ธงชาติกาตาร์โบกพลิ้วเด่นอยู่หน้าอาคาร 11 ศูนย์ประชุม Brussels Expo ประเทศเบลเยียม สถานที่จัดงาน “AidEx 2022″ งานประจำปีที่รวบรวมเอาผู้ปฏิบัติงานด้านการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัยในทุกภาคส่วนมาเจอกัน ปีนี้จัดที่บรัสเซลส์ เมืองศูนย์กลางหน่วยงานระหว่างประเทศในยุโรป โดยมีกาตาร์เป็นผู้สนับสนุนทุน
ห้วงเวลา 2 วันของการจัดงานระหว่าง 16-17 พฤศจิกายน 2565 มีกิจกรรมหลากหลายที่จัดเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของงาน คือการสร้างเครือข่ายผู้ของปฏิบัติงานด้านนี้ มีทั้งการบรรยาย สัมมนา เวิร์กช็อป และอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมากคือการออกร้านจัดนิทรรศการของบริษัทห้างร้านที่เอาของดีสินค้าเด่นของตัวเองมาจัดแสดง ในโอกาสที่ “ลูกค้า” คือบรรดาบุคคลในองค์กรด้านการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมทั่วโลกมารวมตัวกันที่นี่ ว่าง่าย ๆ ก็คือเป็นงานผู้ผลิตพบผู้บริโภคในบริบทของวงการนี้นั่นเอง
อาจจะไม่ได้ระบุไว้เป็น Theme ของงาน แต่บูธทุกบริษัทส่งข้อความออกมาในทิศทางเดียวกัน คือการใช้เทคโนโลยีสำหรับการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม คำถามคือหน่วยงานเพื่อมนุษยธรรมจะเอาเทคโนโลยีมายกระดับการช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง คำถามนี้มีคำตอบหนึ่งจากป้ายของบูธบริษัท Gizlab ที่เขียนป้ายใหญ่ ๆ ไว้ว่า “Let the private sector do the work for you” ก็คือจะบอกให้ถอยออกไปห่าง ๆ ซะเถอะบรรดาหน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไรอย่างภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรการกุศล ไม่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเองหรอก รอเป็นผู้ใช้งานก็พอ ปล่อยให้ภาคธุรกิจที่เชี่ยวชาญมากกว่าเป็นคนจัดการจะดีกว่า หรือพูดอีกอย่างก็คือให้กลไกตลาดมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพงานด้านมนุษยธรรม
นิทรรศการใต้หลังคาอาคารแห่งนี้จึงเป็นการโชว์เทคโนโลยีที่บริษัทต่าง ๆ ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์งานด้านมนุษยธรรม เพื่อให้ลูกค้าที่มาเดินดูงานเลือกซื้อหาไปประกอบการปฏิบัติภารกิจการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย เทคโนโลยีส่วนใหญ่ก็เลยเน้นไปที่การจัดหาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตสำหรับผู้ประสบภัยในพื้นที่ทุรกันดาร ในที่นี้จะหยิบเอา 5 เทคโนโลยีเด่น ๆ มาเล่าให้เห็นภาพว่าหน่วยงานด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศกำลังสนใจเทคโนโลยีอะไรกันอยู่
1. รถยนต์ไฟฟ้า
นายทุนของงานเป็นเศรษฐีน้ำมันอย่างกาตาร์ แต่เทคโนโลยีที่โดดเด่นที่สุดในงานคือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ของบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Mercedes-Benz กับ Toyota เป็นเวอร์ชันที่ดัดแปลงให้เหมาะกับงานด้านมนุษยธรรม โดยของ Toyota หยิบเอารถรุ่น Landcruiser มาดัดแปลงเป็นรถพยาบาล เช่นเดียวกับของเบนซ์ที่ทำเป็นรถพยาบาล ชาร์จไฟ 80 นาทีก็เต็ม และมีแผงโซลาร์เซลล์ทำให้ชาร์จด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ได้ด้วย
2. การผลิตน้ำสะอาด
น้ำดื่มน้ำใช้คือปัจจัยพื้นฐานที่เข้าถึงได้ยากในพื้นที่ทุรกันดาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีภัยพิบัติ สถิติของบริษัท Sydney 905 ผู้ผลิตเครื่องกรองน้ำบอกไว้ว่า 844 ล้านคน เข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานด้านน้ำ หลายบริษัทจึงพยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น เครื่องกรองน้ำเอนกประสงค์แบบพกพาของ Sydney 905 ชูจุดขายเรื่องการพกพาสะดวกด้วยน้ำหนักแค่ 125 กรัม ส่วนบริษัท LetzTest พัฒนาชุดทดสอบคุณภาพน้ำที่ใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และที่โดดเด่นที่สุดคือบริษัท Winture พัฒนาเครื่องแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดที่ดื่มได้ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100% เครื่องที่ว่านี้ผลิตน้ำจืดได้ตั้งแต่ 100-30,000 ลิตร ภายใน 1 ชั่วโมง การที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ล้วน ๆ ทำให้เอาไปใช้งานในที่ทุรกันดารแค่ไหนก็ได้ ขอแค่เพียงมีแสงแดดเข้าถึง โดยโชว์ความสำเร็จจากการเอาไปใช้ที่เมือง Wajir ประเทศเคนยา ที่แห้งแล้งมาก ชาวบ้านต้องเดินทางไกลเพื่อไปหาน้ำดื่มน้ำใช้ แล้วเกิดมีการสู้รบกันในพื้นที่ขึ้นมาทำให้การไปหาบน้ำมาดื่มมาใช้กลายเป็นเรื่องเสี่ยงตาย
3. ที่พักชั่วคราว
ผู้ประสบภัยทั้งภัยจากธรรมชาติและภัยจากฝีมือมนุษย์มักจะต้องพลัดจากบ้าน การเร่งจัดหาที่อยู่ชั่วคราวจึงเป็นภารกิจแรก ๆ ของการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม บริษัท Dawsongroup พัฒนาอาคารชั่วคราวรุ่น Temp Store เป็นอาคารที่ติดตั้งด้วยการสูบลม กว้าง 12 เมตร สูง 7.7-8.5 เมตร ชูจุดขายสำคัญคือติดตั้งง่ายเสร็จได้ในวันเดียว เหมาะกับการทำงานแข่งกับเวลาเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัย ขณะที่บริษัท Waste for Warmth พยายามแก้ไข 2 ปัญหาไปพร้อมกัน คือการจัดหาที่อยู่อาศัยและการกำจัดขยะ เครื่องผลิตฉนวนกันความร้อนของ Waste for Warmth เอาขยะมาผลิตเป็นฉนวนกันความร้อนสำหรับยัดใส้เต๊นท์ ผ้าห่ม หรือยัดผนังทำเป็นบ้านพักชั่วคราว โดยเต๊นท์ขนาดใหญ่หนึ่งหลังใช้ขยะ 70 กิโลกรัม
4. โดรน
การขนส่งสิ่งของจำเป็นในพื้นที่ประสบภัยเป็นเรื่องท้าทาย บ่อยครั้งที่การใช้คนขนส่งทำให้คน ๆ นั้นต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยไปด้วย การเอาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้งานจึงเป็นการช่วยลดความเสี่ยงตรงนั้นลง บริษัท GizLab เอาโดรนตัวเล็ก ๆ ของบริษัทมาจัดแสดงภายในงาน โดรนตัวเล็กตัวนี้บรรทุกสิ่งของได้น้ำหนักสูงสุดถึง 5 กิโลกรัม ทำความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และบินได้ต่อเนื่องไกลสุด 110 กิโลเมตร
5. ซอฟท์แวร์และโซลูชัน
นอกจากฮาร์ดแวร์เด่น ๆ ที่เล่ามาข้างต้น ในอีกด้านหนึ่งก็มีหลายบริษัทที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านซอฟท์แวร์และโซลูชันสำหรับช่วยเหลืองานด้านมนุษยธรรม เช่น โปรแกรมสำหรับการสื่อสารในพื้นที่ทุรกันดารของบริษัท Twilio ด้านบริษัท F4ID โฆษณาว่ารวมเอาเทคโนโลยี การเงิน และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้ามาไว้ด้วยกันภายใต้บริการด้านฟินเทคของบริษัท มีบริการเด่น ๆ เช่น L20 เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลตัวกลางสำหรับจัดการด้านการเงินและการขนส่งสินค้าระหว่างหน่วยงานด้านมนุษยธรรม ผู้ผลิตสินค้า และผู้ประสบภัย อีกตัวอย่างหนึ่งคือบริษัท Oort สร้างเครื่องมือด้าน Data Management สำหรับวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลที่ customize มาเพื่อเอื้อต่องานด้านมนุษยธรรมโดยเฉพาะ
———————————————-