International Beer Day (IBD) หรือวันเบียร์สากลที่จะมีขึ้นในวันศุกร์แรกของเดือนสิงหาคม เป็นวันที่นาย Jesse Avshalomov เจ้าของร้านอาหารและบาร์ในเมือง Santa Cruz รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กำหนดขึ้นมาเมื่อปี 2550 เพื่อที่จะฉลองให้กับผู้ที่คิดค้น ผลิต กลั่น และเซิร์ฟเครื่องดื่มชนิดนี้ ให้เป็นที่นิยมทั่วโลกมาหลายยุคหลายสมัย และเป็นโอกาสที่ทำให้นักดื่มเบียร์มารวมตัวกันตามร้านต่าง ๆ เพื่อฉลองให้กับผู้ผลิตและคิดค้นเครื่องดื่มชนิดใหม่ ๆ มาเพื่อทำให้ผู้คนได้ทดลองชิมและสนุกสนานไปกับบรรยากาศและเครื่องดื่มที่ชื่นชอบ
กิจกรรม IBD เริ่มขึ้นจากจุดเล็ก ๆ และขยายออกไปเป็นกิจกรรมที่ร้านเบียร์หลายแห่งทั่วโลกเอามาใช้ในการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองให้กับร้าน และเชิญชวนนักดื่มให้มาร่วมงานกัน ดูเหมือนว่าร้านอาหารในไทยบางแห่งก็ใช้โอกาสนี้จัดแคมเปญที่น่าสนใจเหมือนกัน เป้าหมายสำคัญมีแค่เรื่องการให้เพื่อนฝูงมาพบกัน ร่วมฉลองไปกับผู้ผลิตเบียร์ที่สามารถทำให้ “เบียร์” หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหลักมาจากมอลต์ชนิดนี้ กลายเป็นสื่อกลางในการสร้างความสามัคคีกลมเกลียวของผู้คน
แม้ว่าวันเบียร์สากล หรือ IBD นี้ไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองหรือเหตุการณ์ระหว่างประเทศอะไรเลย แต่เมื่อวัฒนธรรมการดื่มเบียร์สามารถสร้างการรวมตัวกันของกลุ่มคนหลากหลายได้ เราเลยอยากรู้ขึ้นมาว่า ที่ผ่านมา “เบียร์” มีบทบาทแค่เป็นเครื่องดื่มเพื่อการเข้าสังคมและผ่อนคลายอารมณ์เท่านั้นหรือเปล่า หรือในบางช่วงเวลาโอกาส..เบียร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าการเมืองระหว่างประเทศบ้างไหม หรือเป็นเครื่องมือในการแพร่กระจาย soft power ของประเทศใด และเมื่อค้นหาข้อมูลจากหลาย ๆ แห่ง ก็พบว่าเบียร์มีความสำคัญในช่วงสงคราม นอกจากนี้ เบียร์ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกนโยบายต่างประเทศในบางประเทศด้วย
ประการแรก..เบียร์กับสงคราม
เบียร์ไม่ได้ก่อสงครามหรือถูกใช้เป็นอาวุธโจมตี แต่เบียร์มีความเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาสงครามอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น การที่เบียร์ประเภท Indian Pale Ale หรือ IPA ที่มีกลิ่นฮ็อปส์แรงจากกระบวนการหมักที่นานกว่าอื่น ๆ มีต้นกำเนิดจากการขยายอาณานิคมของสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ ซึ่งต้องการแพร่อิทธิพลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อรวบรวมทรัพยากรและแรงงานให้ได้มากที่สุด และเนื่องจากนักล่าอาณานิคมต้องเดินทางเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผู้ผลิตเบียร์ในอังกฤษต้องคิดเบียร์สูตรใหม่ที่จะอยู่ได้นานและอยู่ในสภาพอากาศที่หลากหลายได้ นำไปสู่การเริ่มผลิตเบียร์ IPA ซึ่งนอกจากจะได้รับความนิยมไปทั่วโลกแล้ว ยังมีกลิ่นยุคล่าอาณานิคมผสมอยู่ด้วย
ว่ากันว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตเบียร์ในสหรัฐอเมริกา สร้างเบียร์แบรนด์ใหม่ ๆ เพื่อคว่ำบาตรหรือแยกตัวออกมาจากเบียร์เยอรมัน ที่ก่อนหน้านั้นครองตลาดส่วนใหญ่ในอเมริกา ช่วงนั้นชาวอเมริกันคิดค้นเบียร์ใหม่ ๆ ได้หลายชนิด และผูกโยงเรื่องการดื่มเบียร์อเมริกันเพื่อแสดงออกว่ารักชาติด้วย ตอนนั้นเองทำให้ผู้ผลิตเบียร์อย่าง Budweiser และ Miller สามารถสร้างรายได้และกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ หลายประเทศมีหลักฐานว่าระหว่างสงคราม นายทหารส่วนมากนิยมดื่มเบียร์ในช่วงเวลาพักผ่อน รวมทั้งเพื่อเยียวยาจิตใจในช่วงที่อยู่ในภาวะตึงเครียด โดยความนิยมนั้นเห็นได้จากรูปถ่ายและโปสการ์ดของนายทหารที่เป็นหลักฐานได้ว่าพวกเขานิยมดื่มเบียร์ในการฉลองชัยชนะหรือเพื่อให้จิตใจดีขึ้นจากภาวะสงคราม ความนิยมที่ทหารมีต่อเครื่องดื่มชนิดนี้นั้นมากจนกระทั่งอังกฤษต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการ “beer for troops” เมื่อปี 2485 เลยทีเดียว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ผลิตเบียร์จะสามารถสนับสนุนทหารอังกฤษที่ต้องไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเคยออกกฎระเบียบให้ผู้ผลิตเบียร์ในประเทศต้องเก็บผลผลิตไว้อย่างน้อย 15 % เพื่อสนับสนุนให้กองทัพเป็นการเฉพาะ
ประการที่สอง…เบียร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกนโยบายต่างประเทศ หรือจิกกัดทางการเมือง โดยผู้ผลิตเบียร์ในบางประเทศใช้ขวดเบียร์หรือฉลากเบียร์เป็นช่องทางสื่อสาร message ทางการเมือง หรือที่อาจเรียกว่าเป็นเครื่องมือในการทำ visual politics เพราะผู้บริโภคสามารถพบเห็นฉลากเบียร์ได้ในร้านค้าทั่วไป โดยไม่ถือว่าเป็นการทำสื่อหรือใบปลิว
สำหรับประเทศที่เคยใช้เบียร์ทำเรื่องแบบนี้ เช่น ผู้ผลิตเบียร์ชื่อบริษัท 7 Fjell ในนอร์เวย์ผลิตเบียร์ชื่อว่า “The Donald Ignorant IPA” เมื่อปี 2559 โดยฉลากหน้าขวดเป็นรูปชายชาวตะวันตกผมสีทอง หน้าตาคล้าย ๆ กับอดีตผู้นำสหรัฐฯ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เช่นเดียวกับผู้ผลิตเบียร์ชื่อ Spiteful ของสหรัฐอเมริกาก็ผลิตเบียร์ที่มีฉลากชื่อว่า “Dumb Donald” ที่มีรูปภาพชายคนดังกล่าวคล้าย ๆ กัน และในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีผู้ผลิตเบียร์ชื่อ Benemoth ในนิวซีแลนด์ ทำเบียร์ชื่อ “Dump the Trump” ออกมา เรียกได้ว่ากระแสเกี่ยวกับนายคนนี้ถูกนำไปทำฉลากเบียร์ในทิศทางเดียวกันหมด
ต่อมาในปี 2563 ผู้ผลิตเบียร์ในฟินแลนด์ชื่อ BrewDog ทำเบียร์ชื่อ “Hello, My Name is Vladimir” โดยมีรูปคล้ายผู้นำรัสเซียที่จัดทำขึ้นมาแบบ pop culture สีสันสดใสอยู่บนขวด และเมื่อไม่นานมานี้เมื่อ มีนาคม 2565 ก็มีบริษัทเบียร์ชื่อ Lakefront Brewery ในสหรัฐอเมริกาออกผลิตภัณฑ์เวอร์ชันใหม่ โดยเขียนไว้บนกระป๋องเครื่องดื่มอย่างห้าวหาญว่า “Putin is a d__k” สอดคล้องกับเบียร์ของบริษัท Pravda ในยูเครนที่ทำชื่อ “Putin khuylo” ออกมาเหมือนกัน โดยผู้จัดการโรงผลิตเบียร์ของสหรัฐอเมริกาบอกว่าจะบริจาครายได้จากเบียร์รุ่นนี้เพื่อช่วยเหลือชาวยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียด้วย
จะเห็นได้ว่า ความนิยมในการดื่มเบียร์ของคนในหลายประเทศ ทำให้เบียร์กลายเป็นสื่อหรือถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อการเมืองได้มาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม จริง ๆ แล้วเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดื่มประเภทนี้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในประเทศต่าง ๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน …เรื่องพวกนี้อาจดูไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ก็ทำให้เราได้สังเกตความเชื่อมโยงของสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น หรือเพียงแค่จะรู้ไว้เพื่อเป็นเรื่องเล่าแลกเปลี่ยนกันในเวลาสังสรรค์ก็ได้…
——————————————-