กษัตริย์ Leopold ที่ 2 ของเบลเยียม ไม่เคยเสด็จเยือนแผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นอาณาเขตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์คองโก แต่สามารถยึดเอาผืนแผ่นดินดังกล่าวเป็นสมบัติส่วนพระองค์และปกครองด้วยระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ในชื่อ “Congo Free State” ตลอดห้วงปี 2428-2451 ก่อนที่ประเทศเบลเยียมจะผนวกดินแดนดังกล่าวเป็นอาณานิคมของเบลเยียมในชื่อ “Belgian Congo” ตั้งแต่ปี 2451 จนกระทั่งได้รับเอกราชในปี 2503
เอกราชของดีอาร์คองโกเกิดขึ้นในช่วงท้าย ๆ ของยุคจักรวรรดินิยมใหม่ (New Imperialism ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20) การดำรงอยู่และพัฒนาการของประเทศดีอาร์คองโกจึงควบคู่กันไปกับพัฒนาการของยุคหลังจักรวรรดินิยม (Postcolonialism) ความท้าทายของดีอาร์คองโกเป็นความท้าทายเดียวกันกับประเทศเกิดใหม่ร่วมยุคสมัยนั้น คือการจัดการกระบวนการ decolonization ความตลกก็คือแม้ชื่อยุคจะบอกว่าเป็นยุค “post” colonialism แต่หลักใหญ่ใจความจริง ๆ ของกระบวนการ decolonization คือการขจัดอิทธิพลของจักวรรดินิยมให้หมดไป มันจึงเป็น “post” ที่ยังไม่ได้ผ่านพ้นไป
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “System K” ของผู้กำกับ Renaud Barret ชาวฝรั่งเศส ออกฉายครั้งแรกตั้งแต่ปี 2562 แต่เพิ่งมีโอกาสได้ฉายรอบปฐมฤกษ์ของเบลเยียมเป็นครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงภาพยนตร์ Cinema RITCS ของ Royal Institute for Theatre, Cinema and Sound ประเทศเบลเยียม สารคดีถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มศิลปินชาวคองโกในกรุงกินชาซา เมืองหลวงของดีอาร์คองโก (ชื่อเดิมคือ Léopoldville ตามชื่อกษัตริย์เจ้าอาณานิคม) ส่งผ่านข้อความแก่กลุ่มผู้ชมในโรงภาพยนตร์กลางกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม เป็นข้อความแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในกินชาซา ที่ไม่เกินเลยถ้าจะพูดว่าทั้งหมดเป็นมรดกจากการเป็นอาณานิคมของเบลเยียม
“ผมใช้ตัวเองเป็นงานศิลปะ” คือคอนเซปต์ของศิลปิน performance art ชาวคองโกกลุ่มนี้ พวกเขาสร้างศิลปะด้วยการเอาตัวเองแทรกตัวลงไปกลมกลืนกับความวุ่นวาย อลหม่าน แออัด ผุพัง สกปรก ยากจน ฯลฯ ของกินชาซา งานที่โดดเด่นที่สุดและเป็นไคลแม็กซ์ในช่วงท้ายของหนังคือการเชือดเอาเลือดสัตว์มาขังในอ่างอาบน้ำ อาบเลือดราดรดตัวศิลปินที่ล่ามตัวเองไว้ในอ่างนั้น และกลุ่มเพื่อนลากรถเข็นพาเอาอ่างเลือดกับศิลปินเปื้อนเลือดไปตามถนนผุพัง ในบรรยากาศครื้นเครงราวกับเป็นงานเฉลิมฉลองที่เชื้อเชิญให้ประชากร 17 ล้านคนในกินชาซาเข้ามามีส่วนร่วม
“ผมอมเลือด และถ่มมันออกมาด้วยความคั่งแค้น”
“กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในดีอาร์คองโกได้เงินเดือนหลักพันเหรียญ ขณะที่ประชาชนท้องถิ่นได้เงินเดือนหลักสิบ”
อารมณ์และคำถามของศิลปินในสารคดีเรื่องนั้น ส่งต่อไปเชื่อมโยงกันกับนิทรรศการศิลปะอีกงานที่จัดกลางกรุงบรัสเซลส์เช่นกัน และตั้งคำถามกับมรดกของลัทธิจักรวรรดินิยมเช่นเดียวกัน นิทรรศการ KINSHASA (N)TÓNGÁ : Between Future and Dust โดยสถาบัน KANAL-Centre Pompidou จัดที่อาคารโกดังเก่าริมคลอง Canal de Bruxelles ที่เชื่อมกรุงบรัสเซลส์กับทะเลเหนือ ผสมผสานเอาศิลปะหลากหลายรูปแบบ เพื่อถ่ายทอดชีวิตและสถานที่ในกรุงกินชาซาในปัจจุบัน ชิ้นงานส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายที่ถ่ายทอดความวุ่นวาย อลหม่าน แออัด ผุพัง สกปรก ยากจน ฯลฯ ของกินชาซา ที่เกี่ยวพันกับมรดกตกทอดจากการเป็นอาณานิคม
ประธานาธิบดี Mobutu Sese Seko ของดีอาร์คองโก สั่งการให้เริ่มนโยบาย “Return to Authenticity” ตั้งแต่ปี 2509 เป็นความพยายามเสาะหาความเป็นคองโกที่จริงแท้ ฟื้นสร้างมันขึ้นมา เพื่อขัดคราบไคลของประเทศเจ้าอาณานิคมให้หมดไป ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากชื่อกษัตริย์เบลเยียมเป็นชื่อท้องถิ่นคือกินชาซา เปลี่ยนสกุลเงินจาก Franc เป็น Zaire หรือความพยายามสร้างงานศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบคองโกที่แท้จริงขึ้นมา
อย่างไรก็ดี งานศิลปะชิ้นสำคัญของนิทรรศการนี้คือภาพโมเดลของอาคารที่ออกแบบตามสถาปัตยกรรมคองโกตามนโยบายของประธานาธิบดี Mobutu แต่สถานะสุดท้ายของมันก็จบแค่การเป็น “โมเดล” ไม่เคยได้สร้างขึ้นมาจริง และอีกงานเป็นภาพของอาคารสถาปัตยกรรมคองโกอีกหลังที่สร้างตามนโยบายเดียวกัน และปัจจุบันทิ้งรกร้างอยู่กลางป่า
ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความขัดแย้ง ฯลฯ ที่เป็นผลพวงจากกระบวนการ decolonization คือภาระหนักหนาที่เจ้าอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดินิยมทิ้งไว้ให้กับชาวท้องถิ่น ปัจจุบันนี้เบลเยียมไม่ได้มีความเกี่ยวพันใดแล้วกับดีอาร์คองโก แต่ภาระที่เบลเยียมทิ้งเอาไว้จะอยู่กับดีอาร์คองโกไปอีกนาน และไม่รู้ว่าจะมีวันนั้นหรือไม่ วันที่ “postcolonialism” จะมีความหมายว่าจักรวรรดินิยมได้ผ่านพ้นไปแล้วจริง ๆ
———————————————————–