหตุสำคัญของการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียมาจากความท้าทายทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่กรุงจาการ์ตากำลังเผชิญและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ทั้งปัญหาความแออัดของประชากรโดยประมาณการว่ามีประชาชนอย่างน้อย 10 ล้านคนอาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตา ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำท่วม และที่สำคัญมากที่สุด คือ การที่กรุงจาการ์ตากำลังจะจมน้ำ จากการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในเมืองในปริมาณที่มากเกินไป
ข้อมูลในปัจจุบันชี้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงจาการ์ตาจะจมน้ำในระดับที่รวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำภายในปี 2583 ขณะที่รายงานของธนาคารโลกระบุว่า พื้นที่กรุงจาการ์ตาจะลดระดับต่ำลงถึง 40-60 เซนติเมตรในปี 2568 เมื่อเทียบกับอัตราในปี 2551 ดังนั้น อินโดนีเซียจึงจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการปรับตัวและเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ กรุงจาการ์ตายังเผชิญปัญหามลพิษทางน้ำมากมาย และน้ำใต้ดินส่วนใหญ่ที่ประชาชนใช้ก็เต็มไปด้วยสารปนเปื้อน
Nusantara เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซียตั้งอยู่ระหว่างเขตเปอนาจัมปาเซร์เหนือ และเขตกูไตการ์ตาเนอการา ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว (หรือเกาะกาลิมันตัน) ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าให้ Nusantara เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองในห้วงปลายปี 2567 ขณะที่กรุงจาการ์ตาจะยังคงมีบทบาทในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่จะผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางนิเวศวิทยาบนเกาะบอร์เนียว โดยป่าฝนเขตร้อนบนเกาะบอร์เนียว หรือที่เรียกว่า Heart of Borneo มีพื้นที่ครอบคลุมร้อยละ 30 ของเกาะ และเป็น 1 ในผืนป่าขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 24 ล้านเอเคอร์ ป่าบนเกาะบอร์เนียวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพันธ์ุพืชหลายสายพันธุ์ รวมทั้งยังเป็น 1 ใน 2 พื้นที่สุดท้ายของโลกที่ลิงอุรังอุตัง ช้าง และแรดอาศัยอยู่ร่วมกัน
ด้านนักสิ่งแวดล้อมจึงเตือนว่า การสร้างเมืองขนาดใหญ่จะเร่งอัตราการตัดไม้ทำลายป่าบนเกาะบอร์เนียวซึ่งเป็นป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผ่านมาอินโดนีเซียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดในโลก จากการทำเหมืองแร่ เกษตรกรรม และการทำไม้ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาดำเนินกิจการดังกล่าวข้างต้นโดยไม่มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่มีแนวโน้มจะกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชนพื้นเมืองที่ต้องพึ่งพาผืนป่าดังกล่าวในการดำรงชีพ
รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามเน้นย้ำว่าการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่จะให้ความสำคัญและสอดรับกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนเกาะ โดยเน้นชูแนวคิดการเป็นเมืองสีเขียว (Green City) และคาร์บอนต่ำ รวมทั้งจะเป็นเมืองที่ส่งเสริมภาคเทคโนโลยี สุขภาพ เภสัชกรรม ควบคู่กับการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี แผนการก่อสร้างเมืองในระยะแรกที่จะประกอบด้วยทำเนียบประธานาธิบดี รัฐสภา ที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ และมัสยิด ก็ยังมีข้อห่วงกังวลจากนักวิชาการว่าการดำเนินการก่อสร้างที่รวดเร็วเกินไปอาจส่งผลเสียในระยะยาว
รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าว่าภายในปี 2588 จะมีประชาชนเข้าไปอาศัยอยู่ใน Nusantara ประมาณ 1.9 ล้านคน และจะมีกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบัน โครงการ Nusantara ยังอยู่แค่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ส่งผลทำให้การดำเนินการล่าช้าออกไป ขณะเดียวกัน การก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ยังมีความท้าทายในเรื่องเงินลงทุนที่จำเป็นต้องใช้ในจำนวนมหาศาลประมาณ 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอินโดนีเซียพยายามดึงดูดการลงทุนจากทั้งญี่ปุ่น จีน ตลอดจนประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
…….ทั้งนี้ การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่ายและมักจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานดังเช่นการก่อตั้งกรุงบราซิเลียของบราซิล หรือกรุงเนปยีดอของเมียนมา ……..สำหรับการสร้างเมือง Nusantara จึงยังคงเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนจะต้องติดตามพัฒนาการต่อไป ควบคู่กับการถอดบทเรียนที่ได้จากการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ในครั้งนี้
—————————————