หลังการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% เป็น 3.75-4.00% โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 พร้อมกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่อ่อนแรงลงในเดือนธันวาคมของปี 2565 ที่ผ่านมา ตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดคาดเดาเอาไว้นั้น ทำให้เกิดความเชื่อในคนกลุ่มดังกล่าวว่า FED มีแนวโน้มจะยุติแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ขึ้นในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตลาดมีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เพื่อนำเงินกลับเข้าไปหมุนในตลาดของสินทรัพย์เสี่ยงไม่ว่าจะ Dow Jones (DJI), NASDAQ, หรือ Cryptocurrency ที่ภาพรวมจนถึงปัจจุบันนี้ถือว่าปิดบวกไปไม่ต่ำกว่า 17%, 19% และ 50% ได้แล้วตามลำดับ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่นักลงทุนในตลาด “เชื่อ” ไปเองเท่านั้น หาใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในตลาดไม่ เพราะหากพิจารณาผลการประชุม FOMC และสุนทรพจน์ของ Jerome Powell ประธาน FED จริง ๆ จะเห็นได้ชัดว่าไม่มีครั้งไหนเลยที่ Powell บอกว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปี 2566 แล้วกลับไปอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (QE) อีกในเร็วๆนี้ ทั้งสุนทรพจน์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 หรือแม้แต่ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา Powell ยังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาอยู่เลยว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคิดเรื่องการปรับลดหรือหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับยืนยันว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แม้สถานการณ์ในภาพรวมจะดีขึ้น และเริ่มมีสัญญาณของการชะลอความรุนแรงของอัตราดอกเบี้ยก็ตาม
ดังนั้น จึงสรุปได้อย่างพื้นฐานที่สุดเลยว่าภาวะตลาดขาขึ้นช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังและความเชื่อของนักลงทุนในตลาดเท่านั้น สิ่งที่ทุกคนควรพิจารณาร่วมด้วยในขณะนี้คือ สถานการณ์เงินเฟ้อที่ดูเหมือนจะอ่อนแรงลง แต่แท้จริงแล้วยังไม่มีแนวโน้มจะลดกลับไปสู่ระดับ 2% ตามเป้าหมายได้ง่ายๆ เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันนั้นรัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางออกไปต่างประเทศได้แล้ว นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศกันปีละไม่น้อยกว่า 100,000,000 คน ต้องใช้เครื่องบินลำเลียงคนกลุ่มดังกล่าวกี่ลำ และกี่เที่ยวบิน และอีกประเด็นหนึ่งที่จะขาดไปเสียไม่ได้ คือ ทวีปยุโรปยังอยู่ในฤดูหนาว แนวโน้มที่ราคาพลังงานอย่างน้ำมัน (USOIL) และน้ำมันดิบ (BRENT) จะพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นปัจจัยผลักให้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกแย่ลงอีกหนึ่งครั้ง จึงไม่ใช่สิ่งที่เกินความเป็นไปได้