ดูเหมือนว่าการ “ลด” เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน…… จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) เมื่อปี 2022 ระบุไว้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2024 เร็วกว่าที่เคยทำนายไว้ 1 ทศวรรษ ถือว่ามนุษยชาติจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกันใหม่ เพราะพฤติกรรมแบบเดิม ๆ ที่เคยทำในช่วงที่คิดว่าทรัพยากรมีอยู่อย่างไม่จำกัดนั้น…ได้สิ้นสุดแล้ว และจะทำอย่างไร เมื่อจำนวนประชากรยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
…มีการคาดการว่า จำนวนประชากรโลกก็กำลังเพิ่มขึ้นถึง 11 พันล้านคนภายในปี 2100 ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยมีการประมาณการณ์คาดว่าความต้องการอาหารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น (35%) น้ำ (40%) และพลังงาน (50%) ภายในปี 2030
การรณรงค์เพื่อลดปัญหาโลกร้อน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะชวนให้ทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รู้จักการรีไซเคิล ใช้ถุงผ้า เพื่อ “ลด” โลกร้อน แต่แน่นอนว่า การทำเพียงเท่านี้อาจจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะต้องยอมรับว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น มาจากพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันอย่างสิ้นเปลือง และเทคโนโลยียังถูกพัฒนาต่อเนื่องเพื่อตอบสนองพฤติกรรมเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้า และระบบอัจฉริยยะ (smart technology) เท่านั้น เพราะว่าการพัฒนาเทคโนโลยี กำลังก้าวไปสู่การเป็นเทคโนโลยีที่ลดโลกร้อนได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน “คาร์บอน” กลายเป็นผู้ร้ายตัวหลักของการจัดการเพื่อลดโลกร้อน โดยผลสรุปจากที่ประชุม COP ทุกครั้งมีเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนจนนำไปสู่ Net Zero ลดการปล่อยคาร์บอน ควบคู่ไปกับการจับคาร์บอนที่ปล่อยไปแล้วด้วยเทคโนโลยี Carbon capture โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของคาร์บอน ด้วยการใช้ปฏิกิริยาเคมีหรือพลังงานในการเปลี่ยนรูปคาร์บอน ให้เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ไม่ต่างจากแร่ธาตุในธรรมชาติอย่าง ถ่าน แกรไฟต์ เพชร ปิโตรเลียม หรือแม้แต่ในร่างกายของเราเองก็ตามก็มีส่วนประกอบของคาร์บอน
หากสามารถเปลี่ยนรูปคาร์บอนได้ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย เช่น การเปลี่ยนคาร์บอน (C) ให้กลายเป็น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นได้ต่อไป เช่น การผลิตโฟมหรือโพลีเมอร์ การผลิตเหล็ก การแพทย์ เครื่องดื่มอัดลม ทำน้ำแข็งแห้ง และสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยูเรียซึ่งนำไปใช้ในการทำปุ๋ยต่อไป ณ ปัจจุบันเทคโนโลยีในการเปลี่ยนรูปคาร์บอนยังคงมีต้นทุนทีสูง แต่คาดว่า หากผลิตภัณฑ์จากการดักจับคาร์บอนเป็นที่ต้องการของการตลาดมากขึ้น เทคโนโลยีก็จะมีต้นทุนที่ต่ำลงและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ไม่แตกต่างจาก โซล่าร์เซลล์
โซล่าร์เซลล์ยังคงเป็น “พระเอก” ในด้านของเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และล่าสุดได้ถูกพัฒนาต่อยอดให้โปร่งใสจากการคิดค้นของ ศาสตราจารย์ Richard Lunt มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (MSU) เปิดโอกาสสู่การพลิกวงการการเกษตรด้วยรูปแบบ Solar Greenhouse เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกกว่า 50% เป็นพื้นที่ทำเกษตรและปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลายชนิดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
ในเมื่อมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะ “ลด” การทำการเกษตรลงเพื่อหยุดสภาวะโลกร้อน เพราะความต้องการอาหารยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แนวทางการแก้ปัญหาจึงเป็นการใช้พื้นที่เพาะปลูกให้คุ้มค่ามากที่สุด และปรับวิธีการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพาะปลูกในโรงเรือน เพราะการปลูกในโรงเรือนจะตัดปัจจัยสภาพแวดล้อมออกไป สามารถเพาะปลูกได้หลายรอบใน 1 ปี การเพาะปลูกในโรงเรือนที่มีการใช้ Solar Cell แบบใสนั้นจะทำให้ Greenhouse สามารถผลิตอาหารและไฟฟ้าได้ รายได้ของเกษตรกรก็จะมากขึ้น หากพื้นที่ 150 ล้านไร่ ซึ่งเป็น 46% ของพื้นที่เกษตรในประเทศไทย เปลี่ยนมาเพาะปลูกใน Solar Greenhouse จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 42,000 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งเท่ากับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจาก ถ่านหิน ซึ่งกำลังจะหมดลงไปได้ถือเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานได้อีกด้วย
การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีส่วนร่วมและบทบาทในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมมนุษย์ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ใน “สภาวะโลกรวน” ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สามารถแก้ปัญหาความเสี่ยงของการเพาะปลูกในสภาพอากาศที่แปรปรวน ลดความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำจากการจัดการของเสียของภาคอุตสาหกรรม และสร้างพลังงานสะอาดได้อีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงาน และพลังงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO-Food and Agriculture Organization) ที่ตั้งไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2014
———————————————-