I’m so sick of running as fast as I can
ฉันเบื่อกับการที่ต้องวิ่งเร็วสุดฝีเท้าอยู่ตลอด
Wondering if I’d get there quicker
ฉันสงสัยว่าฉันจะไปถึงเป้าหมายเร็วกว่านี้ไหม?
If I was a man
ถ้าฉันเป็นผู้ชาย
ช่วงแรกของท่อนคอรัสเพลง The Man (2562) ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ สะท้อนมุมมองเรื่องความเสมอภาคทางเพศ เทย์เลอร์กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงว่า “สังคมเรายังมีประเด็นเรื่องสองมาตรฐาน (double standard) อยู่” เธอเล่าต่อว่าเธอคิดมาตลอดว่าอยากถ่ายทอดประเด็นความไม่เสมอภาคทางเพศ รวมถึงประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปีของเธอ เนื้อหาสำคัญของเพลง คือ ถ้าหากเป็น “ผู้ชาย” ทุกการกระทำของเธอจะได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์ฉันคนรักที่ล้มเหลวกี่ครั้ง หรือการแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ถ้าเธอเป็นผู้ชายก็คงไม่เป็นอะไร แต่เมื่อเป็นผู้หญิง ก็จะถูกตัดสินในทันทีทันใด เทย์เลอร์นำเสนอประเด็นสองมาตรฐานที่ชัดเจน ในท่อนบริดจ์ของเพลง
ในห้วงเวลาราว 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของ “ผู้หญิง” เพื่อส่งเสียงว่าพวกเธอถูกเลือกปฏิบัติ การถูกล่วงละเมิด ไปจนถึงบทบาทในภาพยนตร์ของผู้หญิงที่ต้องเป็นผู้ตามอยู่เสมอ เมื่อปี 2558 แพทริเซีย อาร์เควต ได้รับรางวัล Academy Awards นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Boyhood โดยกล่าวถึงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างระหว่างนักแสดงหญิงและนักแสดงชาย นอกจากนี้ เมื่อปี 2560 รีส วิธเธอร์สปูน กล่าวขอบคุณเมื่อรับรางวัล ผู้หญิงแห่งปี จาก Glamour บอกเล่ามุมมองตลอดชีวิตการทำงานการแสดงของเธอว่า บทของผู้หญิงที่ต้องพูดเมื่อถึงภาวะวิกฤต มักจะเป็นการหันไปถามตัวละครชายว่า “เราจะทำอย่างไรต่อไปดี?” แน่นอนว่าเธอต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อตัวละครหญิง เธอกับเพื่อนของเธอจึงร่วมก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ ที่ให้เห็นบทบาทสำคัญของผู้หญิงในภาพยนตร์
ในปีเดียวกันนั้นเอง……ขบวนการเคลื่อนไหว #MeToo ได้กลายเป็นกระแส และเป็นช่องทางให้ผู้หญิงได้ส่งเสียง บอกเล่าประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศให้คนอื่นๆ ทราบว่า…พวกเธอไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพัง การเคลื่อนไหวของฮอลิวู้ดสร้างความสนใจและจุดกระแสไปสู่การส่งเสียงของผู้หญิงในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกสหรัฐฯ
มีศิลปินหญิงอีกหลายคนที่เล่าถึงความไม่เสมอภาคทางเพศ หรือการถูกกีดกัน
…..เมื่อปี 2554 เพลง Run the World (Girls) โดย Beyoncé ถ่ายทอดบทบาทผู้หญิงในสังคมว่าพวกเธอมีส่วนร่วมในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นย้ำพลังและบทบาทของผู้หญิงในการเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย ขณะเดียวกันได้ถ่ายทอดมุมมองว่าผู้หญิงถูกกดทับให้ด้อยกว่าผู้ชายอยู่เสมอ เนื้อหาสำคัญของเพลง ว่าด้วยผู้หญิงควรได้รับการเคารพ และได้รับการยอมรับ เพราะพวกเธอก็ทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ และยังต้องดูแลความเรียบร้อยในบ้านอีกด้วย
เมื่อปี 2543 เพลง Independent Women (Part 1) โดย Destiny’s Child เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Charlie’s Angels (2543) เนื้อหาสำคัญของเพลงเล่าถึงการที่ผู้หญิงสามารถดูแล-ปรนเปรอตัวเองได้ รวมถึงตั้งคำถามกลับไปว่าสังคมคิดอย่างไรกับการที่ผู้หญิงมีอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้เงาของผู้ชาย นอกจากนี้เพลงยังสร้างความเป็นกลุ่มก้อนผ่านความเป็นผู้หญิงอีกด้วย
อย่างไรก็ตามย้อนไปในช่วงปี 2543-2553 เรากลับไม่เห็นการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในแวดวงฮอลิวู้ดที่เข้มข้นและเห็นได้ชัด แต่ก็พบว่ามีความพยายามบอกเล่าความเป็นผู้หญิง และความพยายามหลุดออกจากกรงของ “สังคมชายเป็นใหญ่” ผ่านภาพยนตร์และบทเพลง เช่น Charlie’s Angels (2543) เพลง Independent Women และ เพลง Run the World (Girls) ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
ทั้ง 3 เพลงที่กล่าวถึงข้างต้น พอจะทำให้เห็นเส้นทางการกล่าวถึงประเด็นความเสมอภาคทางเพศในสังคมอเมริกันทั้ง 3 บทเพลง จากแต่ละทศวรรษ ยังฉายให้เห็นมุมมองต่อแนวคิด “สตรีนิยม” หรือ “เฟมินิสม์” ที่พัฒนามาตามยุคสมัย กล่าวโดยสรุป เฟมินิสต์ เป็นทั้งทฤษฎี และขบวนการเคลื่อนไหว ที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ นับถึงปัจจุบัน (2565) เฟมินิสต์แบ่ง “คลื่น” ของขบวนการเป็น 4 ช่วงหลัก ดังนี้
1. ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2391-2463) เป็นการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มสตรี ชนชั้นกลาง ผิวขาว และได้รับการศึกษาในอังกฤษและสหรัฐฯ เคลื่อนไหวเพื่อให้พวกเธอมีสิทธิในการเลือกตั้ง (universal suffrage) และสิทธิในการถือครองทรัพย์สมบัติ โดยไม่ต้องมีผู้ชายทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองในการทำธุรกรรมต่างๆ กล่าวคือ คลื่นลูกแรกของแนวคิดเฟมินิสม์ ให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียม และสิทธิในการถือครองทรัพย์สิน
2. ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960-1990 (พ.ศ. 2503-2533) มีการพัฒนาแนวคิดที่ว่าการแบ่งแยก “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” เกิดจากค่านิยมและความคาดหวังของสังคม ที่ชายต้องมีคุณลักษณะอย่างหนึ่ง เช่น เข้มแข็ง เป็นผู้ปกป้อง ขณะที่หญิงก็ต้องมีคุณลักษณะอย่างหนึ่ง เช่น เรียบร้อย สงบปากสงบคำ และอยู่ภายใต้ผู้ชาย กล่าวคือ คลื่นลูกที่สองของแนวคิดเฟมินิสม์ ที่กลับไปตั้งคำถามกับความเป็นหญิง-ชาย ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากโครงสร้างสังคมและอคติมากกว่า..ที่จะเห็นว่าเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ”
3. ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 กรอบคิดเกี่ยวกับเฟมินิสม์พัฒนาต่อไป เนื่องจากเป็นช่วงที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง และแนวคิดเสรีประชาธิปไตยเป็นกรอบคิดหลักในการดำเนินนโยบายทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ กรอบคิดเฟมินิสม์ในคลื่นลูกที่สามเริ่มมีการโอบรับความหลากหลายของเพศวิถี (gender) เข้ามาในขบวนการเคลื่อนไหว นอกจากนี้กรอบคิดในช่วงนี้ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก (individual) รวมถึงตั้งคำถามกับการได้มาของความรู้ที่ไม่ได้ความเป็นหนึ่งเดียวอย่างผู้หญิง ผิวขาว ชาวตะวันตก ที่มีการศึกษา หากแต่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ผู้หญิงแอฟริกัน ผู้หญิงเอเชีย หรือผู้หญิงฮิสแปนิก ย่อมมีประสบการณ์ ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่แตกต่างกัน ทำให้มีความคิดว่าแต่ละคน (ไม่จำกัดแค่ผู้หญิง) มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป และไม่สามารถมีใครเป็นตัวแทนใครได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ เฟมินิสม์ในคลื่นลูกที่สาม ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก และความหลากหลาย..แม้แต่ในความเป็น “ผู้หญิง”
4. ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2010 การเติบโตของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามามีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการเฟมินิสต์ โดยอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย กลายเป็นพื้นที่ (platform) แลกเปลี่ยน เล่าถึงประสบการณ์ เกี่ยวกับการถูกกระทำ หรือถูกเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพ-เพศวิถี รวมถึงเชื้อชาติ-อัตลักษณ์ การเคลื่อนไหวในช่วงของคลื่นลูกที่สี่ ยังคงผลักดันเรื่องความเสมอภาคทางเพศ เช่น การได้รับค่าตอบแทน โอกาสในการทำงาน รวมถึงการถูกดูถูก หรือถูกล่วงละเมิดในที่ทำงาน ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ #MeToo ที่ขยายวงไปทั่วโลกเมื่อปี 2560
ส่วนมิติการเมืองของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงและความเสมอภาคทางเพศได้รับการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เช่น การผ่านกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์อย่างมีเงื่อนไข (พ.ศ. 2548) การแต่งตั้งนางแนนซี่ เพโลซีเป็นโฆษกประจำทำเนียบขาว (พ.ศ. 2550) การผลักดันกฎหมายค่าจ้างที่เท่าเทียมและกลไกในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากเหตุแห่งเพศ (พ.ศ. 2552-2555) จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2560 มีสมาชิกสภาผู้แทนฯ สตรี จำนวน 104 คน และสมาชิกสภาสูง จำนวน 21 คน นโยบายกิจการสตรีภายใต้รัฐบาลไบเดน-แฮริส (และแฮริสก็เป็นสตรีเชื้อสายอินเดียคนแรกในตำแหน่งรองประธานาธิบดี) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาค และส่งเสริมโอกาสให้คนทุกคน ทุกเพศ สามารถพัฒนาความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้สตรีหมายเลขหนึ่งยังมีบทบาทในการสนับสนุนบทบาทเด็กและสตรีระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่ง อาทิ นางลอร่า บุช ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของสตรีและครอบครัว, นางมิเชล โอบามา ส่งเสริมสวัสดิภาพครอบครัวและการศึกษาของเยาวชนสตรี
จริงอยู่ว่ารัฐได้ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับปรุงเหล่านั้นอาจยังไม่ตอบสนองที่ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงในสังคม ขณะเดียวกันการทำความเข้าใจกับพลวัติสังคมจะเห็นได้ว่าไม่มีแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งที่จะอยู่กับสังคมได้ตลอดไป ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องความเสมอภาคทางเพศ และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมจึงเป็นการต่อรองที่ยังต้องพัฒนาต่อไป
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Feminist_movementhttps://www.humanrightscareers.com/issues/types-of-feminism-the-four-waves/
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/999552
https://www.bbc.com/thai/international-53153218
https://www.the101.world/chanan-yodhong-interview/
https://variety.com/2015/film/news/hollywood-feminism-womens-rights-sexism-1201610580/
https://www.whitehouse.gov/about-the-white-house/first-families/