เมื่อนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กำลังจะเยือนกรุงปักกิ่งของจีน เพื่อพบหารือกับผู้นำจีน รวมทั้งนายฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนใน 5-6 กุมภาพันธ์ 2566 โดยจะเป็นการพบกันครั้งแรก หลังจากนายฉิน กัง เข้ารับตำแหน่งต่อจากนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนคนก่อนที่พ้นจากตำแหน่งไปเพื่อดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าเมื่อต้น มกราคม 2566
การพบกันครั้งนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะต้องวางแผนล่วงหน้าค่อนข้างมาก เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของจีนคนนี้เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับอเมริกาอย่างดี เนื่องจากเคยเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นอกจากนี้ นายฉิน กัง คนนี้ยังได้รับฉายาว่าเป็น “นักรบหมาป่า” หรือ wolf warrior ที่หมายถึงนักการทูตสายแข็งที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนในต่างประเทศด้วย ดังนั้น การพบกันระหว่างนายบลิงเคนกับนายฉิน กัง น่าจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับจีน และเรื่องระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างตรงไปตรงมา เพราะจากผลงานของนายบลิงเคนที่ผ่านมาก็มีท่าทีแข็งกร้าวและไม่อ่อนข้อต่อเรื่องจีนเช่นกัน
ทั้งสองฝ่ายน่าจะคุยอะไรกันบ้างในการพบกันครั้งนี้? The Intelligence ขอนำเสนอไว้ตรงนี้ก่อนอย่างน้อย 3 เรื่อง ที่เป็นเรื่องสำคัญของทั้ง 2 ฝ่ายในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่มีความตึงเครียดหลายประเด็น
เรื่องสำคัญแรกในการคุยกันครั้งนี้ คือ การร่วมกันทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า จีนและสหรัฐฯ จะไม่ใช่ตัวร้ายที่แข่งขันกันจนขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งอาจยังร่วมมือกันได้ในบางประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมให้ประเทศอื่น ๆ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เนื่องจากการคุยกันครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเศรษฐกิจของจีนกับสหรัฐฯ ไปพบกันเมื่อกลาง มกราคม 2566 ที่สวิตเซอร์แลนด์ และประกาศว่าจะร่วมมือกันส่งเสริม climate finance หรือการสนับสนุนเงินทุนให้ประเทศกำลังพัฒนาได้แก้ไขปัญหาโลกร้อนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
เรื่องที่ 2 น่าจะไม่พ้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเฉพาะเรื่องที่ยังไม่สามารถตกลงกัน หรือมีมุมมองในรูปแบบเดียวกันได้ โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อนอย่างสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน การจารกรรมระหว่างประเทศ การที่สหรัฐฯ มีมุมมองว่าจีนเป็นความท้าทายด้านความมั่นคง การแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการทหาร เรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการจัดการผลกระทบจากการทำสงครามการค้าที่ยังไม่สิ้นสุดระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
ประเด็นเหล่านี้น่าจะมีการพูดคุยกัน แต่คงตกลงกันไม่ได้เหมือนเดิม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แห่งชาติโดยตรง และยังไม่สามารถประนีประนอมกันได้ อย่างไรก็ตาม การที่นักการทูตระดับสูงที่สุดของสหรัฐฯ กับจีนจะได้คุยกันเรื่องนี้ตอนนี้ ก็อาจเป็นแนวทางในการ “บริหารจัดการความสัมพันธ์” ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เรื่องที่ 3 คือ สถานการณ์ต่างประเทศที่สำคัญและสหรัฐฯ กับจีนให้ความสนใจ รวมทั้งมีบทบาท หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องรัสเซีย-ยูเครน ที่ทางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณมาโดยตลอดว่าต้องการให้จีนร่วมมือกับสหรัฐฯ ในประเด็นนี้ ด้วยการคว่ำบาตรรัสเซียหรือยุติความร่วมมือที่เป็นการส่งเสริมบทบาทของรัสเซียในประชาคมระหว่างประเทศ คาดว่าครั้งนี้จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติ และมีวี่แววว่าจะรุนแรงขึ้นด้วย
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เชื่อมากว่าถ้าจีนร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการคว่ำบาตรรัสเซีย น่าจะทำให้รัสเซียเผชิญแรงกดดันได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหรัฐฯ จะเข้าไปแทรกกลางความสัมพันธ์จีน-รัสเซียที่เป็นมิตรกันในหลายมิติ ดังนั้น ผลการหารือเรื่องนี้ก็น่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานะความสัมพันธ์ของจีนกับรัสเซียได้ นอกเสียจากว่า สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ชิ้นใหญ่ไปเสนอให้จีนต้องยอมร่วมมือ… ซึ่งยังมองไม่ออกว่าจะเป็นเรื่องอะไร เพราะตอนนี้สหรัฐฯ กับจีนพึ่งพากันอยู่หลายด้านก็จริง แต่เหมือนช่วงนี้จีนจะไม่ง้อ หรือยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ ง่าย ๆ ยิ่งหลังจากได้เห็นว่าหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ ตั้งคณะทำงานหรือสำนักงานเฉพาะกิจเพื่อแข่งขันกับจีนขึ้นมารัว ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยข่าวกรอง กระทรวงการต่างประเทศ และสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ จึงอาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จีนจะยอมคุยกับสหรัฐฯ ด้วยความไว้วางใจอย่างเต็มที่
นอกจากเรื่องรัสเซีย-ยูเครน ยังมีอีกหลายเรื่องที่สหรัฐฯ กับจีนน่าจะต้องคุยกัน นอกจากเรื่องที่เป็นความท้าทายเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่แน่ ๆ น่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงมนุษย์ด้วย โดยเฉพาะความมั่นคงสาธารณสุข การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกำหนดมาตรฐานสากลด้านการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ และยังต้องเรียนรู้กันอีกเยอะ…เพื่อหาโอกาสและป้องกันความท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย
นั่นคือประเด็น 3 เรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ 2 มหาอำนาจของโลกน่าจะหารือกัน ผลการหารืออาจไม่มีอะไรใหม่ ๆ แต่ก็หวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่เพิ่มเติมความขัดแย้งไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปัจจุบันการเมืองระหว่างประเทศตึงเครียดมากกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ถ้าสหรัฐฯ กับจีนจะไม่ประคับประคองความสัมพันธ์กันเลย ก็น่าจะไม่เป็นเรื่องดีสำหรับบรรยากาศความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่เป็นผลดีกับการเป็นผู้นำโลกของทั้งจีนและสหรัฐฯ เองด้วย
แต่… ไม่ว่าจะยังไง ความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับจีนจะยังคงเป็นเรื่องสำคัญไปอีกนาน เพราะพลังอำนาจของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้จำกัดแค่เรื่องทหาร การทูต เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารและค่านิยมทางวัฒนธรรม ที่สามารถสร้าง impact ในการแข่งขันอิทธิพลระหว่างประเทศได้อย่างมากในยุคสมัยนี้ด้วย
———————————————————